แอบดูการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน : โดย เพชร เหมือนพันธุ์

เดือนสิงหาคม 2560 ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปทำธุระส่วนตัวที่ประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือ ลาวกับเขมร ได้สัมผัสกลิ่นอายของประเทศที่กำลังมีอนาคต ทั้ง 2 ประเทศที่ต่างได้โหมก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ถนนหนทางอยู่ทุกมุมของเมืองหลวง ถนนแม้ฝุ่นจะเยอะ แต่ก็บอกผู้ไปเยือนให้รู้ว่า สังคมของเขากำลังพัฒนา

ด้วยนิสัยของความเป็นครู อยู่ที่ใดก็อยากรู้เรื่องการจัดการศึกษาของเขา ผู้เขียนได้ไปสัมผัสกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ของลาวที่กำลังวางโครงการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างมีวิสัยทัศน์และน่าตื่นใจ ได้คุยกับผู้ประกอบการของลาวสอบถามเขาว่าเรียนจบชั้นไหน เขาบอกว่าจบทางวิศวกรรมมาจากมหาวิทยาลัยในประเทศลาว สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างลื่นไหล แล้วตอนเย็นได้ไปรับประทานอาหารกันที่ริมฝั่งโขง ได้เจอเพื่อนของเพื่อนลาวที่มาร่วมวงอาหารด้วยเป็นหญิงสาวลาวอายุยังน้อย เขาเล่าให้ฟังว่า เขากำลังเรียนอาชีวศึกษาปีที่ 2 ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมา ต้องทำงานหาเงินเรียนเองมาตลอด ไม่ได้พึ่งผู้ปกครอง เป็นเด็กสาววัยรุ่นที่มีอัธยาศัยไมตรีและมีมารยาทดี คล่องแคล่ว ก็เลยประเมินด้วยสายตาและความรู้สึกขณะนั้นว่า ทำไมผลผลิตทางการศึกษาของลาวจึงสร้างคนให้มีความคิดพึ่งตนเองได้มากอย่างนี้

ในวันที่ 21-23 สิงหาคม 2560 ผู้เขียนก็ได้ไปติดต่อธุรกิจที่เขมรกับเพื่อนชาวเยอรมันที่พนมเปญ นอนอยู่ที่พนมเปญ 3 คืน 4 วัน ด้วยความมีนิสัยเป็นครูเมื่อเดินผ่านโรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา ก็อยากจะแวะเข้าไปดูโรงเรียนเขา ก็อาศัยการติดต่อประสานงานแบบบ้านๆ โดยขอให้คนขับรถตุ๊กตุ๊กที่พูดไทยได้บ้าง พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ช่วยประสานงานให้ ครับ อาศัยทั้งโชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊กและตำรวจ ก็ได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ได้พูดคุยกับคณะครู ข้อค้นพบคือ เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายประมาณร้อยละ 60-70 สามารถพูดคุยสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับแขกแปลกหน้าที่มาเยี่ยมโรงเรียนได้ และยังแปลกใจว่าทำไมเด็กนักเรียนของเขมรจึงมีความตื่นตัวกระตือรือร้นที่จะต้อนรับแขก ไม่หนีแขกที่มาเยี่ยม

เมื่อเข้าไปพูดคุยกับครูใหญ่และคณะครูในโรงเรียน พบว่าครูใหญ่และคณะครูพูดสื่อสารภาษาอังกฤษยังไม่ได้ ผู้เขียนเลยถามว่ามีครูที่พูดภาษาอังกฤษได้ไหม ครูใหญ่ตอบว่าไม่มี ถามผ่านล่าม ล่ามคือตำรวจและคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่ช่วยประสานงานให้ได้เข้าไปเยี่ยม โรงเรียนแห่งนี้มาโรงเรียน 7 โมงเช้า พักเที่ยง 11 นาฬิกา เด็กกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน แล้วกลับมาเรียนตอน 13 นาฬิกา เลิกเรียนเวลา 16 นาฬิกา มีเด็ก 700 คน ครู 55 คน

Advertisement

ตอนเย็นไปทานอาหารกับเพื่อนชาวเยอรมัน ในย่านร้านอาหารซอยเลียบลำน้ำโขง พบว่าพนักงานบริการและเจ้าของร้านอาหารหลายแห่งสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี ในวันต่อมาตอนบ่ายได้เดินเล่นเลียบฝั่งลำน้ำโขงกลางกรุงพนมเปญ ก็ได้พยายามทักทายคนที่มาเดินเที่ยวด้วยก็พบว่าคนเขมรหลายคนสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะเยาวชนจะสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ได้หยุดคุยกับเด็กอาชีวศึกษา 2 คน อายุ 19-20 ปี เป็นหญิงและชาย พบว่าทั้งสองคนสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้

ถามว่าเป็นคนในพนมเปญไหม เด็กบอกว่าเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในพนมเปญ

ตอนที่ไปติดต่อนำเสนองานขายเกมกระดาน (Board Games) กับลูกค้าชาวเขมร พบว่าเด็กเขมรที่เจ้าของกิจการที่ทางร้านส่งมาปฏิสัมพันธ์กับพวกเรา อายุ 18-28 ปี จำนวน 4 คน สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมากเกือบทุกคน ได้ไปเจอเจ้าของกิจการที่ศูนย์การค้าในกรุงพนมเปญที่ร้านค้า Monument Book เป็นหญิงสาวชาวเขมร สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดีมาก สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี เธอเล่าว่า เคยมาเป็นครูแลกเปลี่ยนที่โรงเรียนลำนารายณ์ สระบุรี เป็นเวลา 3 เดือน จึงสื่อสารด้วยภาษาไทยได้

Advertisement

ประหลาดใจว่าทำไมเด็กเขมรจำนวนมากสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อนชาวเยอรมันตอบว่า คุณเพิ่งรู้หรือว่าเด็กเขมรพูดภาษาอังกฤษได้เก่ง เดี๋ยวนี้เด็กในประเทศรอบประเทศไทย เช่น ลาว เขมร เวียดนาม พม่า เขาพูดสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษกันได้หมดแล้ว ยกเว้นประเทศไทยประเทศเดียวที่ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างทั่วถึง

หลังจากเดินดูเมืองพนมเปญ 2 วันก็ได้ข้อสรุปอย่างหยาบๆ ว่า ทุกหัวมุมถนนจะมีโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 10-20 ดอลลาร์ สอบถามจากผู้รู้ในเขมร ท่านเล่าให้ฟังว่า ชาวเขมรจะดิ้นรนเรียนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ทุกคน เพราะนายกรัฐมนตรีฮุน เซน บอกเยาวชนคนรุ่นใหม่ไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาทางธุรกิจ คนเขมรทุกคนที่อยากมีรายได้ที่ดีต้องพูดภาอังกฤษและใช้คอมพิวเตอร์ได้ เด็กและผู้ปกครองจึงต้องไปแสวงหาความรู้ภาษาอังกฤษและเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์นอกโรงเรียนของรัฐ เป็นนโยบายสั้น ชัดเจน และปฏิบัติได้จริง ใช่ไหมครับ

ครับ เขาไปไกลกว่าเรามากแล้ว หันหลังกลับมามองที่บ้านตัวเอง เรียนภาษาอังกฤษกันมาเกิน 16 ปี ก็ยังพูดสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ มันมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า กลุ่มเยาวชนไทยใน Start your way – Pantip บอกว่า การศึกษาไทยได้หลงทางมานานแล้ว ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา บอกว่า “มันเป็นวิกฤตจนชาชิน” และยังพูดอีกว่า “เขมรไม่รู้ว่าจะแซงเราอีกหรือเปล่า”

ครับ อยากเรียนท่านว่า แซงมาแล้วครับ

จากการลงพื้นที่ครั้งแรกของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่ภาคอีสาน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมธรนินทรกรีนปาร์ค จ.ร้อยเอ็ด มีคนมาร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน หนึ่งวันเต็ม ได้ตำตอบไป 6 ข้อ คือ 1.การแยกระบบการศึกษาไทยออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกำกับ และฝ่ายปฏิบัติการ 2.การถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายกำกับ 3.ความเป็นอิสระทางการศึกษาของฝ่ายปฏิบัติการหรือสถานศึกษา 4.ความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 5.การเปลี่ยนแปลงของบทบาทของภาครัฐจากบังคับบัญชาเป็นการกำกับดูแล และ 6.การเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น ศาสนสถาน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และสถาบันครอบครัว ในการจัดการศึกษา

ข้อเสนอจากผู้ร่วมประชุม จากผู้บริหารการศึกษา ผู้ปฏิบัติการ ผอ.เขต ทุกคนล้วนสะท้อนปัญหาและความอึดอัดใจของตนที่กำลังเผชิญอยู่ในสนามปฏิบัติการต่อระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน ไม่ทราบว่าท่านผู้จัดประชุมสัมมนาได้คำตอบอะไรไปบ้าง ประเด็นหัวข้อปัญหาที่ยกมาให้ที่ประชุมระดมความคิดทั้ง 6 หัวข้อนั้น ห่างไกลจากห้องเรียนมาก ล้วนเป็นปัญหาของผู้กำหนดนโยบายทั้งสิ้น การมาหาความเห็นจากผู้ฟังหรือท่านผู้เข้าร่วมประชุมจึงเห็นว่าน่าจะได้รับประโยชน์น้อย ส่วนที่ท่านจะได้รับไปโดยตรงคือหนังสือร้องเรียนหรือบันทึกข้อเสนอจากทางผู้ปฏิบัติการเพื่อให้นำปัญหาที่เกิดอยู่ในสนาม ให้ท่านได้นำเข้าไปแก้ไข

