คอลัมน์ Think Tank: ‘ยูเนสโก’ ผู้พิทักษ์วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยข้อโต้แย้ง

AFP PHOTO / JACQUES DEMARTHON

สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลประกาศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมว่า ขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หน่วยงานที่มีข้อโต้แย้งมาตลอดช่วงเวลา 70 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งมา

รัฐบาลวอชิงตันเรียกร้องให้มี “การปฏิรูปโดยรากฐาน” โดยกล่าวหายูเนสโกว่ามีอคติต่อต้านอิสราเอล ด้านอิสราเอลกล่าวหายูเนสโกว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์

ยูเนสโก องค์การด้านวัฒนธรรมของยูเอ็นที่มีสมาชิก 195 ประเทศระบุว่ามีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพผ่านทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการสื่อสาร

ยูเนสโกเป็นที่รู้จักดีจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกสถานที่ที่มีความโดดเด่นและสวยงามทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกยังส่งเสริมสิทธิด้านการศึกษา การใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจัดการกับความท้าทายด้านจริยธรรมและสังคมที่ปรากฏขึ้นมา

ความจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบันของยูเนสโกได้รับการระบุว่าเป็นเรื่องแอฟริกาและความเท่าเทียมกันทางเพศ
บัญชีมรดกโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาในปัจจุบันมีสถานที่ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือธรรมชาติ 1,073 แห่ง

ในการที่จะได้รับการขึ้นบัญชีนั้น สถานที่แห่งนั้นต้องมีคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลตามหลักเกณฑ์อย่างน้อย 1 ใน 10 ข้อ

Advertisement

มรดกโลกที่เป็นที่รู้จักดีอาทิ แกรนด์แคนยอน กำแพงเมืองจีน และฮาลองเบย์ เป็นต้น

ยูเนสโกยังขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งในปัจจุบันมี 54 แห่ง

ยูเนสโกถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1945 เมื่อยูเอ็นได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการเกิดสงครามโลกขึ้นซ้ำอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของยูเนสโกย้อนหลังกลับไปตั้งแต่สมัยเป็น คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อความร่วมมือด้านปัญญา (ไอซีไอซี) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตชาติเมื่อปี 1922

หลังจากได้รับเอกราช 19 ชาติแอฟริกันเข้าเป็นสมาชิกยูเนสโกในยุคทศวรรษที่ 1960 และหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็กลายเป็นสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐ 12 แห่งที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต

เยอรมนีตะวันออกเคยเป็นสมาชิกระหว่างปี 1972-1990 ก่อนการรวมเยอรมนี
เมื่อปี 2011 ปาเลสไตน์กลายเป็นสมาชิกรายที่ 195 ของยูเนสโก ท่ามกลางการคัดค้านจากสหรัฐ อิสราเอล และยุโรป

ยูเนสโก เป็นฉากหลังของความขัดแย้งทางการทูตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อชาติอาหรับประสบความสำเร็จในการผ่านข้อมติที่เป็นอันตรายกับอิสราเอล

ในปี 1956 แอฟริกาใต้ถอนตัวจากยูเนสโกโดยอ้างว่า ถูกแทรกแซงปัญหาการเหยียดสีผิวภายในประเทศ ก่อนที่จะกลับมาเป็นสมาชิกในปี 1994 หลังจากที่เนลสัน แมนเดลลา กลายเป็นผู้นำประเทศ

สหรัฐเคยถอนตัวจากการเป็นสมาชิกมาแล้วระหว่างปี 1984-2003 ในยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนที่กล่าวหายูเนสโกว่าต่อต้านอเมริกัน

อังกฤษและสิงคโปร์เดินตามรอยสหรัฐหลังจากนั้นโดยถอนตัวออกจากยูเนสโกจนถึงปี 1997 และ 2007 ตามลำดับ

ในปี 2011 ประธานาธิบดีบารัค โอบามาถอนเงินทุนที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนที่คิดเป็นราว 22 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณประจำปีของยูเนสโก จากการยอมรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image