ม.วลัยลักษณ์จัดประชุมนานาชาติ ICPSA 2017 สร้างเครือข่ายต่อยอดงานวิจัยด้านพลาสมาสู่นวัตกรรม

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “10th International conference on plasma science and application (ICPSA) 2017” ครั้งที่ 10 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการรวบรวมนักวิจัยทางด้านพลาสมาและการประยุกต์มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่นักศึกษา นักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านงานวิจัยทางด้านพลาสมา นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่การสร้างนวัตกรรม พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง มีนักวิจัยจาก 10 ประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศออสเตรเลีย จีน อินเดีย เกาหลี แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ เข้าร่วมประมาณ 100 คน

ด้านผศ.ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมฟิสิกส์ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะประธานการจัดประชุม กล่าวว่า การประชุม ICPSA เป็นการจัดประชุมประจำปีของสมาคมพลาสมาอาเซียนแอฟริกัน จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปีนี้มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น มีหัวข้อในการประชุม ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มพลาสมาฟิวชั่นและพลาสมาโฟกัส เน้นการวิจัยพลาสมาพลังงานสูง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดแหล่งพลังงานทดแทนในอนาคตที่เราเรียกว่านิวเคลียร์ฟิวชั่น กลุ่มของพลาสมาเย็นเน้นการประยุกต์ใช้พลาสมาเป็นเทคโนโลยีในการรักษาทางการแพทย์โดยที่ไม่ต้องใช้ยาการประยุกต์ทางการเกษตร เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช การฆ่าเชื้อโดยไม่ใช้ความร้อน รวมถึงการประยุกต์พลาสมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น แก้ปัญหาอากาศเสีย น้ำเสีย การใช้พลาสมาทำลายขยะพิษ ขยะติดเชื้อ เป็นต้น และในกลุ่มที่เป็นการกลุ่มวิจัยทางด้านพลาสมาพื้นฐาน ศึกษาคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของพลาสมา ว่ามีคุณสมบัติทางฟิสิกส์อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะทำให้นำไปต่อยอดได้มากขึ้นในอนาคต

“ในอนาคตหากนักวิจัยสามารถวิจัยทางด้านฟิวชั่นได้สำเร็จ เราก็จะสามารถสร้างพลังงานจากน้ำได้และมีแหล่งพลังงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด และจะเป็นแหล่งพลังงานทดแทนพลังงานน้ำมัน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ต้องมีการวิจัยระยะยาว อาศัยความร่วมมืออีกมาก นอกจากนั้นเรายังสามารถนำพลาสมามาประยุกต์ในทางการแพทย์ การเกษตรและสิ่งแวดล้อม อาทิ การปรับปรุงคุณภาพของดิน ปรับปรุงคุณภาพของน้ำแทนยาฆ่าแมลง การปรับปรุงสร้างพันธุ์ใหม่ในระยะเวลาที่เร็วขึ้นที่ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม(GMO) การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม การทำฟิล์มบาง การเคลือบผิวโลหะให้แข็ง ซึ่งปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการวิจัยเรื่องเกษตรอยู่แล้ว และกำลังเริ่มต้นวิจัยการพัฒนาทางด้านฟิวชั่น และจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเครือข่ายวิจัยด้านฟิวชั่นของประเทศไทย ร่วมมือกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือที่สำคัญ” ผศ.ดร.หมุดตอเล็บ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image