ร่อนตามลม…มิสวีลแชร์ เวิลด์ เวทีที่ ‘สาวงามทุกคน’ คือผู้ชนะ

 

 

 

Advertisement

 

 

ดูผิวเผินการประกวด “มิสวีลแชร์ เวิลด์” (Miss Wheelchair World) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ท่ามกลางสาวงามบนรถเข็น 24 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมประกวด ก็ไม่ต่างจากเวทีประกวดนางงามทั่วไป หากจะดูจากรูปแบบการประกวดที่สาวงามต้องประชันโฉมกันในชุดราตรียาว ชุดราตรีสั้น ชุดประจำชาติ ต้องร่วมกิจกรรมโชว์การแสดงเต้นบนเวที ซึ่งสาวงามบางคนอาจเต้นไปตามจังหวะเพลงโดยบังคับรถเข็นได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนอาจต้องมีคนคอยช่วย แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น นี่คือเวทีประกวดความงามของผู้หญิงนักสู้ ที่ไม่ยอมจำนนต่อความพิการและโชคชะตาชีวิต ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดประกวด

Advertisement

หากไม่นับ “รถเข็น” ที่ มาเรีย ดิแอซ ต้องนั่งมานานกว่า 10 ปีหลังจากถูกกระสุนปืนจากคนแปลกหน้ายิงมาถูก สาวสวยจากชิลีวัย 28 ที่อยู่ในชุดราตรียาว ใบหน้าถูกแต่งแต้มด้วยเครื่องสำอางอย่างสวยงามเช่นเดียวกับทรงผมที่ถูกจัดแต่งอย่างประณีตก็ดูไม่แตกต่างจากหญิงสาวที่เข้าประกวดความงามบนเวทีอื่นๆ เลยสักนิด

แต่ที่น่าจะต่างจากเวทีประกวดความงามอื่นๆ ก็คือ “ความรู้สึก” เพราะถึงแม้มงกุฎมิสวีลแชร์ เวิลด์ จะตกเป็นของ อเล็กซานดรา ชิชิโคว่า นักศึกษาสาวชาวเบลารุส สาขาจิตวิทยาและสังคมวิทยา แต่มาเรีย

กลับรู้สึกว่า “มันไม่สำคัญว่าใครชนะ เพราะพวกเราทุกคนต่างคือผู้ชนะ เพราะนี่คือโอกาสแรกของเราที่จะแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าเราสามารถทำอะไรก็ได้ที่เราต้องการทำ”

คาทาร์ซีน่า โวทาสเซ็ค-กีนาสกาทาซีน่า คุณแม่วัย 36 ซึ่งเป็นผู้พิการ และประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดมิสวีลแชร์ เวิลด์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า “นี่เป็นการประกวดครั้งแรกในโลก โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ต้องนั่งรถเข็น ที่มักถูกสังคมตัดสินจากความพิการภายนอกของพวกเธอ”

ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดมิสวีลแชร์ เวิลด์ ซึ่งยังนั่งตำแหน่งประธานมูลนิธิโอนลี่ วัน ฟาวน์เดชั่น (Only One Foundation) และเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดครั้งนี้ โดยอาศัยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จัดประกวดนางงามพิการในโปแลนด์ กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการประกวดมิสวีลแชร์ เวิลด์ ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสวยงามเป็นอันดับแรก “ความสวยงามไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แน่นอนว่าเราก็ต้องดูเรื่องรูปร่าง หน้าตา แต่เราจะให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของหญิงสาวผู้เข้าประกวดมากกว่า”

คาทาร์ซีน่ากล่าวด้วยว่า “เราอยากจะบอกว่า หญิงพิการไม่ได้อยากจะพิการ แล้วเราก็อยากถูกมองเป็นคนปกติทั่วไปคนหนึ่ง แต่ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธก็คือ เราต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น แต่มันก็เป็นชะตากรรมซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อไรก็ได้”

 

 

เหมือนเช่นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับ มิแรนดี แบกเกอร์ สาวงามตัวแทนจากเนเธอร์แลนด์ที่ต้องพิการจากความผิดพลาดของหมอ หรือ บีอาต้า จาโลช่า สาวงามตัวแทนจากโปแลนด์ ที่ต้องกลายเป็นคนพิการ ใช้ชีวิตบนรถเข็นมาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากเคราะห์ร้ายถูกคนที่กระโดดฆ่าตัวตาย ตกลงมาทับร่างของเธอ

สำหรับเงินทุนที่ใช้จัดการประกวด ทางมูลนิธิได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทเอกชนหลายแห่ง แต่เงินส่วนใหญ่มาจากเทศบาลกรุงวอร์ซอ โดยสาวงามผู้เข้าประกวดรับผิดชอบเพียงค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่านั้น

ส่วนการคัดเลือกสาวงามผู้เข้าประกวด อาจมาจากสาวงามที่ชนะการประกวดระดับประเทศในประเทศของตน หรือมาจากประเทศที่ไม่มีการจัดประกวดมิสวีลแชร์ หรือจากองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ได้รับการติดต่อ ทาบทามจากมูลนิธิโอนลี่ วัน ฟาวน์เดชั่น โดยแต่ละประเทศสามารถส่งสาวงามตัวแทนเข้าร่วมประกวดได้สูงสุด 2 คน ที่ต้องอยู่ในกรุงวอร์ซอว์ 8 วัน เพื่อร่วมฝึกซ้อม ถ่ายรูป ประชุม และร่วมกิจกรรมต่างๆ ในการประกวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image