กรมอุทยานฯส่งสายฯซื้อเนื้อตู้แช่ร้านอาหาร พิสูจน์ “พะยูน” จริงๆ เมนูยอดฮิต ผัดพริก แกงคั่ว

แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ขอยืนยันว่า เรื่องการล่าพยูนเพื่อเอาเนื้อ และอวัยวะส่วนต่างๆไปขายเป็นความจริง เพราะก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบหาข้อมูลในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง อยู่หลายวัน ได้ข้อมูลลับส่งกลับมาว่า มีการล่าพะยูนเกิดขึ้นจริง โดยชาวประมงบางกลุ่มในพื้นที่ ทั้งล่า และเอาซากพะยูนที่ตายติดเครื่องมือประมงกลับเข้าฝั่งโดยไม่แจ้งกับใคร เมื่อได้ซากพะยูนตายมาแล้วก็แล่เนื้อแยกออกเป็นส่วนๆ กระดูก และเขี้ยวก็แยกไว้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่แพงที่สุดคือ กระดูก และเขี้ยว ซื้อขายกันในราคากิโลกรัมละ 1 หมื่นบาท มีความเชื่อกันว่ากระดูกเอาไปทำยารักษาโรคมะเร็งได้ ส่วนเนื้อนั้น มีรสชาติคล้ายเนื้อวัว ราคากิโลกรัมละ 150 บาท คนที่ซื้อเนื้อพะยูนไปกิน เพราะราคาถูกกว่าเนื้อวัว ส่วนใหญ่นำไปทำแกงคั่ว หรือผัดพริก ที่มีรสชาติเผ็ดจัดๆ

“เจ้าหน้าที่ของเราไปเห็นเนื้ออะไรบางอย่างบรรจุอยู่ในถุง วางพร้อมขายอยู่ในตู้แช่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ถุงละ 1 กิโลกรัมบ้าง 2 กิโลกรัมบ้าง คนขายบอกว่า เป็นเนื้อพะยูน ตอนแรกไม่เชื่อ ว่าจะมีใครกล้าทำเช่นนี้ เพราะคนในพื้นที่จะรักและห่วงพะยูนกันมาก จึงขอซื้อเนื้อดังกล่าวไป 1 ถุง แล้วส่งไปพิสูจน์ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต ได้รับการยืนยันว่า เนื้อที่ส่งไปให้พิสูจน์นั้นเป็นเนื้อพะยูนจริงๆ”แหล่งข่าวจากกรมอุทยานฯกล่าว และว่า เมื่อมีการแจ้งเรื่องนี้เข้าไปในพื้นที่ กลับขอให้มีการปิดข่าวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะหากข่าวแพร่ออกไปจะทำให้จังหวัดเกิดความเสียหายได้ แต่ตนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก และพะยูนเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปพะยูนก็จะหมดไปจากทะเลแน่ๆ

ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่กรมอุทยานฯออกมาพูดเรื่องพะยูนนั้น ไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวโทษ หรือว่าใคร แต่ต้องการให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการดูแลสัตว์ตัวหนึ่งที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที และที่ต้องมาเจาะจงในพื้นที่ เกาะลลิบง จ.ตรัง เพราะเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดที่มีพะยูนเหลืออยู่มากที่สุดเวลานี้

“ต่อไปกรมอุทยานฯจะไปคุยกับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เพื่อหารือมาตรการในการดูพื้นที่ ประกาศพื้นที่ คุ้มครองทั้งพะยูน และหญ้าทะเล รวมทั้งเข้าไปติดตามในพื้นที่ว่า ยังมีใคร ในหมู่บ้านไหน ที่ยังมีพฤติกรรมการล่า หรืออยู่ในกระบวนการการล่าบ้าง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ข่าวที่ออกไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะทำให้พวกล่าพะยูนระวังตัวมากขึ้น และอาจจะหยุดชั่วคราว แต่กรมอุทยานฯต้องการให้คนพวกนี้หมดไป และหันกลับมาร่วมอนุรักษ์พะยูนอย่างยั่งยืน”นายธัญญา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image