อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดวงเสวนา งานวิจัย “การสร้างรัฐและเครือข่ายอุปถัมภ์”

ภาพโดย สุธาวัฒน์ ดงทอง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานรัฐศาสตร์เสวนาวิชาการ หัวข้อการสร้างรัฐและเครือข่ายอุปถัมภ์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดย รศ.เวียงรัฐ เล่าว่า การศึกษาเรื่องระบบอุปถัมภ์ มีมานานแล้ว มีหนังสือภาษาไทยที่เป็นระบบพิมพ์เผยแพร่มาแล้วกว่า 30 ปี ในปัจจุบันเป็นเรื่องของการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบอุปถัมภ์ ต่อระบบการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงของเจ้าพ่อ

ทั้งนี้คนที่พยายามทำความเข้าใจสังคม มักมีคำถามว่าในปัจจุบัน รัฐบาลทหารซึ่งดูเหมือนไม่ได้มีความสามารถนักทำไมจึงสามารถครองอำนาจได้ ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น นอกเหนือไปจากกลไกการใช้ความรุนแรง รวมถึงการพิจารณาว่ารัฐไทยขับเคลื่อนอย่างไร ในพื้นที่นอกศูนย์อำนาจ

รศ.เวียงรัฐ เล่าถึงงานวิจัย ที่ได้เดินทางไปทั่วประเทศ กว่า 8-10 จังหวัด เพื่อที่จะสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลกับคนจำนวนมาก โดยมุ่งเป้าไปที่การศึกษาความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การศึกษา Money Politics ว่ามีจริงไหมและมีกระบวนการอย่างไร ไปดูเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ว่ารณรงค์เลือกตั้งและรักษาฐานเสียงอย่างไร ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว โดยเฉพาะความสามารถในการครองใจประชาชน

รศ.เวียงรัฐ เริ่มเล่าการลงพื้นที่วิจัยในการไปพูดคุยกับหนึ่งในครอบครัวนักการเมือง ในจังหวัดภาคกลางตอนบน ได้ไปอยู่ด้วย 2-3 วัน โดยนักการเมืองคนดังกล่าวเล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ถึง 60 ปีก่อนพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแต่แม่เป็นคนที่มีลูกเยอะ โดยคนในครอบครัวคือแม่ถูกส่งไปผู้ใหญ่บ้านและกำนัน เมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยหวังเป็นเกราะป้องกันภัยโจรและข้าราชการ เพราะในอดีตมีเสือมาปล้นยุ้งข้าวที่เก็บเกี่ยวมา ส่วนข้าราชการก็เพราะกลัวการถูกเอาเปรียบ จึงต้องเป็นกำนันเพื่อให้คนเกรงใจ โดยดำรงตำแหน่งกำนันมาอย่างยาวนาน เพราะรักษาอิทธิพลและเครือข่ายของตัวเอง นอกจากนี้ยังได้รางวัลสารพัดจาก มท. เพราะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเกณฑ์คนเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐ มีความสามารถในการประสานอำนาจส่วนกลาง และยังสามารถกระจายเงินเล็กๆน้อยๆที่ได้มาทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย ให้กระจายไปยังสมาชิกตำบล เป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่

Advertisement

รศ.เวียงรัฐเล่าต่อว่า ต่อมา สามีของกำนันคนดังกล่าวได้เป็น ส.ว. และลูกเขยได้เป็น ส.ส. ปัจจุบันญาติพี่น้องกว่า 30 คนเข้าไปอยู่ในสภาท้องถิ่นต่างๆ เช่น อบจ. อบต.

จากนั้น รศ.เวียงรัฐ เล่าว่า ได้เดินทางไปวิจัยที่จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวมีค่ายทหารและอยู่ชายแดน เป็นอีกจังหวัดที่แปลกมาก เพราะมีเครือข่ายอิทธิพลแบบโบราณคล้ายกับกำนันเป๊าะ กล่าวคือมีธุรกิจผิดกฎหมาย สีเทา แล้วนำเงินมาให้คน เพื่อเลือกผู้แทนที่เสี่ย หรือเจ้าพ่อพวกนี้ขอให้เลือก แต่บังเอิญมีช่องว่างคล้ายกรณีกำนันเป๊าะ กล่าวคือเจ้าพ่อคนนี้หมดวาสนาลง อีกฝั่งนึงโจมตีจนตำรวจค้นเจอหลายคดีและต้องหนี ทำให้มีการเปลี่ยนพรรคทางการเมือง โดยพรรคใหม่ก็จำเป็นต้องใช้เครือข่ายแบบเดิม ที่เน้นเงินและระบบอุปถัมภ์ แม้พรรคการเมืองนี้เป็นพรรคการเมืองใหญ่และไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียง เพราะมีนโยบายที่ดี แต่สำหรับจังหวัดนี้ก็ต้องนำเงินเข้ามา เพื่อใช้ในการซื้อเสียงโดยเงินก็มาจากผู้รับเหมาที่ระดมทุนกัน เมื่อเข้ามามีอำนาจก็จะตอบแทนผู้รับเหมา

