เปิดใจ (ว่าที่) ซีไรต์ … เปิด “หนังสือ” หลังคำวิจารณ์

ความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงของรางวัลซีไรต์รอบนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนแทบจะไม่พูดถึงเนื้อของงานเขียนที่ตกรอบ-เข้ารอบ ไปมากกว่าการตั้งคำถามกับโครงสร้างของการตัดสินและมาตรฐานกรรมการ

โดยส่วนตัวเราเองก็รู้สึกว่ามีรวมเรื่องสั้นหลายเล่มที่ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย แต่บางเล่มที่เข้ารอบก็น่าสนใจไม่น้อย เป็นความน่าสนใจแบบที่ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของเรื่องสั้นไทยแบบก้าวกระโดด ในวันที่ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ร่วมกับสมาคมนักเขียนฯและสมาคมภาษาและหนังสือฯ จัดงาน “วรรณศิลป์ซีไรต์” ขึ้น จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่นักเขียนจะได้มาพูดคุยกับนักอ่านถึงผลงานที่เขาสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ จนกลายเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งให้ได้อ่านกัน

ลองไปอ่านสิ่งที่พวกเขายกเว้นอนิมมาล เล็กสวัสดิ์ ผู้เขียนเงาแปลกหน้า ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประเทศเสปนพูดดูในบางส่วน เผื่อจะอยากอ่านหนังสือสักเล่ม ที่ไม่ได้มีความผิดอะไรนอกจากการเข้ารอบซีไรต์ในปีที่ดราม่าหนักๆ…เท่านั้นเอง

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ และ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า” (เล่มนี้ส่งเข้าประกวดในลักษณะของหนังสือทำมือ แต่สนพ.แซลมอนกำลังตีพิมพ์ สามารถหาอ่านได้งานมหกรรมหนังสือฯที่กำลังจะถึงนี้)

Advertisement

“ทั้ง 9 เรื่องจะพูดถึงการเพิ่งตระหนักได้ถึงข้อเท็จจริงบางอย่างของตัวละครในเรื่องว่า พวกเขาเพิ่งตัดสินใจต่อเหตุการณ์บางอย่างผิดพลาดไป ซึ่งก็ได้แต่ยอมรับกับสิ่งที่ตัดสินใจเลือกนั้นด้วยความผิดหวังหรือความเศร้า กล่าวให้ชัดขึ้นก็คือเป็นรวมเรื่องสั้นที่ผมตั้งใจสะท้อนถึงการตัดสินใจทางการเมืองของชนชั้นกลางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งพวกเขาเลือกตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการใช้ทางลัด หรือการยินยอมให้ทหารออกมาบริหารประเทศ ด้วยคิดว่ามันเป็นทางออกที่ดีที่สุด ทหารจะปฏิรูปประเทศ และเราจะกลับมาเหมือนเดิม แต่ก็อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ แทนที่มันจะดีขึ้น แต่มันกลับแย่ลง นี่คือหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า เขียนด้วยการใส่สัญลักษณ์และบรรยากาศแบบลักลั่น ผมชอบงานชุดนี้เพราะเป็นรวมเรื่องสั้นที่เราคิดว่าดีที่สุดในรอบ 7 ปีตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือมาครับ ที่สำคัญคือทุกเรื่องมันมีประเด็นที่ชัดเจนที่จะเล่า เรารู้ว่าเราจะบอกอะไรคนอ่านอย่างไม่ไขว้เขว ขณะเดียวกันมันก็เป็นเครื่องมือระบายความรู้สึกอึดอัดต่อสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ของเราเองได้ อย่างมีศิลปะในทิศทางของเราเองด้วย

ในอนาคตตอนนี้ยังไม่มีแผนจะเขียนอะไรครับ มีแผนจะย้ายประเทศไปอยู่ที่อื่นพักหนึ่ง หาแรงบันดาลใจเขียนหนังสือ แล้วค่อยว่ากันต่อว่ายังไง”

อุมมีสาลาม อุมาร “กลางฝูงแพะหลังหัก” (สนพ.มติชน)

