พระอัจฉริยภาพด้านเกษตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 กระทรวงเกษตรฯ…พร้อมสานต่องานที่พ่อสร้าง

“…เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ…”

ความตอนหนึ่งของพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2507

ถือเป็นข้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเกษตร ที่เป็นรากฐานนำไปสู่ความเจริญของประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ ได้ทรงเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับด้านการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำชลประทาน การเสริมสร้างอาชีพและรายได้ จนเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรมากกว่า 3,532 โครงการ หรือคิดเป็น 75% ของโครงการทั้งหมดที่มีกว่า 4,685 โครงการ

Advertisement

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบดำเนินงานสนองพระราชดำริจำนวน 3,532 โครงการ ประกอบด้วย

ด้านการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วมและปัญหาน้ำเสีย ได้แก่ การทำฝนเทียม การบริหารจัดการน้ำผิวดิน ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ งานขุดลอกหนองคลองบึง ขุดสระน้ำ จัดทำแก้มลิง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและลดปัญหาพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก ด้านการพัฒนาที่ดิน ปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทรงศึกษาทดลองวิธีแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการใช้หญ้าแฝก และการแกล้งดิน รวมถึงการพระราชทานที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินได้มีอาชีพการเกษตร

ด้านการปลูกพืช ซึ่งมีพระราชดำริที่สำคัญ ได้แก่ งานวิจัยพันธุ์ข้าว การปลูกกาแฟ ไม้ผล และพืชเมืองหนาว และระบบการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงโคนม ธนาคารโคกระบือ ด้านประมง ได้แก่ ปลานิล การอนุรักษ์พันธุ์ปลากระโห้ การเลี้ยงกุ้งแบบไม่สร้างมลภาวะ ด้านการสหกรณ์ เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิต การอาชีพ จัดหาแหล่งทุน การจัดหาที่ดินทำกิน และส่งเสริมให้เกษตรกรทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อรู้จักต้นทุน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Advertisement

สานต่อทุกมิติดิน-น้ำ-อาชีพ-ศก.พอเพียง

นอกเหนือจาก 3,532 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรแล้ว กระทรวงเกษตรฯยังได้มีแนวทางในการสานต่องานพระราชดำริ ไม่ว่าจะเป็นการขยายผลการพัฒนาและปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการ และหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน จำนวน 78,835 ราย ให้คำแนะนำความรู้การปรับปรุงบำรุงดินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิต และขยายผลความสำเร็จการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในมิติดิน มิติน้ำ มิติการเกษตรและอาชีพ โดยร่วมบูรณาการโครงการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและหลักการทรงงาน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการ ไปยังเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ให้รับทราบแนวพระราชดำริและสามารถนำไปปรับใช้ในการทำอาชีพและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

รวมถึงมอบหมายทุกหน่วยงานน้อมนำแนวพระราชดำริ หลักการทรงงาน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน หน้าที่ความรับผิดชอบทุกระดับ ทุกโครงการและกิจกรรม และขั้นตอนการทำงานตามภารกิจหน้าที่ประจำในการให้บริการแก่เกษตรกรและประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน

จับมือมูลนิธิปิดทองฯพัฒนาโครงข่ายชลประทาน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากที่พระองค์ได้พระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก ตั้งแต่ปี 2506 จนปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริด้านชลประทานกว่าพันโครงการ ในปีงบประมาณ 2561 จะนำ “ศาสตร์พระราชา” มาขยายผลโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งที่เป็นฝาย อ่างเก็บน้ำ และรูปแบบอื่นๆ ที่ยังไม่มีระบบชลประทาน หรือระบบส่งน้ำเข้าสู่ภาคการเกษตรโดยตรง ประมาณ 1,645 โครงการ มาทำการศึกษาเพื่อดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างระบบชลประทานให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มศักยภาพ เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยจะร่วมดำเนินงานกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ภาคเอกชน และประชาชน

เพิ่มโครงการน้ำตามพระราชดำริ 6 โครงการ

นอกจากนี้จะสานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยกรมจะขอเปิดดำเนินการโครงการสำคัญในปี 2561 คือ โครงการที่สามารถก่อสร้างได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากวงเงินก่อสร้างไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นโครงการขนาดกลางมีความจุ 7.43 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 7,348 ไร่ และ 2.โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ โดยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 10.46 ล้าน ลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 6,490 ไร่