Advertisement

“จากการลงพื้นที่ทางภาคอีสานพบว่าคนอีสานยุคหลังมีวาทกรรมอันหนึ่ง เป็นวาทกรรมว่า ส.ส.คือผู้แทนช่วยคนยากคนจน ซึ่งนับว่าเป็นการเมืองทางบวกมากขึ้น เพราะจะต้องมีนโยบายหรือโครงการที่เห็นชัด เช่นโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร โครงการโอท๊อป โครงการช่วยเหลือคนชรา เป็นต้น พูดง่ายๆก็คือตัวแทนของภาคนี้จะต้องมีหน้าที่ช่วยเหลือกระจายทรัพยากรให้กับประชาชน โดย ส.ส.พยายามใช้คอนเน็กชั่นที่อยู่ในกรมต่างๆ ด้วยความเป็นข้าราชการเก่า รู้กลไกภาครัฐดี รวมถึงเป็นคนที่สนิทและทำงานให้กับนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งคนอีสานตอนบนชื่นชอบ” รศ.เวียงรัฐ ระบุ

รศ.เวียงรัฐกล่าวว่า รูปแบบความสัมพันธ์ทั้งสามกลุ่มที่กล่าวมา คือแบบที่เน้นกระจายผลประโยชน์ หรือแบบที่กินเยอะ หรือแบบที่ไม่ได้หวังอะไรมากขอให้เครือญาติมีตำแหน่ง ทั้งสามรูปแบบผูกพันกับระบบราชการ ล้วนแล้วแต่ใช้กลไกราชการ เพื่อนำงบประมาณมากระจายให้ตรงจุด

ส่วนประเด็น Clientelism หรือความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์ มีลักษณะเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะเข้าไปอยู่ในระบบการเมือง หรือไม่ก็ได้ โดยในกระบวนการการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งเราจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์แบบนี้จะถูกใช้ตั้งแต่เริ่มต้นหาเสียง การเข้ามาเมื่อมีคะแนนเสียง และการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในพรรคการเมืองจึงมีระบบอุปถัมภ์แม้ในขณะที่พรรคการเมืองถูกยุบไปแล้ว ช่วงที่พรรคการเมืองเข้มแข็งหรืออ่อนแอก็ยังมีระบบอุปถัมภ์ หรือแม้แต่สถาบันที่สำคัญมากอย่างสถาบันราชการ

ทั้งนี้ หลัก Clientelism เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนสองคน มีการแลกเปลี่ยน มีความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น มีความต่อเนื่องและหลุดออกจากระบบนี้ยาก ดังนั้นในทางการเมือง ระบบนี้จึงไม่ได้อยู่บนหลักนิติรัฐ ทั้งยังเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการคอร์รัปชั่น แม้ไม่ใช่นิยามเดียวกัน รวมถึงเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของคนส่วนใหญ่ กรณีนี้จึงเกิดการกระจายทรัพยากร ยกตัวอย่าง การฝากลูกเข้าเรียน ช่วยเคลียร์กับตำรวจ ตรงนี้ถือเป็นทรัพยากรทั้งหมด ยกตัวอย่างที่ตนเองไปสัมภาษณ์นักการเมือง วันเดียวมีเรื่องขอให้ช่วยเข้ามาถึงสามเรื่อง ตั้งแต่อุบัติเหตุบนถนนที่ผู้แทนฯจะช่วยเคลียร์ให้หนักเป็นเบา หรือต่อรองกับตำรวจไม่ให้ถูกใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ตรงนี้คือความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ในทางการเมือง

รศ.เวียงรัฐ ระบุว่า โดยงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของการศึกษาเครือข่ายการเลือกตั้ง การรณรงค์เลือกตั้งรวมถึงเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งและหัวคะแนน จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าระบบเลือกตั้ง ช่วยให้เกิดพลวัตในแง่ของการกระจายทรัพยากรมากขึ้น อันเกิดจากการที่รัฐไทยมีปัญหาเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากร  ซึ่งยิ่งมีการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น การใช้เงินที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะก็มีมากขึ้น

