สุจิตต์ วงษ์เทศ : รับมือน้ำท่วม พัฒนาจากยุคไทยรบพม่า

รับมือน้ำท่วม พัฒนาจากยุคไทยรบพม่า

น้ำท่วมพื้นที่บางส่วนในอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนริมแม่น้ำ (ภาพจาก มติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2560)

การบริหารจัดการเพื่อรับมือน้ำท่วม บริเวณที่ราบลุ่มรอบๆ อยุธยา ต่างจากยุคไทยรบพม่า จากตั้งค่ายบนโคก เป็นตั้งเต๊นท์บนถนน

ตลอดวันหยุดศุกร์, เสาร์, อาทิตย์ ผมตระเวนเข้าทุ่งนาริมแม่น้ำลำคลองรอบๆ อยุธยาต่อเนื่องถึงอ่างทอง, สุพรรณบุรี ชาวบ้านส่วนหนึ่งหนีน้ำท่วมขึ้นถนน บ้างตั้งเต๊นท์อยู่รวมกันหลายครอบครัว แต่มีไม่น้อยตั้งเพิงหมาแหงนหลบแดดฝนหุงหาอาหาร

บางแห่งมีส้วมสำเร็จรูปตั้งข้างถนนบนน้ำท่วม แต่หลายแห่งไม่มี

ทุ่งรับน้ำ

ทุ่งผักไห่กว้างใหญ่ไพศาล ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันออก กับ แม่น้ำน้อยทางตะวันตก (มีคลอง 2 สายพาดขวาง คือ คลองบางหลวงกับคลองบางบาล)

Advertisement

มีถนนสายบางบาล-ผักไห่ ตัดผ่ากลางทุ่ง เห็นน้ำนองขาวสุดลูกหูลูกตาทั้งสองฟาก คั่นด้วยบ่อทรายเป็นกลุ่มๆ

ทั้งทุ่งเป็น “แก้มลิง” แหล่งรับน้ำที่ล้นทั้งจากตะวันออกและตะวันตก แต่เห็นแล้วเสมือนน้ำล้นอย่างเกรงใจบ่อทรายของพ่อค้าทราย

อยุธยามีทุ่งรอบเกาะ

อยุธยามีทุ่งรอบเกาะ เป็นแหล่งรับน้ำทุกทิศทาง เช่น

Advertisement

ทางเหนือ มีทุ่งภูเขาทอง, ทุ่งลุมพลี, ทุ่งแก้ว, ทุ่งขวัญ, ทุ่งมะขามหย่อง ฯลฯ

ทางตะวันออก มีทุ่งหันตรา, ทุ่งอุทัย, ทุ่งหลวง ฯลฯ

รัฐบาลสมัยก่อนเคยออกกฎหมายสำคัญมากให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม

ต่อมารัฐบาลสมัยหลังยกเลิกกฎหมายนั้น เพื่อเอาใจญี่ปุ่นสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเต็มทุ่งรับน้ำทางตะวันออก

พ.ศ. 2540 เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ส่งผลเสียหายมหาศาล ท่วมโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้น

 

ชาวบ้านรับเคราะห์

หลังน้ำลด โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น เช่น ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี ฯลฯ

แต่อีกไม่น้อยอยู่ที่เดิม แล้วสร้างคันดินกับทำนบคอนกรีตล้อมรอบโรงงานทั้งย่านอุตสาหกรรม

มวลน้ำไหลลงมาจากเหนือไม่มีทางไป ก็นองท่วมบ้านเรือนชาวบ้านหนักข้อขึ้น เพราะรัฐราชการไม่เร่งรัดทำฟลัดเวย์ไล่น้ำออกอ่าวไทยตามแผนจัดการน้ำของรัฐบาลก่อน

ดีแต่พูด

รัฐอยุธยา มีแม่น้ำล้อมรอบเกาะเมือง ประชาชนส่วนมากตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำลำคลอง แล้วเป็นหลักในการคมนาคมทั้งใกล้และไกล

เหล่านี้นักวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี พูดเป็นท่องจำเหมือนกันทุกคน และทุกปี เกือบร้อยปีมาแล้ว

แต่เอาเข้าจริงยังไม่พบงานวิจัยจริงจังเกี่ยวกับ (1.) ระบบลำน้ำ (2.) ลักษณะชุมชนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและพาหนะใช้คมนาคมทางน้ำ

ดีแต่พูด จนรัฐราชการเลยแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้อย่างเป็นระบบ ที่รับมือน้ำท่วมทุกวันนี้ พัฒนาจากยุคไทยรบพม่า  (อย่างน่าภาคภูมิ?) ตามนักปราชญ์ยุคก่อนๆ บอกไว้

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image