อธิบดีคุ้มครองสิทธิฯ ชี้เปลี่ยนโทษประหารในไทยท้าท้าย สังคมมีทัศนคติ ลงโทษเพื่อแก้แค้น

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ พาร์ควิว เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ ดร.โคลิน สไตน์บัค หัวหน้าฝ่ายการเมืองและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลกประจำปี 2560

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวว่า วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก เพื่อให้ทั่วโลกหันมาตระหนักว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต เนื่องจาก การประหารชีวิตถือว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่ และเป็น การกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน นักโทษประหารชีวิต โดยส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือคนด้อยโอกาส จึงไม่มีเงินมาจ้างทนายความที่มีฝีมือเพื่อมาแก้ต่างคดีให้กับตนเองได้ อีกทั้ง ระบบยุติธรรมทางอาญามีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมในทุกคดี ดังนั้น จึงอาจเกิดความผิดพลาดในการตัดสินคดีได้ ซึ่งหากได้ตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่สามารถหาชีวิตมาทดแทนผู้นั้นได้

 

Advertisement

น.ส.ปิติกาญจน์ ยังกล่าวอีกว่า การประหารชีวิตไม่ได้เป็นแนวทางที่จะยับยั้งอาชญากรรมได้จริง หรือช่วยให้สังคมมีความปลอดภัย หรือทำให้คนเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำผิดได้จริง เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้น จะสามารถลดสถิติการเกิดอาชญากรรมในสังคมได้
ดังนั้น การยุติการประหารชีวิตไม่ใช่การยกเลิก หรือสนับสนุนให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่เป็นการยุติการลงโทษที่ไม่คุ้มค่า ไม่สมเหตุสมผล และยังเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งลดความเสี่ยงที่โทษประหารชีวิตจะถูกนำไปใช้กับผู้บริสุทธิ์ด้วย

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์การใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลเชิงสถิติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า 141 ประเทศ หรือ 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติแล้ว คงเหลือเพียง 57 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต สำหรับประเทศไทยนั้น มีการใช้โทษประหารชีวิตหลายวิธีซึ่งแตกต่างกันไป ตามช่วงเวลา โดยในช่วงระหว่างปี 2478 – 2546 จะเป็นการประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้าจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2546 ประเทศไทยได้เปลี่ยนการประหารชีวิตมาเป็นการฉีดสารพิษแทน

“การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือปี 2562 ก็เท่ากับว่าประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตครบ 10 ปี จึงมีผลทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พักการลงโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติตามหลัก Moratorium” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว

Advertisement

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทยให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติยังมีข้อท้าทายอย่างมาก เนื่องจากกระแสสังคมในปัจจุบันยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยมาตรการทางเลือกอื่น รวมทั้งเมื่อมีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้น ในสื่อและสังคมออนไลน์ต่างเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทัศนคติของคนส่วนมากในสังคมยังคงต้องการลงโทษเพื่อแก้แค้น


น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวด้วยว่า นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาระบุว่า ยืนยันเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลง โทษประหารชีวิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย จึงต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนี้อย่างกว้างตามแนวทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้ในมาตรา 77 และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติตามลำดับ ทั้งนี้ ในระยะแรก จะเน้นการศึกษา เพื่อเพิ่มดุลพินิจแก่ศาลที่จะลงโทษวิธีอื่นได้ในฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว และในระยะต่อไปจะได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการไม่ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิด บางประเภทที่ไม่ได้สัดส่วนหรือไม่กระทบต่อชีวิตของบุคคลอื่น ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและรับฟังเสียงรอบข้างอย่างรอบคอบ

น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว ดังนั้นการประชุมในวันนี้ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สะท้อนความพยายามและความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการดำเนินการดังกล่าว ที่ทุกฝ่ายจะได้มีการหารือร่วมกัน และข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image