ทั้งนี้รัฐสมัยใหม่เป็นรัฐที่ต้องการการพัฒนาโดยใช้หลัก Rule of Law โดย Clientelism หรือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์บางครั้งก็ทำให้รัฐอ่อนแอหรือทำให้สังคมเกิดปัญหา ซึ่งจากประสบการณ์การเมืองในยุโรปมีหลักคือทำอย่างไรจะทำลายผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่น เพื่อให้รัฐครองอำนาจสมบูรณ์และเปลี่ยนสังคมให้เป็นสังคมสมัยใหม่ได้ แต่รัฐไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะรัฐไทยไม่ได้สนใจการเปลี่ยนผ่านทางสังคม แต่รัฐไทยเลี้ยงระบบนี้เอาไว้เพื่อให้ผู้ว่าฯทำงานได้ง่ายขึ้น ให้นายอำเภอเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันสามารถรู้ได้ว่าใครเป็นโจร จึงจะเห็นว่ารัฐไทยไม่ได้ปฏิรูปสิ่งเหล่านี้

ตอนอบต.รุ่งๆกินเท่าไหร่ 30 % แล้วเทศบาลหล่ะ 30-40 % ส่วนข้าราชการก็ไม่ต้องคิดเลย หักไปแล้วตั้งแต่เงินออกมา พูดง่ายๆคือมันเหมือนเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบแบบแผนที่รู้กันมา40-50 ปีแล้ว อาจจะมีลดเพิ่มบ้าง ถ้าคุณเกี่ยวข้องกับราชการก็จะรู้สึกว่ามันธรรมดา แม้แต่ข้าราชการที่ดีคนนึง ไม่ทุจริตอะไร แต่มันก็มีเงินเข้ามา ก็จะให้ลูกน้องเอาไปบริจาค ส่วนข้าราชการที่เก็บก็จะมีห้องใต้ดิน มีพระจำนวนมาก มีเงินสด ดังนั้นคนจึงตกใจเวลามีข่าวปลัดกระทรวงๆหนึ่ง ที่เรื่องแดงออกมา ซึ่งคนต่างจังหวัดเขารู้สึกว่าคนกรุงเทพจะไปตกใจอะไร มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น” รศ.เวียงรัฐ เล่าข้อมูลที่ผู้ถูกสัมภาษณ์เปิดเผยให้ฟัง

รศ.เวียงรัฐ กล่าวต่อว่า ระบบเหล่านี้ไม่ขึ้นกับตัวบุคคล และมีการสืบทอดจนดำรงตัวเองได้ ทำให้สังคมลดการตั้งคำถามและเพิ่มความชอบธรรมของตัวเองให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยต้องมีการตอบแทนด้วยถึงจะนับเป็นสถาบันทางการเมือง ที่สำคัญคือมีอิทธิพลต่อกฎหมาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ดังนั้นตนจึงคิดว่า ตัวการหรือสถาบันที่สำคัญที่สุดคือระบบราชการที่ทำให้เครือข่ายอุปถัมภ์มันเติบโตขึ้นมาและขยายต่อไปได้ พูดง่ายๆคือมีการเลี้ยงดูเติบโตฟูมฟักมาด้วยกัน โดย เฉพาะในช่วงสร้างรัฐสมัยใหม่

“ยกตัวอย่างงานที่อธิบายช่วงนี้เช่นงานของอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่พูดถึงระบบราชการหรือที่เรียกว่า “ระบอบใหม่ ในกลไกแบบเก่า” หมายถึงระบอบเปลี่ยนแต่กลไกรัฐไม่เปลี่ยน กรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่มีระบอบใหม่ ใช้กลไกการปกครองรัฐแบบเก่า โดยหนังสือ 100 ปีการปฏิรูประบบราชการไทยของอาจารย์ชี้ให้เห็นว่าระบบราชการไทยไม่มีการปฏิรูป เพราะไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันทางการเมืองทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลง มีการปฎิรูป แต่ระบบราชการไม่มีเลย ที่สำคัญที่สุดระบบราชการคือองคาพยพที่เข้มแข็ง สามารถอยู่รอดได้และมั่นคง รัฐไทยมีความเข้มแข็งกว่าหลายประเทศและสามารถอยู่ได้ด้วยระบบราชการ” รศ.เวียงรัฐ กล่าว

