นิยายอิงประวัติศาสตร์ ‘ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ’ : โดย กล้า สมุทวณิช

หากมีเส้นสมมติที่กำหนด “เรื่องจริง” ไว้ข้างหนึ่ง “เรื่องแต่ง” ไว้อีกข้างหนึ่ง โดยที่สุดปลายของฝั่งเรื่องจริงนั้น เป็นข่าวสาร ข้อมูล บทความทางวิชาการ ส่วนปลายทางเรื่องแต่งนั้นคือนิยายและนิทาน แล้ว “นิยายอิงประวัติศาสตร์” น่าจะมีจุดกำหนดวางไว้ช่วงกลางของเส้นที่ว่านั้น

ส่วนว่ามันจะอยู่ตรงกลางค่อนไปทางไหน ก็ขึ้นกับสัดส่วนของ “ประวัติศาสตร์” อันปะปนอยู่ใน “นิยาย” ซึ่งเจืออยู่ในแต่ละเรื่อง เพราะนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น คือการเขียน “เรื่องแต่ง” หรือนิยาย ที่มีเค้ามูลมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์หรือชีวประวัติของบุคคลก็ได้ โดยประวัติศาสตร์หรือชีวประวัตินั้นอย่างน้อยต้องมีเค้าโครงของความจริงในมุมใดมุมหนึ่งซึ่งยอมรับกัน โดยนิยายอิงประวัติศาสตร์จะยกเอา “แง่มุม” แห่งความจริงนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการบอกเล่าเรื่องราวออกมาแบบเรื่องแต่งนั้น

“ประวัติศาสตร์” ที่จะอยู่ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นบรรยากาศแห่งช่วงเวลาของเรื่องนั้น โดยมีบุคคลในประวัติศาสตร์นั้นดำเนินบทอยู่ไกลๆ โดยไม่ล่วงเข้าไปแตะต้องข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ใดๆ เลยก็ได้ โดยตัวละครในนิยายนั้นอาจจะเพียงใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้น หรือนิยายอิงประวัติศาสตร์อาจจะเข้าไปแตะต้องประวัติศาสตร์มากเข้าไปได้ด้วยการใช้บุคคลในประวัติศาสตร์เป็นตัวละครขับเคลื่อนเนื้อเรื่อง หรือเป็นไปได้แม้แต่การล่วงเข้าไปเพิ่มเติมจินตนาการในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ว่า นอกจากข้อมูลที่ได้รับการบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์แล้ว มีเรื่องราวอะไรอยู่เบื้องหลังหรือข้างเคียงสอดแทรกไปกับเหตุการณ์นั้นด้วยก็ยังได้

เพราะความที่ “นิยายอิงประวัติศาสตร์” นี้ตั้งอยู่ระหว่างเส้นแห่ง “เรื่องจริง” กับ “เรื่องแต่ง” นี้เอง จึงทำให้มันมีจุดได้เปรียบในตัวเองเหนือกว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันเป็นเรื่องที่มีเค้าลางแห่งความจริง และนิยายอันเป็นเรื่องซึ่งแต่งขึ้นทั้งหมด

Advertisement

นิยายอิงประวัติศาสตร์ถ้าเขียนโดยผู้เขียนผู้มีความสามารถทางวรรณศิลป์ที่ถึงพร้อมแล้ว และมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แข็งแรงมาสนับสนุน นิยายเรื่องนั้นสามารถจำลองห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ขึ้นมาในจินตนาการของผู้อ่านได้ ราวกับผู้อ่านนั้นอวตารเข้าไปอยู่ในยุคสมัยที่ล่วงพ้นไปนานนับแล้วได้ เช่นที่นักอ่านชาวไทยเกือบทุกคนมีประสบการณ์ของการหลุดไหลเข้าไปในแผ่นดินสยามในระหว่างรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถึงวันสิ้นสุดรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 ผ่านนิยายอมตะเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือได้สัมผัสกับบรรยากาศ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของปวงชนชาวไทย เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติพระนคร ในปี 2493 ผ่านนิยาย “สามเกลอ” พล นิกร กิมหงวน ตอน “วันรับเสด็จ” ของ ป. อินทรปาลิต

บรรยากาศของบ้านเมืองและเหตุการณ์ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในประวัติศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้การอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นให้รสชาติกว่าการอ่านงานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นการนำเสนอเรียบเรียงข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าล้วนๆ และความบันเทิงของนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นก็เหนือกว่าความบันเทิงเชิงนวนิยายทั่วไป ด้วยว่าปกติแล้ว เราจะรู้สึก “เข้าถึง” เรื่องแต่งงานเขียนเรื่องใดได้เป็นพิเศษนั้น เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือเราจะต้องมีประสบการณ์ร่วมไปกับเรื่องแต่งนั้นด้วย ซึ่งนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นแม้ไม่ใช่ประสบการณ์ร่วมโดยตรง แต่เรื่องราวในนิยายนั้นก็บอกเล่าข้อเท็จจริง เหตุการณ์ หรือบุคคลซึ่งผู้อ่านยอมรับอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องจริง มีตัวตนจริง ซึ่งตั้งอยู่บน “โลก” เดียวกันกับผู้อ่าน ไม่ใช่การสมมุติขึ้นทั้งหมดอย่างนิยายที่เป็นเรื่องแต่งจากจินตนาการโดยแท้ของผู้เขียน