Advertisement

“เป็นเรื่องเล่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า เรื่องเล่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนิทาน หรือตำนาน หรืออะไรก็ตามที่มันแต่งขึ้น แต่เรื่องเล่าก็คือเรื่องราวที่ดำเนิน วนเวียน อยู่ในสังคมของเรา บางครั้งสิ่งของ คำพูด คน มีความหมายและมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ข้างหลัง เมื่อได้รับรู้ ได้ฟัง บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกกับมัน ทำให้เราคิดว่าเรื่องเล่าต่างๆเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากกว่าที่มันเป็น
เรื่องสั้นของเราอาจจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่เก็บรายละเอียดเล็กๆ ในพื้นที่มาเล่า ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องรุนแรง แต่เล่าให้เห็นอย่างอื่นในพื้นที่ด้วย ที่นี่ก็เหมือนที่อื่นนั่นล่ะค่ะ มีเรื่องราวมากมายมีรายละเอียดเล็กๆเต็มไปหมด ซึ่งไม่ได้ซุกซ่อนหรอกแค่คนไม่มอง”

เงาจันทร์ “เสน่หานุสรณ์” (แพรวสำนักพิมพ์)

“รวมเรื่องสั้นทั้ง 10 เรื่อง เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ไม่ว่าจะดำเนินไปในรูปแบบใด ความเศร้า ความตาย และความรัก ก็ไม่แยกกัน ต่อให้ดิฉันเขียนเรื่องที่เครียดๆหนักๆ งานก็ไม่อ่านยาก เพราะดิฉันคิดว่าข้อสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นนักเขียนคือทำยังไงเรื่องของคุณถึงจะน่าอ่านและชวนติดตาม ดิฉันคิดว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำให้คนอ่านไม่เบื่อ ได้ทั้งเรื่องและรส พยายามเป็นนักเขียนและนักคิดในเวลาเดียวกัน รักษามาตรฐานตัวเองให้ได้ ดิฉันร่างกายไม่แข็งแรง จึงคิดเสมอว่าต้องทำชีวิตให้มีความหมาย นอกจากการเป็นครูก็คือเป็นนักเขียนนี่เอง เป็นความในใจว่าอยากให้คนจดจำสิ่งที่เขียนแม้ในวันที่เราจากไป ตอนนี้เพิ่งเขียนเรื่องสั้นจบไปชุดหนึ่ง และนิยายเรื่องเพลงรำลึกบาป กำลังจะตีพิมพ์ตอนที่ 1ในนิตยสารกุลสตรี

การเขียนทำให้เราลืมความป่วยไข้ไปได้ เยียวยาตัวเองไปด้วย ต้องรีบทำเพราะอายุอาจไม่ยืนนักหนา แต่ไม่ได้เคร่งเครียด ที่ขยันเพราะคิดว่าชีวิตอาจสั้นกว่าของคนอื่น

สาคร พูลสุข “นักแสดงสด” (แพรวสำนักพิมพ์)

“ผมเคยคุยกับนักอ่าน นักอ่านบอกว่าตัวละครในเรื่องของผมมีบทสนทนาที่น่าสนใจ เวลาผมไปไหนมาไหนคิดอะไรได้ ก็จะเขียนพล็อตเรื่องไว้ในกระดาษ แล้วมาเขียนต่อ สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานเขียนของผมคือคนอ่าน ผผมมีหน้าที่เขียนและพยายามทำให้ดีที่สุด ตอนนี้เขียนนิยายไว้เรื่องหนึ่งได้ประมาณ 4-5บทแล้ว อยากให้ลองอ่านกัน”

 เกริกศิษฎ์ พละมาตร์ “เรากำลังกลายพันธุ์” (สนพ.นาคร)

“นี่เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรก ก่อนหน้านี้ผมเขียนบทกวีอย่างเดียว แล้ววันหนึ่งเจอ อ.สถาพร ศรีสัจจัง มีนักศึกษามาถามอาจารย์ว่าจะเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับอะไรดี อาจารย์ก็บอกว่าให้เขียนเรื่องตัวเอง เรื่องสั้นของผมส่วนใหญ่จึงมาจากเรื่องการใช้ชีวิตทั่วไป ตั้งคำถาม สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น กว่าจะเป็นเล่มนี้ใช้เวลา 9 ปี อยู่ในระบบบรรณาธิการ 4 ปี ใช้เวลาเคี่ยวกรำพอสมควร สำหรับนักเขียนคนหนึ่งที่ทำงานด้วยความรักก็ไม่ยาวหรอก คุ้มค่ากับการทำงาน

