ฝนตกหนักสุดในรอบ 30 ปี : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

แฟ้มภาพ

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ได้เกิดฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพฯอย่างหนัก ข่าวออกในเวลาต่อมาว่าฝนในคืนวันนั้นมีปริมาณ 206 มม.ที่เขตพระนคร และประมาณ 200-203 มม.ในเขตอื่น ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเพื่อรอระบายถึง 55 แห่ง ได้ทราบในเวลาต่อมาอีกว่าเป็นฝนที่ตกหนักที่สุดบริเวณกรุงเทพฯ ในรอบ 30 ปี หลังจากฝนพันปีในสมัยที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทันทีที่ฝนหยุดลง ผู้ว่าฯกทม.ก็ออกมาขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหากจะเกิดความผิดพลาดและความไม่สะดวกทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่คนกรุงเทพฯไม่ได้ว่าอะไร เพราะผู้ว่าฯกทม.มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ควรจะรับผิดชอบกับผู้แต่งตั้งตนคือนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือแม้แต่ คสช. เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการแต่งตั้งขององค์กรไหนเลย แต่ถ้าเป็นสมัยที่ผู้ว่าฯกทม.มาจากการเลือกตั้ง เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯก็คงจะถูกถล่มไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ผู้ว่าฯกทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะไม่ได้หลับนอนเพราะต้องออกไปตรวจดูการระบายน้ำตลอดทั้งคืน เพราะต้องรับผิดชอบต่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตน

พายุไต้ฝุ่นลูกนี้กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าเป็นพายุฝนชื่อ “ขนุน” ไม่ทราบว่าเป็นชื่อผลไม้ไทยหรือไม่ ตั้งแต่ขบวนการสตรีต่อต้านการใช้ชื่อผู้หญิงเป็นชื่อพายุฝนที่โหดร้าย ที่นำความเสียหายมาสู่บ้านเรือนเรือกสวนไร่นาแล้ว ก็เลยหันมาใช้ชื่ออื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามคงจะยังมีพายุความกดอากาศต่ำหรือพายุดีเปรสชั่นตามมาอีกหลายลูก อย่างที่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เตือนเอาไว้ ส่วนจะมีการจัดการบริหารน้ำได้ดีกว่ากรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯในปี 2554 หรือไม่ก็ต้องรอดูกันต่อไป ที่ผู้คนฟัง ดร.เสรีเตือนก็ดี เพราะไม่มีใครเชื่อกรมอุตุนิยมวิทยามานานแล้ว ส่วนที่เพิ่งได้ยินว่าพายุไต้ฝุ่นเพิ่งเข้าเกาะไหหลำ ฮานอย แล้วเปลี่ยนเป็นพายุฝนดีเปรสชั่นเข้าทางเหนือของประเทศไทย ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ยังจะมีไต้ฝุ่นพัดเข้าฝั่งเวียดนามอีกหลายลูก เพราะเคยได้ยินมาจากคนเวียดนามว่าจะเจอพายุไต้ฝุ่นปีละ 20-22 ลูกทุกปี จนเขาถือว่าเป็นเรื่องปกติ เวียดนามจึงไม่นิยมปลูกข้าวหนักหรือข้าวนาปี แต่นิยมปลูกข้าวเบาหรือข้าวนาปรัง เพราะถ้าข้าวถูกพายุไต้ฝุ่นน้ำท่วมข้าวก็จะลอยน้ำ หรือถ้าถูกน้ำท่วมจริงๆ ก็จะได้ปลูกใหม่ได้ ไม่ต้องรอฤดูกาลอย่างข้าวนาปี เวียดนามจึงผลิตได้แต่ข้าวคุณภาพต่ำ เพื่อส่งออกราคาถูกๆ แล้วนำเข้าข้าวคุณภาพสูงเพื่อการบริโภคของผู้มีรายได้สูง จากเขมรและลาว

การปลูกไม้ยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นต้นยูคาลิปตัสหรือต้นกระดาษ หรือผลไม้ก็ทำได้ยาก เพราะมักจะถูกพายุไต้ฝุ่นพัดหักโค่นเสียก่อนจะได้ผลผลิต หรือก่อนจะตัดเอามาทำประโยชน์ได้เสมอ

