เรื่องราวของพ่อ ที่ไม่อาจลบเลือน

เนื่องในวาระแห่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาวิทยาลัยนเรศวรโดย สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสมาคมปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย ได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ มาร่วมระลึกถึงพระราชกรณียกิจ คำสอน และแนวคิด ด้านสุขภาพช่องปากของคนไทย ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ซึ่งเรื่องราวอันทรงคุณค่าต่างๆ บางช่วงถูกเรียบเรียงจาก วารสารสานรัก สมาคมศิษย์เก่าทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 3 เดือนธันวาคม 2554 ซึ่งถ่ายทอดโดย ทันตแพทย์ประจำพระองค์
ในหลวงรัชกาลที่ 9

ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช

ท่านได้เล่าว่า “ท่านได้เข้าถวายงานพระทนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 รวมระยะเวลากว่า 42 ปีแล้ว โดยมีอาจารย์สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์และคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ในสมัยนั้นเป็นผู้นำหมอเข้าไปถวายการรักษาพระทนต์ หลายครั้งมีผู้ถามเสมอว่า ทำไมถึงได้รับเลือกให้เข้าไปถวายการรักษา เผอิญตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระทนต์องค์หนึ่งจะต้องครอบและหมอเรียนมาเฉพาะทางด้านนี้ จึงได้มีโอกาสเข้าไปถวายงานพระทนต์ นับเป็นวาสนาที่ได้เข้าไปถวายการรักษา และถือเป็นสิริมงคลสูงสุดของชีวิตตัวเองนานกว่า 42 ปี พระองค์ท่านทรงพระเมตตาเสมอ เวลาเราถวายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านจะทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วย หรือทรงคุยเป็นชั่วโมงเลย ทรงรับสั่งเรื่องโน้นเรื่องนี้ทรงสอน ทรงแนะนำ จึงทำให้เกิดโครงการต่างๆ
ของทันตแพทย์ขึ้นมากมายหลายโครงการ”

ความรู้สึกครั้งแรกที่เข้าเฝ้าถวายงานพระทนต์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

Advertisement

รู้สึกตื่นเต้นเป็นที่สุด กลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาด นึกตลอดเวลาว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง 1-2-3-4 และไหว้พระสวดมนต์บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย วันที่เข้าไปถวายงาน อาจารย์หมอสีท่านแนะนำ และทูลว่าวันนี้หมอเพ็ชราจะเป็นผู้ถวายการรักษา ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ช่วย พระองค์ท่านมิได้รับสั่งอะไร เมื่อลงมือถวายการรักษา เป็นพระทนต์องค์บนซ้าย เริ่มต้นทำไปได้ประเดี๋ยวอาจารย์ก็กราบบังคมทูลว่า มือเขาเย็นเชียวพะยะค่ะ พระองค์ท่านรับสั่งถามเป็นครั้งแรกว่า ฟันเรามีกี่ซี่ หมอทูลตอบทันทีเพราะเคยทำในโมเดล ของพระองค์ท่านมาก่อน ท่านรับสั่งถามอีกว่า ฟันทุกคนรูปร่างเหมือนกันหรือเปล่า หมอก็ทูลตอบว่าเหมือนกันทุกคนเพค่ะ พระองค์ท่านรับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นหมอจะต้องตื่นเต้นทำไม กลัวทำไมก็เหมือนคนไข้คนอื่นๆ ของหมอ เมื่อฟังรับสั่งเช่นนั้นแล้วหมอก็หายตื่นเต้นไปหมด รู้สึกว่าพระองค์ท่านมีพระเมตตาเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีวิธีการที่จะทำให้เราหายตื่นเต้นได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหมอก็ไม่รู้สึกกลัวหรือตื่นเต้นอะไรอีก แต่ทุกครั้งที่เข้าไปทำพระทนต์ก็ยังคงไหว้พระสวดมนต์ ถวายพวงมาลัยเพื่อความสบายใจและเป็นกำลังใจจะได้ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่าเราทำแบบนี้ ท่านรับสั่งให้คนอื่นฟังว่า หมอเพ็ชราเขาไม่เชื่อฝีมือตัวเองต้องอาศัยไสยศาสตร์ช่วย