ผมรักงานศิลปะ การเขียนหนังสือเป็นการทดลองบางอย่าง ผมว่าหนังสือเล่มหนึ่งสิ่งที่ประกอบขึ้นมาคือศิลปะ ถ้าผมเขียนงานแล้วมีความสุขนั่นคือสิ่งที่ดี บางเรื่องในช่วงที่เขียนอยู่ในห้วงของความทุกข์ แต่พอเขียนเสร็จแล้วอะไรบางอย่างทำให้เรามีความสุข ผมมีความสุขที่จะได้ลงไปในรายละเอียดของตัวหนังสือ ผมสามารถเอาชีวิตนั้นออกมาได้จริงๆแล้วผมพอใจ หนังสือเล่มนี้ ภาพปก ภาพประกอบผมวาดเอง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์เคยบอกว่าหนังสือคือลูกของเรา ซึ่งมันก็ใช่จริงๆ

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท  “สิงโตนอกคอก” (แพรวสำนักพิมพ์)

“เป็นงานรวมเรื่องสั้นแนวแฟนตาซีหรือดิสโทเปีย เล่าถึงเมืองที่มีอะไรบางบางอย่างที่ไม่เหมือนโลกของเรา แล้วความแปลกนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขับเน้นหัวข้อทางนามธรรมบางอย่าง เช่น ความดี ความเลว ความศรัทธา สิทธิที่มนุษย์พึงมีในร่างกายตัวเอง ความแปลกประหลาดของเรื่องทำให้เราขบคิดได้ง่ายขึ้นและชัดเจนขึ้น ดีใจที่เล่มนี้มีคนอ่านเป็นเยาวชนด้วย เยาวชนที่คุ้นชินกับงานแปลประเภท Young Adult Literature จากต่างประเทศ เขาจะอ่านเล่มนี้ได้ง่าย ส่วนงานตอนนี้กำลังพยายามปิดต้นฉบับแนววายให้เสร็จก่อน เขียนหลายแนวมาก งานวรรณกรรมคงต้องขอเวลาในการรวบรวมเรื่องราวและพลังงานสักนิด”

ภู กระดาษ  และ “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ” (สนพ.มติชน)

“รวมเรื่องสั้นชุดนี้เขียนขึ้นมาต่างกรรมต่างวาระ ไม่เชิงว่ามีแรงบันดาลใจ แต่เป็นสิ่งที่เราครุ่นคิด เราเห็น แล้วผลักดันให้เราเขียนขึ้นมาโดยการตั้งสมมติฐานขึ้นมา ถ้าจะมีอิทธิพลที่ทำให้เขียน ก็เป็นอิทธิพลจากสภาพการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจของไทยในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ส่งให้เกิดงานนี้ขึ้น คอนเซ็ปต์ของเล่มคือต้องการนำเสนอการต่อสู้กันเองของคนเล็กคนน้อยภายใต้โครงสร้างของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่มันกดคนเล็กคนน้อยอยู่แล้ว แต่ในทำนองเดียวกันคนเล็กคนน้อยก็มาซัดกันเองอีก จนทำให้โครงสร้างของสังคมที่ไม่เวิร์ค มีความมั่นคงเข้มแข็งมากขึ้นไปอีก

รวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นคือการทำงานที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ จริงๆแล้วโดยตัวเนื้อหาคอนเซ็ปต์ไม่ห่างจากงานที่ผ่านมาหรอก แต่วิธีการเล่าเรื่องมีหลายแบบขึ้น จากที่เคยเล่าตามลำดับเวลา เล่มนี้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่มีเวลาเลยก็มี เวลาของเรื่องแต่งไม่มี แต่เหตุการณ์เกี่ยวพันกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปตีความว่าสื่ออะไร เป็นสิทธิที่ผู้อ่านทำได้ ที่ผมใช้วิธีแบบนี้เพื่อให้ผู้อ่านสามารถสร้างเรื่องเล่าของตัวเองจากชุดข้อมูลจากเหตุการณ์ต่างๆที่ผมเขียนขึ้นมาเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเวลาหรือลำดับใดๆมากำกับ

วางแผนไว้ว่าหลังจากนี้จะเขียนนิยาย ขนาดสั้น กลาง ยาว ตอนนี้เขียนอยู่ 2 เรื่องแต่ยังไม่เสร็จ เขียนไปรื้อไป และจะมีการใช้ภาษาที่คลี่คลายในอีกรูปแบบหนึ่ง”
ชอบเล่มไหน ก็ลองหาอ่านกันดู

 

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image