เพราะจุดทีได้เปรียบกว่าทั้ง “ประวัติศาสตร์” และ “นิยาย” นี่เอง ทำให้นิยายอิงประวัติศาสตร์สามารถถ่ายทอดความนึกคิดและอุดมการณ์ให้ผู้อ่านได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งและแนบเนียน การอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ (หรือแม้แต่ในกรณีที่นิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นได้รับการแปรรูปเป็นสื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์หรือละคร) จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการอ่านและเสพรับด้วยว่า เรื่องราวในนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นมี “นิยาย” อันเป็น “เรื่องแต่ง” ผสมอยู่

Advertisement

บรรยากาศที่ได้รับเมื่ออ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น เป็นบรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นโดยวรรณศิลป์ของผู้ประพันธ์ ความนึกคิดของตัวละครและผู้คนนั้น ที่แท้แล้วก็คือความนึกคิดของผู้เขียนที่ถ่ายทอดลงไปในตัวละคร
แต่ละตัว

เช่นเดียวกันกับคำพูดและการกระทำของตัวละครในเรื่อง ก็เป็นคำพูดและการกระทำที่มาจากจินตนาการของผู้เขียนนั่นเองที่เจือเข้าไปในการกระทำหรือคำพูดจริงของบุคคลในประวัติศาสตร์นั้นๆ ที่ได้รับการบันทึกไว้

มักจะมีคำกล่าวว่า “ผู้ชนะนั้นจะได้เขียนประวัติ ศาสตร์” นั่นหมายถึงว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกไว้จะมาจากการบันทึกหรือการอนุมัติยอมรับจากฝ่ายที่มีอำนาจในการที่จะเลือกบอกเล่าแง่มุมที่เป็นคุณต่อตัวเองเป็นสำคัญ แต่สำหรับ “นิยายอิงประวัติศาสตร์” แล้ว “ประวัติศาสตร์” ถูกเขียนขึ้นโดย “ใครก็ได้” ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการประพันธ์ที่ดีระดับหนึ่ง ประกอบกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นวัตถุดิบ และขับเคลื่อนไปด้วยจินตนาการ อุดมการณ์ ค่านิยม และมุมมองทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะกล่าวหาขนาดว่าเป็นการ “ปลอมประวัติศาสตร์” ไปเสียก็ไม่ได้ เพราะยังมีธรรมชาติของตัวงานในความเป็น “นิยาย” ที่เป็นเรื่องแต่งนั้นค้ำยันเป็นความชอบธรรมอยู่

เพราะความที่อยู่ตรงกลางระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งของนิยายอิงประวัติศาสตร์นี้เอง ทำให้การอ่านนิยายประเภทนี้นั้นแม้จะเป็นเรื่องสนุกสนานซาบซึ้งเพียงไร แต่ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังในการอ่านว่า แม้เรื่องราวในนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นจะสนุกสนาน ภายใต้บรรยากาศที่สมจริงเพียงใด ตัวละครมีชีวิตจิตใจราวกับมีตัวตนอยู่เช่นไร แต่เรื่องในนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้นก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด การอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น ควรจะถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งของ “เครื่องชูรส” ในการเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างมีชีวิตและได้รสชาติเชิงอารมณ์ความรู้สึก แต่ไม่ใช่เพื่อการค้นหาความจริงอันล่วงพ้นนั้น

กระนั้น นิยายอิงประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นงานวรรณกรรมประเภทที่อ่านสนุกและได้รับความนิยมเสมอมา เช่นนิยายอิงประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ถือเป็นวรรณกรรมของโลก

เช่นที่จะขออนุญาตแนะนำ “Les trois Mousquetaires” ของ Alexandre Dumas ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ระดับโลกเล่มหนึ่งที่เขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ที่เพิ่งได้รับการแปลในฉบับสมบูรณ์ที่สุด โดย อาจารย์วัลยา วิวัฒน์ศร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ด้วยชื่อภาษาไทยว่า “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ไม่ใช่เพียง “สามทหารเสือ” เช่นที่เคยเรียกกันติดปาก ด้วยว่าที่แท้แล้ว นิยายเรื่องนี้เป็นบทแรกแห่ง “ไตรภาค” ของดาร์ตาญังซึ่งเป็นตัวเอกซึ่งเรารู้จักกันดี

โดยผู้ประพันธ์ดัดแปลงจากเรื่องราวชีวประวัติของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ Charles de Batz de Castelmore, Comte d’Artagnan ซึ่งเป็นทหารเสือรักษาพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ผู้สุดท้ายได้รับพระราชทานยศจอมพลในวันเดียวกับที่เขาเสียชีวิตในสงคราม