สำหรับความประทับใจที่ได้ถวายงานพระองค์นั้นมีมากมายหลายเรื่องแต่มีอยู่ 2 เรื่องที่หมอรู้สึกประทับใจมากที่สุดในชีวิต

เรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2526 ปีนั้นน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร คุณจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  “พระองค์ท่านมีพระทนต์องค์หนึ่งหักบิ่น ทรงปวดและเสียวมาก มีรับสั่งให้หมอไปเฝ้าประมาณ 5 โมงเย็น เมื่อถึงเวลาที่ทรงนัด ได้เสด็จมาพบแต่ไม่ประทับบนเก้าอี้ทำพระทนต์ ทรงรับสั่งถึงพระอาการ และถามว่าถ้ารักษาจะใช้เวลานานหรือไม่ เมื่อทูลตอบว่าคงประมาณชั่วโมงกว่า ๆ พระองค์ท่านรับสั่งตอบว่าถ้าอย่างนั้นเอาไว้ก่อน ตอนนี้น้ำท่วงกรุงเทพ ราษฎรเดือดร้อนมาก สำหรับราษฎรแล้วน้ำขังเพียง 1 ชั่วโมง เขาจะไม่สบายใจ ถ้าน้ำลดลง 1 ชั่วโมง เขาก็จะดีใจที่น้ำลดลงแล้ว หมอได้ฟังก็ก้มลงกราบพระบาทขอพระราชทานรักษาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าทิ้งไว้อาจเป็นเรื่องใหญ่และจะทรงทรมานมากขึ้น พระองค์ท่านไม่ทรงยอม รับสั่งว่าเราทนได้ ราษฎรสำคัญกว่า หมอเองน้ำตาไหลรู้สึกซาบซึ้งในพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล้วทุกข์ของราษฎรนั้นยิ่งใหญ่กว่าทุกข์ของพระองค์นั้น หมอเองได้สัมผัสแล้วเป็นความจริง”

Advertisement

อีกเรื่องหนึ่ง พระองค์ท่านทรงสอนพวกเราเสมอ ให้คิดดี พูดดี ทำดี ทรงคิดอะไรในแง่บวกเสมอ
จะเล่าว่า มีเครื่องปั๊มลมตั้งอยู่อีกห้องหนึ่งติดกับห้องทำพระทนต์ หลายปีมาแล้วที่พระองค์ทรงพระประชวรได้เสด็จมาบรรทมในห้องที่ตั้งปั๊มลมไว้ เมื่อใดที่ทันตแพทย์จะถวายการรักษาพระทนต์ หมอจะเข้าไปเปิดปั๊มลมในห้องบรรทมเครื่องก็จะดัง ส่วนมากพระองค์จะกำลังทรงพระอักษรหรือทรงประทับอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเช่นนี้อยู่หลายเดือน วันหนึ่งหมอจึงกราบบังคมทูลขอย้ายเครื่องปั๊มลมไปไว้ในห้องอื่น ซึ่งมีแต่พวกช่างที่นั่งอยู่บ้าง “เมื่อทรงทราบมีรับสั่งกับหมอว่า ถ้าไว้ที่ห้องนั้นก็ไปหนวกหูคนอื่นเขาอีก ไม่เป็นไรดีเสียอีกเมื่อเครื่องดังเราจะได้รู้ว่าหมอมาแล้ว จะได้เตรียมตัวไปพบหมอ ความจริงเรื่องทรงคิดอะไรจะทรงคิดถึงคนอื่นก่อน
คิดในแง่บวกเสมอ”

ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์การประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 10 สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย www.nuccc.nu.ac.th/thaicleft2017 หรือ https://www.facebook.com/NUcleftcenter

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image