5 ปมแย้งอัยการกรองสำนวนตำรวจ ‘รองผบก.กองคดีอาญา’ วิพากษ์ปฏิรูป

การปฏิรูปตำรวจ ล่าสุดเปิดประเด็น อัยการเข้ามากลั่นกรองสำนวนก่อนแจ้งข้อหาและร่วมตรวจที่เกิดเหตุ  ที่ดูเหมือนทั้งฝ่ายตำรวจและอัยการจะเห็นแย้งกันในที ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลรองรับในแนวทางของตัวเอง

พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกบทบาทเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย ดีกรีเนติบัณฑิตไทย ปริญญาเอกด้านกฎหมายจาก ม.อิลลินอยส์ ตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ 5 ข้อ

1.ฝ่ายสนับสนุนให้อัยการเข้ามาควบคุมตำรวจมักอ้างหลักสากลที่ให้อำนาจอัยการเข้ามาดูแลการสอบสวนได้ ในความเป็นจริงแล้ว มีเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือทฤษฎีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยมีอยู่จริงสักเท่าไหร่ และที่สำคัญต้องให้เกียรติกัน ไม่มีใครมาอวดอ้างเก่งกาจ หรือดีกว่ากันหรอก ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐหรือญุี่ปุ่นก็ตาม

“ผมทำงานที่สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ International Law Enforcement Academy (ILEA) มีวิทยากรจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสหรัฐ 28 หน่วยงานมาสอน ผมยืนยันว่า ส่วนใหญ่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเป็นทีมงานในหน่วยงานของเขา เขาเชิญอัยการเข้ามาในลักษณะแขกร่วมกันทำงาน แต่น้อยคดีมาก เช่น คดีนโยบายของรัฐ เนื่องจากรัฐเขาเป็นหลักนิติรัฐนิติธรรม การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ผมไม่แน่ใจว่ากรณีของประเทศที่ยังไม่มีหลักนิติรัฐเข้มแข็งแล้ว การเข้ามาในลักษณะที่เป็นการร่วมหัวจมท้ายกันควบคุมทิศทางการสอบสวนจะเกิดขึ้นได้ง่ายแค่ไหน และจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจคำนวณได้เลย”
2.ให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน เป็นการทำลายระบบถ่วงดุล และล้มละลายหลักประกันความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะสามารถควบคุมทิศทางการสอบสวนของตำรวจได้อย่างบริบูรณ์ เบ็ดเสร็จ ไปจนถึงขั้นสั่งคดี และมีผลถึงคำพิพากษาด้วย เพราะพยานหลักฐานที่จะเสนอต่อศาลถูกกำหนดทิศทางมาเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันตำรวจรวบรวมหลักฐานแล้วส่งสำนวนให้อัยการ หากอัยการเห็นว่าไม่สมบูรณ์ก็สั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม หากอัยการไม่ฟ้อง จะส่งมายังตำรวจ เพื่อพิจารณาว่าจะแย้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้นหรือไม่ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 145 หรือ 145/1 อย่างไรก็ตามระบบนี้ให้อัยการสูงสุดชี้ขาด และห้ามมิให้มีการฟ้องคดีใหม่ ถ้าไม่มีหลักฐานใหม่ชัดแจ้ง

“หากให้อัยการเข้าควบคุมการสอบสวน ย่อมทำลายระบบถ่วงดุลดังกล่าวสิ้นเชิง เห็นในหลายคดีที่ตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือกรมศุลกากร เชิญอัยการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาหารือในขณะบังคับใช้กฎหมาย ล้วนแต่มีข้อสงสัยว่าเพราะอะไร จึงกลายเป็นคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เช่น คดี พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ที่ถูกสามีฆ่าหั่นศพ คดีนี้ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร. เชิญอัยการเข้าสอบสวน แนะนำ แต่ท้ายที่สุด พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ คดีนี้นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ อธิบายชัดเจนว่าการสูญเสียอวัยวะภายใน และสารพันธุกรรมระบุว่าเป็น พญ.ผัสพร แต่อัยการอ้างว่าไม่เชื่อว่ามีการตายเกิดขึ้นจริงโชคดีที่กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้น ประกอบกับบิดาของ พญ.ผัสพร ฟ้องคดีเอง ศาลประทับฟ้อง ท้ายที่สุดอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายเอง”

