เมื่อเงินทอนระบาดในสังคมสงฆ์ : แนวทางแก้ไขและมาตรการในการป้องกัน : โดย รศ.กิตติทัศน์ ผกาทอง

สังคมสงฆ์ในบริบทของสังคมไทยมีความอ่อนไหวตามสถานการณ์มาโดยตลอด นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งระบอบเผด็จการและหรือประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นสังคมสงฆ์ก็ยังคงบทบาทและอิทธิพลต่อสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องเพราะสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ สังคมสงฆ์จะเป็นอย่างไร คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ต้องยอมรับนับถืออยู่ดี ด้วยเหตุนี้จึงมีสุภาษิตไทยสอนไว้ว่า “ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์” หมายความว่าพระภิกษุสามเณรเถรชีจะมีพฤติกรรมอย่างไร ฆราวาสญาติโยมไม่ควรไปยุ่ง นอกจากนี้ ในวงสังคมชั้นสูงของไทยก็มักจะสอนสั่งลูกหลานให้ตระหนักต่อหน้าที่ของชาวพุทธที่ดีไว้ว่า “ไม่ได้เป็นเสนาบดีอย่าไปยุ่งการเมือง ไม่ได้นุ่งผ้าเหลือง อย่าไปยุ่งการวัด” เป็นต้น สังคมสงฆ์จึงกลายเป็นสังคมที่ศักดิ์สิทธิ์เสมอมา ความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวนี้เริ่มจางคลายเมื่อสังคมไทยพัฒนาจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม และจากสังคมอุตสาหกรรมสู่สังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ สังคมยุคโลกาภิวัตน์

1.สถานภาพของสังคมสงฆ์ในปัจจุบัน : ปัจจุบันประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาในวัดต่างๆ ทั้งวัดที่สังกัดฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกายทั้งสิ้นประมาณสามแสนรูป แบ่งเป็นพระภิกษุสามเณรที่สังกัดฝ่ายมหานิกายสองแสนห้าหมื่นรูป และพระภิกษุสามเณรที่สังกัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายห้าหมื่นรูป ในจำนวนนี้รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นชาวต่างชาติด้วย และเมื่อออกพรรษาแล้วจะมีสถิติพระภิกษุสามเณรทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุตเหลืออยู่จริงประมาณสองแสนห้าหมื่นรูปเท่านั้น ในจำนวนพระภิกษุสามเณรประมาณสองแสนห้าหมื่นรูปนี้ ส่วนใหญ่อยู่จำพรรษาในวัดที่มีความเจริญหรือเขตเมือง ส่วนวัดที่ตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ หรือในชนบทจะมีพระภิกษุสามเณรน้อยมาก

2.บทบาทวัดในสังคมไทย : ปัจจุบันวัดไทยที่ตั้งอยู่ในสังคมเมืองและสังคมชนบทมีทั้งสิ้นประมาณสองหมื่นเจ็ดพันวัด สังกัดฝ่ายมหานิกายประมาณสองหมื่นห้าพันวัด และสังกัดฝ่ายธรรมยุตประมาณสองพันวัด มีบทบาทหลักคือ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลี และนักธรรมเป็นบทบาทรอง กิจการที่นำไปสู่ความมั่นคงและจรรโลงรักษาพระธรรมวินัยจึงหย่อนยานและไม่เข้มแข็ง แม้จะมีมหาวิทยาลัยสงฆ์คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รองรับการพัฒนาองค์ความรู้ในระดับอุดมศึกษา แต่ก็มีสถิติการเข้าศึกษาของพระภิกษุสามเณรในสถาบันดังกล่าวไม่มากนัก เพราะรวมนิสิตและนักศึกษาของทั้งสองสถาบันมีไม่ถึงร้อยละ 20 ของพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ

3.บทบาทโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา : การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและแผนกธรรม มีความล้าหลังในด้านหลักสูตรและตำราเรียน เพราะมีการอนุรักษ์รูปแบบเดิมเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ จึงมีการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการจูงใจด้วยการเทียบองค์ความรู้ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเปรียญธรรม 9 ประโยค เท่ากับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือ Ph.D. เกิดขึ้น ส่วนความฝันจะเป็นจริงหรือไม่ กาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา มีความน่าสนใจมากกว่า เพราะมีหลักสูตรมีตำราเรียนที่ทันสมัยและสอดคล้องกับวิวัฒนาการของสังคม ส่งเสริมพระภิกษุสามเณรให้มีองค์ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กัน และที่สำคัญเป็นบันไดสู่ระดับอุดมศึกษาในสถาบันสงฆ์ทั้งสองแห่งได้เป็นอย่างดี

Advertisement

4.เงินทอนอยู่ตรงไหน? สังคมไทยกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับเงินทอนในสังคมสงฆ์ด้วยใจระทึก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่เศษสตางค์ที่หล่นจากย่ามพระเท่านั้น ไม่มีอะไรที่น่าตกใจแต่ประการใด เงินทอนของสังคมการเมืองน่าสนใจมากกว่าหลายเท่า เพราะทำให้บ้านเมืองเสียหายมากมาย ส่วนเงินทอนจะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสียตรงไหนยังไม่แน่ชัดมากนัก เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นของพระภิกษุแต่เพียงฝ่ายเดียว พวกเราที่เป็นคฤหัสถ์หรือชาวบ้านก็มีหุ้นส่วนที่สำคัญด้วยเช่นกัน

5.แนวทางแก้ไขปัญหา : เงินทอนคือเงินที่วัดได้รับงบประมาณอุดหนุนวัดในการบูรณะหรือปฏิสังขรณ์การศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นต้น ซึ่งแต่ละวัดได้มากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณงานเป็นสำคัญ ในระบบสังคมอุปถัมภ์นั้น ไม่สามารถปฏิเสธค่าน้ำร้อนน้ำชา และค่าดำเนินการได้ จึงต้องมีส่วนแบ่งบ้าง เช่น ได้ร้อยชักสิบ ได้พันชักร้อย และได้หมื่นชักพัน เป็นต้น หากวัดใดได้รับเงินอุดหนุนแล้วเก็บเงียบ อาจจะได้เพียงหนเดียว ดังคำกล่าวที่ว่า “กินคนเดียวไม่เป็นสุข” นั่นแหละครับ แต่บังเอิญมาเกิดในยุคปฏิรูปของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีท่าน ผอ.สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติที่เป็นมือปราบก็เลยเป็นเรื่องใหญ่โตก็เท่านั้นเอง !!

6.ปฏิรูปองค์กรสงฆ์เพื่อธำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา : การไล่บี้พระเรื่องเงินทอน อาจมองได้เป็นสองนัยคือ นัยที่หนึ่ง เพื่อสะสางขบวนทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการพระพุทธศาสนา อีกนัยหนึ่ง เพื่อดิสเครดิตระหว่างกัน เพราะปรากฏว่าวัดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินทอนนั้น เป็นฝ่ายมหานิกายล้วน สุภาษิตที่ว่า คนที่ทำงานคือคนที่มีความผิด ส่วนคนที่ไม่ทำอะไรเลย จะมีความผิดได้อย่างไร ใช่หรือไม่?

Advertisement

การปฏิรูปองค์กรสงฆ์นั้นนอกจากจะมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มงวดแล้ว ควรผ่อนคลายด้วยการสร้างกลไกในการพัฒนาองค์กรด้วยหลักการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้หากกฎเกณฑ์ กติกา ในการบริหารจัดการยังล้าหลัง จึงต้องมีการยกเครื่อง พ.ร.บ.สงฆ์ จัดระบบระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัยเป็นอันดับแรกและเร่งด่วน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ขอฝากท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นชาวพุทธด้วยกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสะสางองค์กรสงฆ์ให้เป็นกิจจะลักษณะเพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ครับ

รศ.กิตติทัศน์ ผกาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image