ส่วนโครงการที่ต้องขออนุมัติจาก ครม.เพื่อเปิดโครงการ ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ประกอบด้วย 1.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อ.เชียงคาน จ.เลย วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานรองรับน้ำฝน 72,500 ไร่ และแก้ไขพื้นที่ประสบภัยแล้ง 18,100 ไร่ ครม.เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา 2.โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ วงเงิน 2,938 ล้านบาท อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 75,000 ไร่ 3.โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช วงเงิน 2,377 ล้านบาท อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 13,014 ไร่

และ 4.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วงเงิน 9,580 ล้านบาท เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยพื้นที่ของ อ.พระพรหม อ.เมือง และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาพื้นที่

น้ำท่วมซ้ำซากของจังหวัด ในเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรกรรม การอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้ง ได้อีกประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่ โดยจะก่อสร้างและปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิม พร้อมทั้งขุดคลองผันน้ำสายใหม่ ความยาวประมาณ 18.64 กม. และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำเค็มหนุนในฤดูแล้ง

กรมฝนหลวงฯเผยแพร่ศาสตร์พระราชาสู่สากล

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า โครงการฝนหลวงถือเป็นโครงการที่พระองค์ได้พระราชทานแนวความคิดมาตั้งแต่ปี 2498 กระทั่งศึกษาและสามารถใช้งานได้จริงที่บริเวณเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ในปี 2514 จวบจนได้มีการตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ และถูกยกระดับขึ้นเป็นกรมฝนหลวงฯในปี 2556 เพื่อทำหน้าที่ดูแลการทำฝนหลวง แก้ปัญหาน้ำแล้ง ช่วยเติมน้ำในเขื่อน รวมถึงปัญหาหมอกควันและไฟฟ้า ตามวงรอบของทุกปี ในการสืบสานแนวพระราชดำริของพระองค์ กรมก็ยึดหลักการของพระองค์ในการปฏิบัติการฝนหลวง รวมทั้งเตรียมความพร้อมโดยการวิจัยและพัฒนาสารเคมี กระบวนการทำงาน รูปแบบการปฏิบัติการ อาทิ เทคนิค “ซุปเปอร์แซนด์วิช” เพื่อให้การทำฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้กรมยังได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ศูนย์พิษณุโลกและบุรีรัมย์ เพื่ออุดช่องว่างในการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจุบันมี 5 ศูนย์ คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และระยอง รวมทั้งอยู่ในระหว่างการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี และโรงเรียนการบินด้านการดัดแปลงสภาพอากาศขึ้น ภายใต้แผน 5 ปี

เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้การทำฝนหลวง ตามศาสตร์ของพระราชาสู่ระดับสากล ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะขอความร่วมมือด้านวิชาการในการทำฝนหลวงแล้ว อาทิ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มองโกเลีย และโอมาน รวมถึงจอร์แดน ที่ปัจจุบันได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ในการขอถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงไปแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในประเทศแล้ว

อ.ส.ค.พัฒนาอาชีพพระราชทานสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า อาชีพเลี้ยงโคถือเป็นอาชีพพระราชทาน มาตั้งแต่ปี 2504 โดยแรกเริ่มเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลเดนมาร์ก เกิดเป็นฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ก ณ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ก่อนที่รัฐบาลเดนมาร์กจะได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่รัฐบาลไทย และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้ชื่อว่า อ.ส.ค. ในปี 2514 ซึ่งตามแผนของ อ.ส.ค.ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ (2560-2564) มี 5 แนวทางในการเสริมสร้างอาชีพพระราชทานสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ได้แก่ 1.การสร้างนักส่งเสริมมืออาชีพ (สมาร์ทออฟฟิศเซอร์) และฟื้นฟูโครงการนักเรียนฟาร์ม 2.การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตอาหารทีเอ็มอาร์ 3.การพัฒนาศักยภาพการปรับปรุงพันธุ์โคนม 4.การส่งเสริมฟาร์มโคนมของเกษตรกรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจีเอ็มพี และ 5.สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์) ทดแทนรุ่นเดิม

นอกจากนั้นยังมุ่งพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โคนมของไทยให้มีความก้าวหน้า กระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของการปรับปรุงพันธุ์โคนมให้ได้โคนมพันธุ์ดีมีศักยภาพสูง เหมาะกับสภาพการเลี้ยงและภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของไทย ทั้งยังมีแผนส่งเสริมและให้บริการผสมเทียมเข้มข้นและครอบคลุมทั่วถึงด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบสูงขึ้นจาก 12.80 กิโลกรัม/ตัว/วัน เป็น 15.57 กิโลกรัม/ตัว/วัน ภายในปี 2564 เพื่อสืบสานและคงไว้ซึ่งอาชีพพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมไทยในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image