ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ ปรับแนวคิดบริการประชาชน

อาจารย์พิเศษ วีรังคบุตร

ถ้าพูดถึง “นวัตกรรม” ก็อาจจะนึกถึงเรื่องของสิ่งของที่ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการใช้งานได้ดีขึ้น

แต่ใครจะคิดว่าเรื่องของนวัตกรรมจะถูกนำมาใส่ไว้ในเรื่องของ “ความคิด” ได้

วิทยาลัยโลกคดีศึกษา (School of Global Studies) เป็นคณะใหม่ของธรรมศาสตร์ ที่เป็นหลักสูตรอินเตอร์แห่งแรก ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะมีหลักสูตรเดียวกันนี้แต่เป็นภาษาไทย โดยที่คณะนี้จะสอนเรื่องหลักคือเรื่องของ “โลก” สอนให้เด็กได้เรียนรู้วิวัฒนาการของโลก สอนเรื่องของการให้นวัตกรรมสร้างผู้ประกอบการสังคมที่ดีและรับกับทศวรรษใหม่ที่จะเกิดขึ้น โลกทุกวันนี้เป็นโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว เป็นธุรกิจที่โลกที่เรากับธุรกิจทำด้วยกัน เหมือนอย่างบางจาก สอนให้ชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งให้กับบางจาก สอนองค์ความรู้แก่เขา

ซึ่งที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ทำแบบเดียวกันนั้นเอง โดยจะมีส่วนของจี-แล็บ ที่เป็นส่วนที่ให้องค์ความรู้แก่สังคมภายนอก ส่วนทางคณะจะให้องค์ความรู้แก่นักศึกษา

Advertisement

อาจารย์พิเศษ วีรังคบุตร หรือ อ.เจ็ท ผู้ดูแลในส่วนของจี-แล็บ (GlobalLab) บอกว่า จี-แล็บ เป็นส่วนหนึ่งของคณะโลกคดีศึกษา ซึ่งก็เป็นคณะใหม่ที่สอนเกี่ยวกับการเข้าใจวิวัฒนาการของโลกและสร้างนวัตกรรมของสังคม และด้านประกอบการด้านสังคม

แต่จี-แล็บจะออกไปปฏิสัมพันธ์กับภายนอกเพื่อทำงานกับเขา เป็นพาร์ตเนอร์ไปร่วมทำโปรเจ็กต์ด้วยกัน

และหนึ่งในสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ กัฟแล็บ (GovLab) เป็นโปรเจ็กต์ที่จี-แล็บกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยที่มาของกัฟแล็บนั้น อ.เจ็ทเล่าว่า เริ่มต้นมาจากการที่เฮเลน คลาร์ก ผู้อำนวยการของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง government innovation lab หรือห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ ซึ่งคลาร์กได้บอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า หลายประเทศมีห้องปฏิบัติการลักษณะนี้ เช่น สิงคโปร์ เกาหลี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ พวกนี้จะมีห้องปฏิบัติการนี้อยู่ในหน่วยงานของรัฐ วัตถุประสงค์ “เพื่อต้องการสร้างนวัตกรรมการบริการภาครัฐให้กับประชาชน” เป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน

Advertisement

อ.เจ็ทกล่าวว่า กัฟแล็บมีการนำเอา “การออกแบบทางความคิด” หรือดีไซน์ ธิงกิ้ง มาใช้

“ดีไซน์ ธิงกิ้ง” อ.เจ็ทอธิบายไว้ว่า ดีไซน์ ธิงกิ้ง เป็นวิธีการคิดเชิงการออกแบบ ที่หลักๆ คือการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อน เพื่อนำมาออกแบบ ซึ่งมีใช้กันในภาคเอกชนมานานแล้ว เพราะบริษัทพวกนี้ต้องเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมาย แล้วนำเอาความเข้าใจว่าจะออกแบบให้ใคร เขามีความเป็นอยู่อย่างไร แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมา เป็นการค้นคว้าเพื่อนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ได้สิ่งที่ตรงใจของลูกค้า