เรื่องราวในนวนิยายตอนดาร์ตาญังกับสามทหาร
เสือนี้ เป็นเรื่องราวตั้งแต่ครั้งที่ดาร์ตาญังในวัยหนุ่มเดินทางจากแคว้นกาสกอญเพื่อมาสมัครเป็นทหารเสือรักษาพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส และได้พบกับ “สามทหารเสือ” ผู้กลายมาเป็นเพื่อนตายของเขา คือ อาร์โทส ปอร์โทส และอารามิส และเรื่องราวทั้งหมดในเรื่อง คือ วีรกรรมครั้งแรกของดาร์ตาญังที่ได้พิสูจน์ฝีมือและความกล้าหาญเพื่อพิสูจน์ตนเองว่ามีคุณงามความสามารถพร้อมจะที่เป็นผู้บัญชาการแห่งกองทหารเสือแห่งพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม และรับราชการต่อเนื่องไปจนรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่

เหตุการณ์ในเรื่องของตอนนี้ เป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ราชอาณาจักรฝรั่งเศสตกอยู่ในห้วงแห่งสงคราม ทั้งสงครามระหว่างศาสนา คือฝ่ายแคทอลิกกับโปรแตสแตนต์ หรืออูเกอร์โนต์ และสงครามระหว่างชาติกับสเปนและอังกฤษ โดยเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ตามท้องเรื่อง คือการปิดล้อมเมืองลาโรแชลอันเป็นที่มั่นของพวกอูเกอร์โนต์ โดยกองทัพแห่งฝรั่งเศสที่นำโดยพระคาร์ดินัล และอัครมหาเสนาบดีริเชอลิเยอ (Armand Jean du Plessis de Richelieu, Cardinal-Duc de Richelieu)

ในสงครามที่เกิดขึ้นจริง และบุคคลซึ่งมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ ได้นำเอาดาร์ตาญังและผองเพื่อน ผจญภัยไปใน “ประวัติศาสตร์กระซิบ” ที่บางเรื่องมีเค้ามูลบันทึกไว้ ว่าด้วยความรักซ่อนเงื่อนและลับลมคมในแห่งราชสำนักอังกฤษและฝรั่งเศส การจารกรรม การทรยศหักหลังและความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันของแต่ละขั้วอำนาจ ผสมผสานกับเรื่องราวของความรัก สัจจะและความกล้าหาญ ของผองเพื่อนชายชาติทหาร ปริศนาของสตรีลึกลับและความเป็นมาอันซ่อนเร้นของแต่ละตัวละคร ภายใต้บรรยากาศของประเทศฝรั่งเศสยุคศตวรรษที่ 17 ซึ่งผู้เขียนสามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนย้อนเวลากลับไปเดินบนท้องถนนและสัมผัสแง่มุมแห่งนครปารีสในยุคสมัยนั้นได้ แม้ว่าตัวนิยายจะแต่งขึ้นทีหลังเรื่องราวดังกล่าวร่วมสองร้อยปีก็ตาม

และด้วยฝีมือการแปลระดับ “ชั้นครู” ของท่านอาจารย์วัลยา ทำให้การถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และสำนวนของผู้เขียนจากภาษาฝรั่งเศสให้สื่อมาเป็นภาษาไทยได้โดยรักษาทั้งอารมณ์และความรู้สึกเช่นเดียวกับในต้นฉบับได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจากที่ได้ฟังเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเบื้องหลังการทำงานแปลหนังสือเล่มนี้ ก็ได้ทราบว่า แม้แต่ถ้อยความเพียงหนึ่งประโยค ผู้แปลก็จำเป็นต้องหาข้อมูลมากมายเพื่อให้แน่ใจว่าการถอดความออกมาเป็นภาษาไทยนั้นถูกต้องตรงกับภาพในจินตนาการและเจตนารมณ์ของผู้เขียนในภาษาฝรั่งเศส เช่น สถานการณ์ของการยิงปืนใหญ่ต่อสู้กันนั้น เป็นการยิงกันอย่างไร การมัดมือตัวละครตัวหนึ่งก่อนจะประหารชีวิตนั้นควรจะอยู่ในท่าไหน รายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้มาจากการค้นคว้าและใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากผู้แปล โดยที่เราผู้อ่านใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นในการอ่านผ่านแต่ละประโยคเหล่านั้นไปอย่างลื่นไหล ยิ่งทำให้เรารู้สึกชื่นชมและรู้สึกว่าผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานแปลชั้นครู ที่สมบูรณ์และคู่ควรอย่างยิ่งสำหรับวรรณกรรมอมตะระดับโลกเล่มนี้

“ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ฉบับสมบูรณ์ภาษาไทยนี้ จึงเป็นทั้งนิยายอิงประวัติศาสตร์จากนักประพันธ์เอกของโลก และผลิตผลจากความทุ่มเทตลอดระยะเวลาสองปีของการทำงานของผู้แปลชั้นครู ซึ่งในฐานะของ “นักอ่าน” และ “คนเขียนหนังสือ” แล้ว คงต้องขอแสดงความขอบคุณจากหัวใจ ให้แก่ทุกท่านทุกฝ่ายที่ทำให้นิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลและจัดพิมพ์อย่างสมบูรณ์สวยงามที่สุดในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image