บทเรียน จากน้ำ ศึกษา “บิ๊ก โปรเจ็กต์” รถไฟ ความเร็วสูง

กรณีน้ำท่วม 55 จุดของกรุงเทพมหานครอาจทำให้ชื่อของ “หนูดี” ที่โพสต์ข้อความถึง “ผู้นำโง่” เมื่อเดือนตุลาคม 2554 หวนกลับมามีบทบาท

เป็นการสื่อไปยัง “ผู้นำโง่”

แต่ที่ทำให้ทั่วทั้งประเทศเกิดอาการ “RETRO” ในทางความคิดและในทางการเมืองมากกว่าน่าจะเป็นในเรื่อง “บริหารจัดการน้ำ”

ถามว่าอะไรคือ “ผลพวง” จากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554

Advertisement

ตอบได้เลย คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) อันมาจากสมองก้อนโตของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประสานเข้ากับ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์

จากนั้น ครม.มอบหมายให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รับผิดชอบ

แต่แล้วโครงการในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำก็ถูกทำให้ “เดี้ยง” เหมือนๆ กับโครงการรถไฟความเร็วสูง

Advertisement

ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่มีอะไรที่เป็น “ตัวอย่าง” ของอำนาจเหนือรัฐบาล อำนาจเหนือการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมประเทศไทยได้เด่นชัดเท่ากับการเดี้ยงของ 2 โครงการใหญ่นี้

เป็นการเดี้ยงจาก “องค์กรอิสระ”

น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็ตรงที่เมื่ออำนาจมาอยู่ในมือของ “คสช.” พร้อมกับมีมาตรา 44 อยู่ในกำมือแต่ก็ไม่สามารถเดินหน้า 2 โครงการนี้ได้

แม้ว่า “องค์กรอิสระ” จะแสร้งทำเป็นมองไม่เห็น

จนแล้วจนรอด “รถไฟความเร็วสูง” ที่หวังจะวางศิลาฤกษ์ 3.5 กิโลเมตรเพื่อประเดิมก็ยังไม่สามารถมีอะไรคืบหน้าได้

ขณะที่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอยู่ในมือ “กรมชลประทาน”

และทุกปีที่น้ำเหนือไหลบ่าประสานกับไต้ฝุ่นที่เข้ามาเยือน การบ่นและตัดพ้อต่อว่าก็กลายเป็นทางออกเฉพาะหน้า

นี่คือ “วิถีไทย”

จากความล้มเหลวผ่านโครงการระดับ “บิ๊ก โปรเจ็กต์” 2 โครงการน่าจะเป็น “บทเรียน” อันล้ำค่าสำหรับการบริหารจัดการ

แต่ดูเหมือนจะมิได้มีการสรุป

เราจึงเห็น “รัฐธรรมนูญ” ให้อำนาจ “องค์กรอิสระ” ยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังแถมสิ่งที่เรียกว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์” เข้ามาพร้อมกับ “คณะกรรมการปฏิรูป”

เรียกอย่างหรูๆ ว่าเป็นเหมือน “โปลิต บูโร”

อันเป็นการจำลองโครงสร้างการบริหารจากพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ว่าในยุค “สตาลิน” ไม่ว่าในยุค “เหมาเจ๋อตง”

โดยลืมไปว่ารากฐานของ “พรรคคอมมิวนิสต์” เป็นอย่างไร

เมื่อนำเอาสภาพทุลักทุเลอย่างยิ่งของโครงการ “บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ประสานเข้ากับสภาพทุลักทุเลของ “โครงการรถไฟความเร็วสูง”

ก็จะถึง “บางอ้อ” อย่างพร้อมเพรียงกัน

แม้สโลแกน “ไทยแลนด์ 4.0″ อันนำมาจาก ไมเคิล พอร์เตอร์ จะเป็นการมองไปยัง “อนาคต” แต่เมื่อโครงสร้างคือการย้อนกลับไปยัง “อดีต”

โครงการ “รถไฟความเร็วสูง” จึงเป็น “คำตอบ”

โครงการ “บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ที่ดำเนินไปในลักษณะ “เอกระ” กระจัดกระจายขาดการรวมศูนย์จึงเป็น “คำตอบ”

คำตอบว่า “ไทยแลนด์ 4.0” จะเป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image