แอนเดรียส ซไลเซอร์ ผู้ริเริ่มโครงการ PISA (ปี 1965) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและทักษะ ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา OECD ได้กล่าวไว้ว่า… ในวันที่สิงคโปร์ทิ้งห่างไปไกล ในวันที่เวียดนามกำลังเดินไปเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ที่ดูเหมือนจะติดหล่มแผนการปฏิรูปการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นผลให้ไม่ใช่แค่เดินช้า แต่บางคราวกลับเดินถอยหลังไปอีก และมีนักการศึกษาบางคนบอกว่าการศึกษาไทยวันนี้ถอยหลังไปถึง 10 ปี

ลี กวน ยิว ผู้นำพรรคกิจสังคมของสิงคโปร์ เล็งเห็นว่า ทรัพยากรอย่างเดียวที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีคือ “มนุษย์” และการจะพัฒนามนุษย์ได้ก็คือ การศึกษาเท่านั้น

ปี 1997 สิงคโปร์ปรับเปลี่ยนหลักสูตร โดยเน้นย้ำไปที่การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลของนักเรียน และเน้นความคิดสร้างสรรค์ โดยได้แยกนักเรียนในระดับมัธยมศึกษานักเรียนอย่างละเอียด แบ่งเด็กออกเป็น 4 สาย คือ 1.กลุ่มเรียนเร่งรัด (Express) 2.กลุ่มพิเศษ (Special) 3.กลุ่มสามัญ (Normal Academic) 4.กลุ่มอาชีวะ (Normal Technical)

ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวความคิดของสิงคโปร์ เพราะเด็กในวัยรุ่นมัธยมศึกษามีความ
สามารถในการทำงานในภาคสนามเท่าเทียมกับผู้ใหญ่แล้ว ควรได้รับการฝึกงานในภาคสนามจริง การแบ่งเด็กได้ชัดเจนตามทักษะและความต้องการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความสะดวกในการฝึกทักษะที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน

เห็นเด็กลาวที่มีโอกาสหาเงินหารายได้ในขณะที่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ทำให้รู้ว่าเด็กเขารู้จักคิด รู้จักวางแผนหาเงินไปเรียน รู้จักตัดสินใจ ยิ่งกว่ารู้จักคิดวิเคราะห์ได้เสียอีก

การศึกษาไทยเปรียบเสมือนเราเลี้ยงปลาทองไว้ในตู้ปลาหรือเลี้ยงนกป่าไว้ในกรง ถึงเวลาครูก็มาให้อาหาร ปลาหรือนกที่ถูกขังก็อ้าปากรอ อิ่มแล้วก็หยุด ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอาหารเอง ถึงเวลามีคนมาป้อน นักเรียนไทยก็เหมือนกัน ไปถึงโรงเรียนก็รอครูมาป้อนความรู้ เลิกกลับบ้านก็ลืม ไม่ได้แสวงหาความรู้เพิ่มเติม เด็กไทยจึงไม่รู้จักแสวงหาทักษะหาความรู้เพิ่มเติม เรียนจบชั่วโมงก็เก็บหนังสือใส่กระเป๋ากลับบ้าน ถึงบ้านก็ลืม พรุ่งนี้มาเรียนต่อใหม่ อ้าปากรอครูเอาความรู้มาป้อน แสวงหาความรู้เองไม่เป็น เรียนจบมาก็รอที่จะเป็นลูกจ้างเท่านั้น ถ้าไม่มีใครจ้างก็อดตาย เหมือนเอาปลาทองไปปล่อยในทะเล หรือเอานกขังกรงไปปล่อยป่า มีแต่ตายกับตาย

การศึกษาไทยเน้นให้ปฏิรูปครู ถ้าครูเก่งก็คิดว่าการศึกษาไทยน่าจะมีคุณภาพ นี่เป็นคำตอบที่ถูกเพียงนิดเดียว โบราณเคยเปรียบว่าครูเหมือนคนแจวเรือจ้าง ส่งเด็กถึงฝั่งแล้วก็กลับมารับใหม่ ต่อให้คนแจวเรือจ้างเก่งขนาดไหน ก็ไปได้แค่ถึงชายฝั่งคลองเท่านั้น ตราบใดที่ครูไทยยังแจวเรืออีโปงหรือเรืออีแปะอยู่ โอกาสที่จะไปถึงขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าย่อมไม่มี ชาติอื่นเขาใช้เรือพลังงานปรมาณูแล้ว ดังนั้นถ้าอยากปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จก็ขอให้เปลี่ยนเรือให้ครูเขาเถอะครับ เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา เปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เปลี่ยนการวัดประเมินผลแบบปรนัย

เปลี่ยนหลักสูตรเหมือนกับลี กวน ยิว ทำที่ในสิงคโปร์ จะได้ไม่มานั่งโทษว่าครูว่าไม่มีคุณภาพอยู่เช่นทุกวันนี้

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image