บริหารน้ำฝน โดย นฤตย์ เสกธีระ 

แแฟ้มภาพ

การบริหารจัดการน้ำเราเคยพูดกันมาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2554

ตอนนั้นพูดกันเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยเผชิญหน้ากับมหาอุทกภัย

น้ำจากภาคกลางไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพฯ

จำแนกน้ำที่ไหลเข้ากรุงเทพฯได้ว่ามาจาก “น้ำท่า” และ “น้ำทุ่ง”

Advertisement

น้ำท่ามาจากแม่น้ำลำคลอง น้ำทุ่งมาจากน้ำฝนที่ตกและไหลไปรวมอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ไร่ นา

และอีกน้ำคือ “น้ำหนุน” หมายถึงน้ำทะเลหนุน

ที่ผ่านมาเรามักจะให้ความสำคัญกับน้ำท่าที่บริหารจัดการด้วยระบบชลประทาน

Advertisement

เมื่อน้ำไหลลงแม่น้ำแล้ว กรมชลประทานจะมีวิธีเก็บกัก ชะลอ และเร่งระบาย

มีการตั้งฝายชะลอน้ำ มีการทำประตูระบายน้ำ

ส่วนน้ำทุ่งก็ปล่อยให้ไหลลงสู่แม่น้ำ กลายเป็นน้ำท่าต่อไป

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดมาแล้ว

นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามีจำนวนมาก

มากจนระบายไม่ทันและท่วมขัง

ระยะเวลาการท่วมจากไม่กี่ชั่วโมง ตอนหลังขยายกลายเป็นวัน

ทางการบอกว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเมื่อคืนวันศุกร์มีปริมาณพอๆ กับฝนพันปีสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.

ถ้ายังจำกันได้ ปริมาณฝนพันปีแบบนี้ เคยมีการกล่าวอ้างกันมาแล้วหลังจากนั้น

นี่คือสัญญาณบ่งบอกว่า น้ำฝนปริมาณขนาดนี้เริ่มตกลงมาถี่ขึ้น

ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยปัจจุบัน

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นภาพน้ำท่วมถนนวิภาวดีรังสิตอีกครั้ง

เห็นน้ำท่วมย่านสุขุมวิท น้ำท่วมชั้นใต้ดินของคอนโดมิเนียม

น้ำฝนไหลท่วมกรุงเทพฯ

เบื้องต้นพยายามถามหาความเสียหาย แต่ยังไม่มีใครยืนยัน

เท่าที่ทราบ สินค้าและพื้นที่การค้าได้รับความเสียหายไปเยอะ

หากฝนมาเช่นนี้อีกบ่อยๆ แล้วเสียหายเช่นนี้คงไม่สู้ดีนัก

วันนี้จึงอยากเห็นการบริหารจัดการน้ำฝน เพิ่มเติมเข้าไปในหมวดหมู่การบริหารจัดการน้ำ

จัดการน้ำท่าให้ไหลเข้าเขื่อนเพื่อเก็บเอาไว้ใช้

จัดการน้ำให้ไหลลงทะเลเพื่อไม่ให้ท่วมพื้นที่ที่อยู่อาศัยและเรือกสวนไร่นา

เมื่อน้ำแม่น้ำเริ่มลด น้ำที่ท่วมทุ่งจะได้ไหลลงสู่แม่น้ำ

ไหลลงสู่แม่น้ำมากเท่าไหร่ ทุ่งน้ำท่วมก็จะแห้งลงได้เร็วเท่านั้น

ปัจจุบันเราประมาณวันเวลาน้ำลดได้ทั้งน้ำท่าและน้ำทุ่ง

เราสามารถทำนายเวลาน้ำหนุนได้ด้วยซ้ำ

คงเหลือแต่น้ำฝนที่อยากให้มีการคำนวณล่วงหน้า

ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่ เราจะบอกประชาชนให้รู้ล่วงหน้าได้ไหม

ถ้ารู้ล่วงหน้า จะได้บอกประชาชนให้เตรียมตั้งรับ

ถ้ารู้ล่วงหน้า จะได้บอกเจ้าหน้าที่ให้เตรียมตัวระบายน้ำจะได้มีเวลาจัดการ

จัดการไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “ตกปุ๊บ ท่วมปั๊บ”

แต่ขังอยู่นาน!

……………

นฤตย์ เสกธีระ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image