ราชบัณฑิตยสภาแนะใช้ ‘ราชาศัพท์’ ในพระราชพิธีพระบรมศพให้ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ภาษาไทย ภาษาสื่อ” โดยมี นางโสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ นายกราชบัณฑิตยสภา รศ.นววรรณ พันธุเมธา ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม น.ส.สุปัญญา ชมจินดา โฆษกสำนักงานราชบัณฑิตยสภา นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ครูสอนภาษาไทยโรงเรียนพินนาเคิล สยามสแควร์ และ นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม
นางโสภา กล่าวว่า จะต้องช่วยกันปลูกฝังการใช้ภาษาไทยในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะต้องใช้ช่องทางสื่อ เช่น ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่คนส่วนใหญ่ติดตามดู เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย

รศ.นววรรณ กล่าวว่า ภาษามีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่ทุกคนต้องตระหนักว่าภาษาต้องใช้ตามกาลเทศะ ทั้งนี้ อยากให้เด็กรุ่นหลังเห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย แต่ขณะนี้น่าเป็นห่วง เพราะสังคมออนไลน์จะเคยชินกับภาษาง่ายๆ

ด้าน ครูลิลลี่ กล่าวว่า ถ้าสอนให้เด็กรักภาษาไทย คงไว้ในความเป็นไทยและใช้กฎเกณฑ์ของภาษาให้ถูกต้อง เด็กจะรักทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นไทยด้วย โดยเฉพาะเรื่องกาลเทศะที่ต้องดูจังหวะในการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ต้องพูดให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง เช่น เขา ต้องเขียน “เขา” แต่ไม่ใช่ “เค้า”

ขณะที่ น.ส.สุปัญญา กล่าวว่า ในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังมีการใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง เช่น คำว่า ‘สวรรคต’ ต้องออกเสียงว่า สะ-หวัน-คด ไม่ใช่ สะ-หวัน-นะ-คด หรือคำว่า ‘ถวาย’ ที่มีความหมายว่า การให้ของ เช่น ถวายภัตตาหารพระภิกษุ แต่หากจะใช้คำว่า ‘ถวาย’ กับงานพระราชพิธีพระบรมศพ เมื่อจะไปวางดอกไม้จันทน์ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ควรใช้ว่า ‘ไปวางดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความอาลัยแด่…’ หรือ ‘วางดอกไม้จันทน์เพื่อถวายแด่…’ เป็นต้น

Advertisement

“ขณะนี้ สำนักงานราชบิณฑิตยสภาได้เผยแพร่คำถ้อยคำที่เหมาะสมในเว็บไซต์สำหรับช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ประชาชนสามารถเข้าไปดูเพื่อนำไปใช้ได้ หากมีข้อสงสัยเรื่องการใช้ราชาศัพท์สามารถเปิดดูได้ที่แอพพลิเคชั่น หรือโทรศัพท์ไปสอบถามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาในช่วงเวลาราชการได้เช่นกัน” น.ส.สุปัญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image