Advertisement

ลาวกับไทยโชคดีที่มีเทือกเขาทอดยาวจากเหนือจรดใต้ระหว่างเวียดนามกับลาว กั้นพายุไต้ฝุ่นที่พัดเข้าเวียดนามปีละ 20 ลูกแล้วกลายเป็นพายุฝน คนเวียดนามจึงกลายเป็นคนที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติมาโดยตลอด นอกเหนือภัยจากจีนที่คิดว่าเวียดนามเป็นแคว้นหรือมณฑลหนึ่งของจีนที่ต้องขึ้นกับจักรพรรดิจีน ที่ปักกิ่ง ขณะที่เวียดนามไม่เคยยอมรับความคิดนี้เสมอมาเป็นเวลากว่า 1,000 ปีแล้ว เมื่อชาวเวียดนามบางครอบครัวอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่ประเทศลาวก็ดี ภาคอีสานของไทยก็ดี หรืออพยพไปอยู่ที่ฝรั่งเศสก็ดี ออสเตรเลียก็ดี แคนาดาและสหรัฐอเมริกาก็ดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรและอดออมในไม่ช้าก็สามารถตั้งตัวมีฐานะทางเศรษฐกิจในเวลาไม่นาน นอกจากนั้นพ่อแม่ชาวเวียดนามก็นิยมส่งเสียบังคับให้ลูกเรียนหนังสือ นักเรียนเรียนดีในโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมใน 5 จังหวัดภาคอีสาน เช่น อุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร และอุบลราชธานี ส่วนหนึ่งมักจะเป็นนักเรียนที่มีเชื้อสายเวียดนามเช่นเดียวกับลูกเวียดนามที่อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และที่อื่นๆ ลูกคนไทยลูกคนลาวแม้แต่ฝรั่งผิวขาวก็สู้ไม่ได้ เราจึงไม่ได้ยินฝน 1,000 ปี 100 ปี หรือ 30 ปีในกรุงฮานอย หรือเว้ หรือเมืองไซ่ง่อน ทิวเขาที่กั้นระหว่างเวียดนามและลาวนอกจากจะป้องกันพายุไต้ฝุ่นให้ชะลอเข้าไทยได้แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดลำน้ำหลายสายไหลลงทะเลจีนใต้ เหมาะแก่การทำชลประทาน การก่อสร้างทำระบบชลประทานของเวียดนามจึงพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่สมัยโบราณที่เป็นเมืองขึ้นของจีน

ไต้ฝุ่นเพิ่งจะมีชื่อ “ขนุน” จึงเป็นเพียงลูกแรกๆ ที่พัดผ่านเกาะไหหลำ หลังจากลูกก่อนๆ ที่พัดเข้าญี่ปุ่นลงมาไต้หวันและคงจะค่อยๆ เลื่อนลงใต้ พายุดังกล่าวทำให้ฝนตกในประเทศไทยต่อจากฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดจากฝั่งทะเลอันดามันเข้าประเทศไทย ด้วยเหตุนี้โอกาสที่น้ำจะท่วมพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลก็ยังมี และถ้าหากจะมีก็คงไม่มีใครตกใจหรือตื่นตระหนกอย่างที่อธิบดีกรมชลประทานกังวล แต่จะได้ช่วยกันเตรียมตัวเตรียมใจ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และเคยเกิดขึ้นมาแล้วทุกๆ 5-10 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลก แม้คราวนี้จะเกิดขึ้นอีกก็คงไม่มีใครโทษนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯกทม. เพราะเราไม่ใช่ผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯกทม. ทั้งสองท่านไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่ผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้ว่าฯกทม.ก็ไม่ต้องรับผิดชอบคนกรุงเทพฯ เพราะไม่ได้รับเลือกจากคนกรุงเทพฯ แต่ควรรับผิดชอบต่อผู้แต่งตั้งตนเท่านั้นคือตัวนายกรัฐมนตรีเอง

ตามทฤษฎีและตรรกะของการบริหารราชการแผ่นดิน ควรจะเป็นอย่างนั้น

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ได้ยินเสียงนกเสียงกาหรือเสียงจากสื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าฯกทม. ในการบริหารจัดการน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ แต่ถ้าไม่เกิดน้ำท่วมก็จะดี แต่ถ้าจะเกิดก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครกล่าววิพากษ์วิจารณ์อะไร เพราะไม่คิดว่าใครต้องมารับผิดชอบอะไร ตัวใครตัวมัน ทุกคนเข้าใจว่าความแตกต่างระหว่างรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะเห็นว่าทุกคนเงียบงันกันไปหมด

