รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯกับการพัฒนาครู : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดำเนินโครงการคัดเลือกครูเพื่อรับรางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหาจักรี 2 ปีครั้ง มีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นองค์กรสนับสนุน ครั้งแรกปี 2558 ครั้งที่สองปี 2560 พิธีพระราชทานรางวัลเสร็จสิ้นไปเมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา มีครูไทยและครูจากประเทศอาเซียนได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลพระราชทานทั้งสิ้น 11 ท่าน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรางวัลเป็นปีที่สอง พระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ซาบซึ้ง เป็นเกียรติประวัติแก่ครูผู้ได้รับรางวัลทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง

ความสำคัญและความน่าสนใจของรางวัลดังกล่าว นอกจากกระบวนการคัดเลือก กลั่นกรองที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งลูกศิษย์ เพื่อนครู ชุมชน โรงเรียน สมาคมหรือองค์กรที่มีการคัดเลือกครูแล้ว อยู่ที่หลักเกณฑ์ คุณสมบัติของครูผู้ได้รับการคัดเลือก บนพื้นฐานหลักการสำคัญ คือ เป็นครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของศิษย์และผู้มีคุณูปการต่อวงการการศึกษา

ในเชิงระบบผลของโครงการ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้นหาและพัฒนาครู ที่มีคุณสมบัติ การดำเนินชีวิต การปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นแบบอย่าง ป่าวประกาศให้รับรู้ การยอมรับยกย่องกว้างขวางยิ่งขึ้น

Advertisement

ที่สำคัญให้ครูเหล่านี้ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ความคิด ความรู้ ความสามารถ เทคนิควิธีการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนกันและกัน ให้ครูที่มีโอกาสได้รับรู้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละท่าน แต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชน ขณะเดียวกันในระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับนโยบายนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประกอบแนวทางการดำเนินงาน แก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษา

ความเป็นจริงที่พบในตัวครูผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน รวมทั้งรางวัลระดับรองลงไปในส่วนประเทศไทย ได้แก่ รางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณและครูขวัญศิษย์ จะพบว่าครูเหล่านั้นล้วนมีคุณลักษณะ คุณสมบัติของความเป็นครูคล้ายคลึงกัน คือ เสียสละ ทุ่มเท มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู มีวิธีการอบรม สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ ดูแล ช่วยเหลือเด็กนักเรียน ทั้งเด็กปกติ เด็กพิเศษ เด็กพิการ เด็กขาดโอกาส เด็กยากจน ครูให้โอกาสในชีวิตกับพวกเขา ไม่ว่ายากดีมีจน ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคมระดับไหน ครูปฏิบัติเหมือนกันหมด

ครูปิดช่องว่างระหว่างเด็ก เพราะจิตใจของครูไม่มีช่องว่าง นั่นเอง..

Advertisement

นอกจากช่วยเหลือดูแลนักเรียนและโรงเรียนแล้ว หลายคนอุทิศตัวเข้าช่วยเหลือชุมชน ร่วมทำโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยจิตใจแห่งความเอื้ออาทรต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความยากลำบาก โดยเฉพาะนักเรียนของครู โดยมิได้คาดหวังรางวัลตอบแทน แต่ต้องการเห็นอนาคตที่ดีและยั่งยืนของศิษย์ของครูเป็นสำคัญ
กระบวนการคัดเลือกและเคลื่อนไหวของมูลนิธิ และองค์กรเจ้าภาพสนับสนุน ทำให้วงการวิชาชีพครูได้รับความสนใจ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา เกิดประโยชน์ทั้งภายในประเทศและภายนอก เกิดความร่วมมือ ประสานงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นสังคม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ระหว่างครู ขยายวงกว้างจากระดับประเทศ สู่ระดับระหว่างประเทศและนานาชาติ

มูลนิธิเป็นตัวกลางเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ช่วยครู ช่วยโรงเรียน ช่วยชาวบ้าน เกิดโครงการในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เป็นงานความร่วมมือ
ระหว่างประเทศด้านการศึกษา 1 ในสามเสาหลักของปฏิญญาอาเซียน

การดำเนินชีวิต ประสบการณ์ และผลงานของครูที่ผ่านการคัดเลือกทุกท่าน ทุกชาติ สะท้อนถึงหลักการนำไปสู่ความสำเร็จ ล้วนเกิดจากการลงมือทำ เป็นครูนักปฏิบัติ สอนให้คิด สอนให้ทำ พัฒนาท่ามกลางการทำงาน เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม ทั้งตัวครูและศิษย์ ไม่ใช่วิทยฐานะเป็นเป้าหมายหลักแต่เป็นผลพลอยได้ของความเสียสละ ทุ่มเทเพื่อผู้อื่นก่อนโดยแท้

กระบวนการผลิตและพัฒนาครูที่สังคมการศึกษาไทยกำลังเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอีกวาระหนึ่งขณะนี้ จึงไม่ควรพลาดโอกาสและน่าจะได้ประโยชน์จากชีวิต ประสบการณ์ของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯทุกท่าน ดึงบทเรียนของครูเหล่านี้มาประกอบการกำหนดทิศทาง นโยบาย มาตรการต่างๆ

เปิดช่องทางรับฟังครูนักปฏิบัติคิดอย่างไร กระบวนการผลิตและพัฒนาควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลุกวิญญาณความเป็นครูให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของครู ไม่ว่าครู 4.0 หรือ 5.0 ก็ตาม

เป้าหมายสูงสุด ก็คือ สอนความเป็นคนที่สมบูรณ์ นั่นเอง..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image