Advertisement
“นอกจากนี้ คดีบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง ทำให้พนักงานอัยการเลื่อนสั่งคดีไปเรื่อยๆ ผู้ต้องหาไม่มาพบเจ้าพนักงาน จนตำรวจจะเสนอศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปรากฏว่ามีหนังสือจากพนักงานอัยการให้ชะลอการขอหมายจับไว้ก่อน เพราะผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม กรณีนี้เป็นเรื่องน่าสงสัยไม่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสั่งคดี” รอง ผบก.กองคดีอาญา ตั้งข้อสังเกต

3.ระบบอัยการ ปัจจุบันเป็นระบบปิด ไม่มีการตรวจสอบจากสาธารณชน หากเราดู ป.วิ.อาญาแล้วจะพบว่า ไม่มีกำหนดเวลาสั่งคดีของพนักงานอัยการเลย นั่นคือเหตุที่ทำให้คดีล่าช้ามาก และเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม การสั่งไม่ฟ้องอาจทำให้ผู้เสียหาย ไม่ได้รับการเยียวยา แม้ว่าตาม ป.วิ.อาญา จะให้ผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลได้โดยตรง แต่เป็นแค่ทฤษฎีเท่านั้น เพราะพยานหลักฐานทั้งหมดผู้เสียหายไม่มีกลไกรวบรวม เขาจึงร้องทุกข์ให้ตำรวจทำ แนวโน้มโลกปัจจุบัน จึงมีระบบกำหนดเวลาสั่งคดีของพนักงานอัยการ ทำให้การปฏิบัติงานของอัยการมีความโปร่งใส และเมื่ออัยการไม่ฟ้อง จะมีระบบตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้อง เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เพราะเขายอมรับความเป็นจริงที่ว่าการทำงานของอัยการอยู่ในมุมที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ประชาชนเข้าไม่ถึง และกฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รู้ได้เฉพาะกลุ่ม

4.การสอบสวนโดยอัยการเป็นหลักสากลจริงหรือ มักจะอ้างกัน แต่อ้างเฉพาะส่วนที่ตนจะใช้เป็นประโยชน์

“จะปรับเป็นหลักสากลก็ดี เพราะสากลก็ไม่มีอะไรที่เป็นแบบไทยๆ ถ้าจะอ้างหลักสากลแบบเขาก็ยกเลิกให้องค์กรอัยการมาสังกัดกระทรวงยุติธรรมแบบหน่วยราชการทั่วไปเถอะ”

Advertisement

และ 5.การให้อัยการเข้ามาคุมสอบสวนจะเกิดอะไรตามมาบ้าง อันที่จริงเมื่อมีกฎหมายใหม่ กำหนดให้อัยการมีอำนาจสอบสวน เช่น องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ สำนักงานอัยการสูงสุดจัดตั้ง กำหนดกรอบอัตราตำแหน่ง สิทธิประโยชน์ แต่เมื่อมีคดีที่เกิดขึ้นต่างประเทศ อัยการก็มอบให้ตำรวจรับไปดำเนินการ