การลอกท่อทำความสะอาดคูคลองระบายน้ำเตรียมรับฝนตกหนักในเดือนตุลาคม เราจะเห็นผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้งเตรียมการป้องกัน แต่เมื่อวันเสาร์-วันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดฝนหนักที่สุดในรอบ 30 ปี จึงเห็นเศษขยะมูลฝอยลอยน้ำขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพราะความมักง่ายของคนกรุงเทพฯที่ทำอย่างไรก็แก้ไม่หาย เมื่อตระหนักอย่างนี้แล้วก็ควรจะมีงานเก็บกวาดล้างท่อเพื่อรับสถานการณ์ฝนตกหนักทุกๆ ปี แม้แต่ปีฝนแล้ง แม้ว่าจะมีแนวโน้มเรื่องเอลนิโญและลานิญาทุกๆ 4 ปีก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ามันจะเป็นไปตามนั้น มันอาจจะเป็นฝน 1,000 ปี 100 ปี 30 ปี อีกก็ได้ ไม่มีใครรู้ เพราะโลกร้อนขึ้นทุกวัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้ว่าฯกทม.และนายกรัฐมนตรี แต่เป็นความมักง่ายของคนกรุงเทพฯและปัญหาโลกร้อน

ปัญหาน้ำท่วมเมืองหลวงไม่ใช่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเมืองหลวงของประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศ เช่น กรุงลอนดอน กรุงปารีส ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเทมส์และน้ำแซน ขณะเดียวกันก็มีปัญหาน้ำเค็มจากน้ำทะเลเหมือนกับกรุงเทพฯของเราด้วย ที่จะเกิดปัญหาน้ำกร่อยจากการหนุนของน้ำทะเล ซึ่งเป็นอันตรายต่อเรือกสวนไร่นาในฤดูแล้ง เดือนเมษายนและพฤษภาคม

หากปีใดฝนตกลงมาช้ากว่ากำหนด ไม่มีฝนตกในช่วงเดือนมิถุนายน กลายเป็นฝนทิ้งช่วง อันเป็นรอยต่อระหว่างฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กับฝนจากความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ที่เราเรียกว่าพายุไต้ฝุ่น ปัญหาของกรุงเทพฯจึงมีทั้ง 2 อย่าง

ขณะนี้ทางกรมชลประทานได้เริ่มผันน้ำไปลงที่รับน้ำ “แก้มลิง” ทั้งทางทิศตะวันตก เพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำสุพรรณบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำนครชัยศรี ไปออกอ่าวไทยที่แม่น้ำท่าจีน คงไม่ต้องกันพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ไว้เหมือนเมื่อคราวที่แล้ว ขณะเดียวกันก็ผันน้ำไปทางตะวันออก ผ่านคลองระพีพัฒน์ไปลงคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อลงทะเลทางด้านตะวันออก ความเสียหายจากการผันน้ำลงทะเลผ่านไร่นาสาโทของประชาชนก็ควรได้รับการชดเชยจากภาษีอากร แต่ก็ยังไม่มีใครเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาล

ที่จริงแล้วภาษีอากรที่จะนำไปชดเชยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากโครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ควรจะเป็นภาษีอากรที่เก็บจากคนกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯเป็นผู้ได้ประโยชน์ แต่เนื่องจากการบริหารการจัดเก็บคงจะยุ่งยาก อีกทั้งประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นมีต่ำ จำนวนเจ้าพนักงานภาษีของท้องถิ่นก็มีน้อย จึงยังต้องพึ่งกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ และส่งมอบให้ในรูปของเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง ตามสูตรสำเร็จที่ได้กำหนดไว้

เมื่อไรก็ตามที่มีความวิปริตของฝนฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ก็กลับมาคิดเรื่องเงินชดเชยช่วยเหลือป้องกันเสียทีหนึ่ง แต่เมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านพ้นไปความคิดก็พลอยละลายหายไปด้วย เพราะมีเรื่องอื่นผ่านมาให้คิดต่อไป หมุนเวียนอยู่อย่างนั้น เพราะคนไทยเราคิดแต่เรื่องเฉพาะหน้า เรื่องระยะยาวคิดไม่เป็น

หวังว่าปีนี้นายกฯจะ “เอาอยู่” เพราะยังอีกหลายเดือน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image