แนะดึงคนนอกประเมิน ‘คูปองครู’ ถกใช้งบ ‘คุ้ม-ไม่คุ้ม’ ก่อนลุยต่อปี’61

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะปรับแผนการจัดหลักสูตรอบรมครู ปีงบประมาณ 2561 โดยจะให้หน่วยงานที่ต้องการจะจัดหลักสูตรอบรมพัฒนาครูขึ้นทะเบียนกับสถาบันคุรุพัฒนา โดย สพฐ.จะสรุปความต้องการอบรมของครูในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา และแจ้งข้อมูลให้แก่สถาบันคุรุพัฒนาตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการคัดเลือกหลักสูตรและคณะกรรมการกำหนดราคาหลักสูตร และจะโอนงบฯ ไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และมอบให้ สพท.เป็นฐานการบริหารการอบรมพัฒนาครู รวมทั้ง จะกระจายสถานที่จัดอบรมให้มากขึ้น เพื่อให้ครูไม่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทางนั้น ว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ สพฐ.ได้ถอดบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการจัดอบรมครั้งต่อไป

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่า สพฐ.ควรจัดเวิร์กช็อปจากผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มค่าของงบฯ ที่ใช้ไป หรือควรจะประเมินโครงการโดยบุคคลภายนอก สพฐ.ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้ประเมินก่อน เพราะปัจจุบันครูมีช่องทางในการพัฒนาตนเองผ่านสื่อทางออนไลน์จำนวนมาก ถ้าไม่คุ้มค่าก็ต้องหาวิธีการใหม่ อย่างไรก็ตาม หากจะมีโครงการในรุ่นต่อไปจริงๆ ตนก็มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.คณะกรรมการคัดเลือกหลักสูตรต้องนำมาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภามาเป็นตัวคัดกรองผลการสำรวจความต้องการของครู และควรสอบถามความต้องการของผู้บริหารสถานศึกษาประกอบด้วย 2.ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้ารับการอบรมต่อ 1 หลักสูตรไม่ควรเกิน 30-50 คน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพ เพราะในกระบวนการผลิต คุรุสภากำหนดให้ห้องเรียนละ 30 คน

นายอดิศรกล่าวอีกว่า 3.ต้องมีผู้รับผิดชอบหลักสูตร ผู้สอน ที่มีคุณสมบัติ คุณวุฒิ ประสบการณ์ที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการคัดเลือกต้องกำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนก่อน 4.จำนวนผู้เข้ารับการอบรมต่อหลักสูตรให้มีตามสัดส่วนต่อจำนวนผู้สอนตามรายชื่อที่เสนอในหลักสูตร 5.องค์กร สถาบัน หรือหน่วยงานที่เสนอหลักสูตร ต้องเป็นองค์กรที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายก่อตั้งองค์กร หรือหน่วยงานนั้น 6.ทุกหลักสูตรต้องระบุสถานที่ในการฝึกอบรมให้ชัดเจน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถานที่ที่เหมาะสม ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ตั้งอยู่ในเขต สปก.เขตป่าสงวนแห่งชาติ หรืออุทยานแห่งชาติ เป็นต้น 7.การจัดอบรมควรจัดในช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น จะได้ไม่เป็นการรบกวนเวลาเรียนเด็ก และเวลาครอบครัวของครูในวันเสาร์อาทิตย์ 8.ทุกหลักสูตรควรมีเงื่อนไขให้ผู้เสนอหลักสูตรมีกำกับติดตาม นำผลการฝึกอบรมไปใช้ร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา

Advertisement

“ส่วนการที่ สพฐ.จะโอนงบฯ ไปให้ สพท.และมอบให้ สพท.เป็นฐานการบริหารการอบรมพัฒนาครู ดูความต้องการของครูว่าต้องการฝึกอบรมที่ไหน และจะกระจายสถานที่จัดอบรมให้มากขึ้น โดยอาจกำหนดเป็นโซนกลุ่มจังหวัด หรือภูมิภาค เพื่อให้ครูได้รับความสะดวก ไม่เดือดร้อนในการเดินทางนั้น สพท.คงทำได้แค่งานธุรการ คือการสำรวจความต้องการของครู การทำเรื่องเบิกจ่ายงบฯ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ครู หวังว่าจะทำให้ครูได้รับความสะดวกมากขึ้น การกระจายสถานที่ฝึกอบรม คงต้องรอดูผลการสำรวจความต้องการอบรมก่อน ซึ่งไม่แน่ใจว่า สพฐ.จะทำได้ทันสอดรับกับการอนุมัติหลักสูตรหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วการพัฒนาหลักสูตรต้องมีการสำรวจความต้องการมาก่อน แล้วนำมาประกาศให้หน่วยงาน องค์กร ที่จะทำหลักสูตร มาออกแบบหลักสูตร จึงจะถูกต้อง” นายอดิศร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image