รศ.เวียงรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างในปัจจุบันที่รัฐบาลทหาร ซึ่งไม่น่าจะเข้าใจกลไกอะไรในสังคมมาก สามารถอยู่รอดได้ก็เพราะสามารถสั่งการและใช้ระบบราชการที่มีความชำนาญ มีระเบียบวิธีการปฏิบัติ ที่สัมพันธ์กับสังคม พ่อค้าวาณิชย์ แต่เมื่อเมืองไทยมีการกระจายอำนาจ นี่คือครั้งแรกที่ระบบราชการถูกปฏิรูป มันถูกแบ่ง แยก และถ่ายโอนอำนาจ รวมถึงดึงงบประมานมาสู่ระบบผู้แทนของประชาชน มันเลยทำให้เกิดการปรับตัว ซึ่งส่งต่อการปรับตัวของระบบอุปถัมภ์บางส่วน ดังนั้นหากคุณจะทำให้รัฐไทยเป็นรัฐแบบเดิม ก็ง่ายนิดเดียวนั่นคือคุณต้องหยุดการกระจายอำนาจ นั่นคือเหตุผลที่คสช.หยุดการกระจายอำนาจเพื่อดึงให้รัฐไทยเป็นรัฐแบบเดิม โดยมีระบบราชการเป็นตัวนำพา State Capability หรือ ความสามารถของรัฐ

ทั้งนี้ระบบอุปถัมภ์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐโดยการสร้างรัฐจะเริ่มจากการรวมศูนย์อำนาจ เพื่อครองอำนาจในพื้นที่ ผ่านเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ โดยในช่วงต้นของการสร้างรัฐสมัยใหม่ ถ้าไปดูเอกสารต่างๆ จะพบข้อเสนอสำคัญว่ารัฐไทยต้องการครองความเป็นใหญ่หรือ Domination คือต้องการปกครองให้สำเร็จ ซึ่งในหลายประเทศ การจะปกครองให้สำเร็จคือต้องทำให้เป็นสมัยใหม่ พูดง่ายๆคือเปลี่ยนจากการเชื่อในรอยสักอาคมทั้งหลาย เป็นการเคารพกฎหมาย เปลี่ยนจากเชื่อภูตผีปีศาจเป็นเชื่อเหตุผลวิทยาศาสตร์ ซึ่งในส่วนระบบราชการเช่นเรื่องสาธารณสุขมีการเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่สำเร็จ แต่ในเรื่องตำรวจรวมถึงในขรก.มหาดไทยยังจำเป็นต้องใช้สัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์อยู่เยอะมากในช่วงต้น เช่นตำรวจยินดีที่จะใช้เครือข่ายอุปถัมภ์ในการล่าคนร้าย ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนันใช้เครือข่ายอุปถัมภ์ในการปกครองเกิดการรวมศูนย์อำนาจสำเร็จ มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ State Capability หรือ ความสามารถของรัฐในการพัฒนาต่างๆ รวมถึงสร้างอุดมการณ์รัฐ สร้างภาษา ให้คนอยู่รวมเป็นชาติเดียว และเชื่อฟังกลไกรัฐที่ใช้ความรุนแรงด้วย ซึ่งระบบราชการก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันที่ใครอยากประสบความสำเร็จในชีวิตก็ต้องเข้าสู่ระบบราชการ

รศ.เวียงรัฐ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ เครือข่ายอุปถัมภ์ยังถือเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับสังคม ทำให้รัฐไม่ต้องสัมพันธ์กับประชาชนโดยตรง โดยอาศัยเครือข่ายเหล่านี้ในการกระจายทรัพยากร รวมถึงรัฐก็ไม่ต้องสร้าง Rule of Law แต่เป็นการสร้างกฎเกณฑ์หรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

“ทั้งนี้ในอนาคตหากมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประเทศอยู่ในวังวนของการเลือกตั้งมากขึ้น มันก็จะทำให้เครือข่ายราชการลดความสำคัญลงไป เพราะสนามของอำนาจ State Capability มันจะย้ายมาอยู่ที่สถาบันทางการเมืองอื่นๆ ยิ่งถ้าทำให้รัฐสภาเข้มแข็ง ระบบผู้แทนเข้มแข็ง เรื่องเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนและมีการกระจายอำนาจ แต่ในอนาคตก็ยังมองไม่เห็นเพราะมีความพยายามสร้างรัฐไทยปัจจุบันให้กลับไปเป็นรัฐที่ระบบราชการเป็นใหญ่” รศ.เวียงรัฐ กล่าวทิ้งท้ายการเสวนา ก่อนเปิดให้มีการแลกเปลี่ยน

โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัตรพันธุ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคำถามว่าเมื่อรัฐมีความเข้มแข็งของราชการ แล้วอะไรคือตัวขับเคลื่อนดังกล่าว รวมถึงขับเคลื่อนภาวะความเป็นสมัยใหม่ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาทางการเมือง

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคำถามว่าต้องดูว่ารัฐไทยมีเป้าหมายอะไรในการปกครอง นอกจากนี้ ชนชั้นกลางที่ออกมาที่มีแนวคิดอยากปฏิรูประบบราชการ สร้างความเหตุเป็นผล มีจุดยืนรังเกียจ Clientelism ในชนบท เขาได้ประโยชน์อะไรที่เป็นอยู่แบบนี้ เขาเป็นศัตรูกับ Clientelism เพราะเหมือนกับว่า Clientelism เป็นส่วนไม่ดี แต่ก็เป็นเครื่องมือการปกปิดของรัฐ ขณะที่ชนชั้นกลางไทยก็ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐ อยากใช้รัฐไปจัดการคนเหล่านี้ โดยที่ไม่เชื่อในการใช้ประชาธิปไตยจัดการคนเหล่านี้ ต้องการคนดีไปปกครอง มีระบบราชการที่ดีที่เข้าไปแก้ปัญหาในส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ต้องการระบบเลือกตั้งหรือมีความศรัทธาในพลังประชาชนและการจัดการท้องถิ่น สรุปว่าตำแหน่งแห่งที่ของชนชั้นกลางจะอยู่ตรงไหน

นอกจากนี้เมื่อ Clientelism มีหลายมิติมาก ทั้งแบบที่ระบบราชการทำกันเอง หรือแบบที่ Clientelism มันสัมพันธ์กับสังคม กรณีกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งรัฐไทยมีการเปิดให้มีการเลือกตั้ง คล้ายกับจีนที่เปิดให้มีการเลือกตั้งบางระดับ รัฐแบบนี้จึงน่าสนใจ เพราะเป็นการจำกัดการเลือกตั้งให้ทำงานไปในแบบที่มันต้องการ การเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านจึงสำคัญเพราะเป็นการเลือกตั้งเพื่อไปเป็นลูกน้องระบบราชการ

โดย รศ.เวียงรัฐ ตอบคำถาม ระบุว่า เวลาเรามองการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือ Social Change ในภาพรวม สังคมสมัยใหม่มันจะเกิดขึ้นมาจากคนกลุ่มน้อยและคนเหล่านี้จะรักษาอำนาจ หรือรวมศูนย์อำนาจไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นพลังขับเคลื่อนของรัฐสมัยใหม่คือการรวมศูนย์อำนาจ เกิดเป็นรัฐ ก่อนจะมีการกระจายอำนาจในยุคต่อมา ซึ่งระบบราชการก็คือกลไกขับเคลื่อนสำคัญของรัฐ ส่วนชนชั้นกลางถือเป็นชนชั้นที่มีอภิสิทธิ์ จนกระทั่งพัฒนาการสังคมก่อให้เกิดชนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อยๆหรือเกิดชนชั้นกลางใหม่จากชนบท มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการไม่ได้เป็นชาวนาแบบเดิมอีกต่อไป จึงต้องการมีส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองจากเดิมที่ชนชั้นกลางมีอภิสิทธิ์ทางสังคมที่สุด ตั้งแต่ก่อนระบอบทักษิณ ตัวอย่างคือ แม้ชนชั้นกลางจะไม่มีเงินเยอะแต่เมื่อไปติดต่อราชการกรมไหนก็ยังมีเพื่อน สามารถลัดคิวได้หรือได้ข้อมูลพิเศษ คือลักษณะความสัมพันธ์ซึ่งระบบราชการเป็นระบบที่สร้างให้ชนชั้นราชการหรือเครือข่ายของคนที่รับราชการกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนแบบหนึ่ง ชนชั้นกลางจึงเป็นชนชั้นที่ไม่จำเป็นต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ระบบอุปถัมภ์หมดไปเพราะได้ประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์ ทั้งนี้ระบบราชการถูกขับเคลื่อนด้วย Modernity แบบไทย และถูกท้าทายมากที่สุดช่วงหลังรัฐธรรมนูญปี2540

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image