“ส่วนในคดีเด็กและเยาวชน พนักงานอัยการกำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนในการเข้าเวรสอบสวนเด็ก แต่ไม่เคยไปสถานีตำรวจให้ตำรวจนำตัวเด็กและเยาวชนมาที่ทำการพนักงานอัยการ ตำรวจต้องหิ้วอุปกรณ์พร้อมสหวิทยาการ และบุคคลที่เกี่ยวข้องไปสอบสวน ตามวันเวลาที่อัยการนัดหมาย โดยพนักงานอัยการได้รับค่าตอบแทนในการเข้าเวรสอบสวนเด็ก ในฐานะประชาชนชนเจ้าของภาษีคนหนึ่ง มีข้อสงสัยอย่างมากว่าการที่อัยการจะเข้ามาคุมการสอบสวนนั้น จะมีแรงจูงใจเรื่องการกำหนดตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรืออะไรหรือไม่ สามารถให้พันธสัญญาได้หรือไม่ว่าจะไม่เพิ่มตำแหน่งอัตรา จะไม่กำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมพิเศษขึ้นมาอีก ผมหวั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่สามารถแบกรับภาระงบประมาณดังกล่าวได้อีกแล้ว ทุกวันนี้ตำรวจเข้าเวร 24 ชั่วโมง ไม่มีโอที ไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษจากเงินเดือน” รอง ผบก.กองคดีอาญาระบุ
พ.ต.อ.ดร.ศิริพลชี้ว่า แนวคิดให้อัยการเข้ามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนคดีอาญา หรือกลุ่มงานสอบสวนประเทศไทยเคยมีกรรมการลักษณะนี้จำนวนมาก เช่น การตั้งอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. การดำเนินการในรูปกรรมการจะทำให้การสอบสวนดำเนินคดีล่าช้ามาก จะเห็นว่ามีคดีจำนวนหนึ่งที่ตำรวจเห็นว่าผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ตำรวจส่งคดีให้หน่วยงานนั้นภายใน 30 วัน ปรากฏว่าเมื่อใกล้จะขาดอายุความมีการส่งคดีกลับมาให้ตำรวจดำเนินคดี
“การดำเนินคดีรูปคณะกรรมการจะล่าช้ามาก เพราะกว่าจะตั้งได้ กว่าจะเรียกประชุม กว่าจะพร้อมกัน กว่าจะผ่านการโต้แย้งคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการ ความยุติธรรมที่ล่าช้าเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ คดีค้างนับ 10,000 คดี และทยอยขาดอายุความ” พ.ต.อ.ดร.ศิริพล ระบุ
อัยการเข้ามาคุมสอบสวนจะลดการจับแพะจริงหรือ?!
รอง ผบก.กองคดีอาญา ให้ความเห็นว่า ตำรวจและพนักงานอัยการเป็นคนธรรมดา มีรัก โลภ โกรธ หลง การเอา “คน” มาคุม “คน” ไม่มีทางที่จะให้แก้ไขปัญหาได้ ตรงกันข้าม “คน” อาจร่วมกับ “คน” ทำผิดให้ร้ายแรงขึ้นไปอีก ถ้าอยากจะแก้ปัญหาการจับแพะต้องเพิ่มวิธีการอื่นๆ เช่น ควบคุมที่เทคนิคการสอบสวน อาจเพิ่มวิธีการใช้เทปบันทึกในขณะสอบสวน แม้ว่าวิธีการนี้รัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณลงไปก็ตาม
“ผมเห็นว่าต้องใช้วิธีอื่นในการควบคุมตำรวจ เช่น การใช้เทคโนโลยี การมีหลักประกันความมั่นคงของวิชาชีพ อย่าคิดง่ายๆ ว่าเอา  คน มาคุม คน ด้วยกันแล้วจะดีขึ้น ถ้าคนทั้งหลายเกิดมาร่วมหัวจมท้ายกัน แล้วทำในสิ่งที่เราไม่คาดคิด หรือสิ่งเลวร้ายเสียมากกว่าจะทำอย่างไร นั่นคือความเสี่ยงแบบสุดสุด สำหรับคนคุมคนด้วยกัน” พ.ต.อ.ดร.ศิริพลกล่าว และว่า  การปฏิรูปตำรวจต้องจริงจัง และศึกษาตัวแบบทั่วโลกเอามาใช้เป็นแม่แบบ โปรดอย่าใช้มโน แล้วคิดว่ามันจะดี โลกนี้มีตัวแบบของความสำเร็จและความล้มเหลวมากมาย ช้าสักนิด แต่ชัวร์ จะดีกว่า
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image