ร้อง’กรมควบคุมมลพิษ’ ไม่จริงใจฟื้นฟูลำห้วยปนเปื้อนตะกั่ว ด้าน บ.แร่ตะกั่วยังนิ่งไม่ชดใช้ 36 ล้านให้ชาวกะเหรี่ยง

วันนี้ 17 ตุลาคม นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด ที่ทำกิจการโรงแต่งแร่ตะกั่ว ปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เจ็บป่วยล้มตาย จนกรมควบคุมมลพิษซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่เดือนเมษายน 2541 และมีแผนในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ แต่ต่อมากลับไม่ดำเนินการต่อโดยอ้างว่าจะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟู เป็นเหตุให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างโดยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครอง

วันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ไม่เกินค่ามาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท โดยกำหนดให้ดำเนินการภายใน 90 วัน

ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2560 กรมควบคุมมลพิษได้เริ่มการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินการฟื้นฟูโดยใช้งบประมาณกว่า 460 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามสัญญาจ้างไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 โดยมีระยะเวลาการดำเนินการ 1,000 วัน มีกิจกรรมการดำเนินการประกอบด้วย การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม การก่อสร้างหลุมฝังกลบ และการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม

แม้ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งให้กรมควบคุมมลพิษเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยภายใน 90 วัน แต่กว่ากรมควบคุมมลพิษกลับใช้เวลากว่า 4 ปี จึงเริ่มการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งแผนในการดำเนินการฟื้นฟูก็ไม่อาจกำจัดมลพิษออกจากลำห้วยคลิตี้จนให้ชาวบ้านกลับมาใช้น้ำในลำห้วยโดยปราศจากมลพิษดังเดิม เนื่องจาก 1.ไม่มีการขุดลอกลำห้วยตลอดลำห้วย คงขุดลอกเพียงไม่กี่จุด ทำให้มลพิษอีกจำนวนมากยังตกค้างอยู่ในลำห้วย 2.ไม่มีการกำจัดมลพิษ แต่เป็นการเพียงย้ายมลพิษไปฝังกลบเท่านั้น ซึ่งยังมีสภาพเป็นมลพิษอยู่ แต่เดิมกรมควบคุมมลพิษเคยดำเนินการกำจัดมลพิษเหล่านี้จำนวน 8 กองแบบมลพิษอุตสาหกรรม โดยการขุดนำไปกำจัดมลพิษโดยโรงงานภายนอกพื้นที่ เมื่อไม่เป็นมลพิษแล้วจึงให้บริษัทรับกำจัดของเสียฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท 3.การฝังกลบแทนที่จะขนออกไปกำจัดภายนอกและฝังกลบเมื่อกำจัดมลพิษแล้วในพื้นที่ของบริษัทรับกำจัด กลับนำมาฝังกลบมลพิษซึ่งยังเป็นมลพิษอยู่เนื่องจากไม่มีการกำจัดมลพิษ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหนือลำห้วยคลิตี้และหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งหากมีการรั่วไหลก็จะลงสู่ลำห้วยคลิตี้และมาหมู่บ้านคลิตี้ล่างอีกครั้ง และ 4.ไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าลำห้วยคลิตี้จะมีค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ไม่เกินค่ามาตรฐานตามคำพิพากษาของศาลเมื่อใด

Advertisement

การทำไม่ครบถ้วน การไม่กำจัดมลพิษและการฝังกลบในพื้นที่ป่า จะทำให้ลำห้วยคลิตี้ไม่ปราศจากมลพิษ ความล่าช้าที่ผ่านมาจะไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านคลิตี้ล่าง หรือชาวจังหวัดกาญจนบุรี เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯและคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ ซึ่งคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และแม่น้ำแม่กลองก็จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ

ในส่วนคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 ราย ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด และกรรมการบริษัท รวม 7 ราย ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 151 ราย เป็นเงิน 36,050,000 บาท และให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ จนปัจจุบันจำเลยทั้งเจ็ดยังไม่ติดต่อเพื่อชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image