นักวิจัยออสซี่คิดค้นกาวใหม่ ใช้ ‘ปิดแผลผ่าตัด’

(ภาพ-University of Sydney

ทีมวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (ออสเตรเลีย) และมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ประสบความสำเร็จในการคิดค้น “กาวผ่าตัด” ชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการครบถ้วนในการใช้รักษาแผลจากการผ่าตัด ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

ปกติการปิดแผลจากการผ่าตัด หรือในกรณีที่เป็นบาดแผลฉกรรจ์ภายนอกจากอุบัติเหตุหรืออื่นๆ แพทย์ต้องใช้ด้ายเย็บปิดแผล หรือไม่ก็เป็นลวดเย็บแผล แต่วัสดุดังกล่าวซึ่งใช้กันมานาน นอกจากจะไม่สามารถปิดแผลได้สนิทซึ่งส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นในภายหลังแล้ว ยังยุ่งยากมากในกรณีการผ่าตัดภายในร่างกาย ซึ่งอาจจำเป็นต้องเปิดแผลซ้ำซ้อนที่อาจกลายเป็นปัญหาใหม่แทรกซ้อนขึ้นมาอีกได้

นั่นคือเหตุผลของการคิดค้นกาวสำหรับใช้ในการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม กาวสำหรับการผ่าตัดที่มีอยู่ในท้องตลาดเวลานี้ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในทางการแพทย์จนสามารถกลายเป็นเครื่องมือประจำของศัลยแพทย์ในทุกครั้งที่ลงมือผ่าตัดได้ จนกระทั่งทีมวิจัยใหม่สามารถคิดค้นกาวผ่าตัดใหม่ล่าสุด ซึ่งเรียกชื่อเบื้องต้นว่า “เมโทร (MeTro)” นี้ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ

นาซิม อันนาบี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น ระบุว่ากาวศัลยกรรมที่ดีจำเป็นต้องมีคุณสมบัติ 4 อย่างคือ ต้องมีความเหนียวยืดหยุ่น ไม่ขาดง่าย, ต้องมีความสามารถในการยึดติด, ต้องไม่เป็นพิษ และ ต้องมีความสอดคล้องในเชิงชีวภาพ หรือไบโอคอมแพททิเบิล เพื่อไม่ให้กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายต้องขับออก อันนาบีอ้างว่า “เมโทร” ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นี้มีคุณสมบัติทั้ง 4 อย่างครบถ้วน

Advertisement

กาวศัลยกรรมเมโทร ผลิตจากวัสดุที่เป็นไบโอคอมแพททิเบิล เนื่องจากสร้างขึ้นจากโปรตีนซึ่งคล้ายคลึงกับโปรตีนที่ใช้สร้างเส้นใยอีลาสตินในร่างกายมนุษย์ ด้วยการเปลี่ยนความเข้มข้นของโปรตีนดังกล่าวเพื่อให้เกิดสารที่ทีมวิจัยเรียกว่า “เมโทร ไฮโดรเจล” ขึ้น ให้สามารถมีความหยุ่นเหนียวได้หลายระดับ และสามารถเซตตัวยึดติดปากแผลได้ภายในเวลาเพียง 60 วินาทีด้วยการฉายแสงยูวี

แอนโธนี ไวส์ นักวิจัยในทีมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เปิดเผยว่า มีการทดลองการใช้งาน “เมโทร” ในหนูทดลอง โดยใช้ปิดรอยกรีดบนเส้นเลือดใหญ่ รวมทั้งปิดรูรั่วที่ปอดของหนูทดลองได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งยังประสบผลสำเร็จในการใช้กาวศัลยกรรมใหม่นี้ในการอุดปอดหมู ทั้งๆ ที่ปอดกำลังยุบและพองตามจังหวะหายใจได้อีกด้วย

ขั้นต่อไปก่อนนำกาวเมโทรนี้ออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ก็คือการขออนุญาตเพื่อทดลองนำมาใช้กับผู้ป่วยที่เป็นคนนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image