กัฟแล็บก็จะนำเอาดีไซน์ ธิงกิ้ง มาใช้ หรืออีกแง่มุมหนึ่งคือ ฮิวแมนเซ็นเตอร์ดีไซน์ หรือการออกแบบโดยใช้มนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อที่จะได้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อน แล้วเอาความรู้อันนั้นมาเพื่อออกแบบเป็นนวัตกรรมการบริการให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมารัฐไม่เคยถามว่าประชาชนต้องการอะไร แต่ครั้งนี้จะเป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ลงไปดูว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการคืออะไร ประชาชนเจอกับอะไรบ้าง แล้วนำมาปรับปรุงการให้บริการ เพื่อให้ได้สิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

โดยโครงการตอนนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ยูเอ็นดีพี, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้เริ่มจากช่วงของการเก็บข้อมูล ที่เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จบเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำแผนไปให้กับรัฐบาล ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ทั้งหมด 7 โครงการ มีอยู่ในกรุงเทพฯ 3 โครงการ ในต่างจังหวัด 4 โครงการ คือที่ ยโสธร พิจิตร เพชรบุรี และพัทลุง เพื่อดูปัญหาอย่างเรื่องการเข้าคิวที่โรงพยาบาล การลงทะเบียนไอเอสโอ การลงทะเบียนสมุนไพร เป็นต้น อย่างเรื่องของโรงพยาบาล ก็จะต้องเข้าใจประสบการณ์ของคนที่ไปโรงพยาบาลว่าต้องเข้าคิวอย่างไร รอนานแค่ไหน โดยจะใช้ทีมที่เรียกว่า “ไอทีม” หรืออินโนเวชั่นทีม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากหลายกระทรวง ที่ถูกฝึกให้มาร่วมในโครงการนี้

ซึ่งหลังจากได้องค์ความรู้จากประชาชน ก็จะส่งกลับไปยังผู้ที่กำหนดนโยบาย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานของข้าราชการ และเพื่อให้การดำเนินงานของภาครัฐสอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นำไปสู่การพัฒนาบริการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชน

แต่การตั้งกัฟแล็บจะเป็นแบบใดนั้น ก็จะมีรูปแบบหลายรูปแบบ ในแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งก็คงต้องมีการพูดคุยกันต่อไป เพื่อให้เหมาะสมกับในแต่ละประเทศ

อ.เจ็ทบอกว่า ความยากของโครงการนี้คือการปรับเปลี่ยนวิธีในการคิดของผู้คน ต้องหาวิธีทำให้คนคิดแบบใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งความหวังก็คงต้องฝากไว้ที่ไอทีม ที่มีอยู่ 60-70 คน ที่ทำหน้าที่ในการปฏิสัมพันธ์กับประชาชน ลงพื้นที่เพื่อพูดคุย หาทางแก้ปัญหา สร้างไอเดีย และทดลองเพื่อดูว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไร

“ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า ในการที่จะเปลี่ยนแนวคิดของคน” อ.เจ็ทกล่าว และว่า นอกเหนือไปจากการเข้าใจสิ่งที่ประชาชนต้องการแล้ว เราต้องเข้าใจถึงหัวอกของคนทำงานอย่างข้าราชการทั่วไปด้วย ที่ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของกลไกในการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เพราะข้าราชการจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการให้บริการประชาชน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของไอทีมที่จะเข้ามาศึกษาในเรื่องนี้ด้วย

แต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่มีสอนอยู่ที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ที่จะสอนให้นักศึกษาได้เห็นโลก รู้จักโลกภายนอกให้มากขึ้น รู้จักใช้วิธีความคิดในการพูดคุยกับคนอื่น และรู้จักการออกแบบทางความคิด

และเมื่อถึงสิ้นปี รายงานจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจะถูกส่งให้แก่รัฐบาล แล้วก็จะได้รู้ว่า “นวัตกรรมการบริการภาครัฐให้แก่ประชาชน” จะเกิดได้จริงหรือไม่

ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีหน้าตาอย่างไร ตอนนี้ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ประชาชนจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้แบบเต็มๆ หากโครงการสำเร็จเสร็จสิ้น เพื่อประชาชนมีความสุข ก็จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ดีต่อไปนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image