ประเทศไทยต้องก้าวให้พ้นกับดัก ด้านการผลิต โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

เมื่อมีข่าวเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวหมายเลข 1 ของโลกทีไร ดูเหมือนพวกเราจะพากันเสียอกเสียใจกันยกใหญ่ และพยายามที่จะแย่งแชมป์กลับคืนมาให้ได้ ไม่ว่าจะจากเวียดนามในปัจจุบัน หรือพม่าในอดีต

โดยสภาพทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยึดโยงอย่างใกล้ชิดกับข้าว ทำให้คนไทยยึดอาชีพปลูกข้าวต่อเนื่องกันมานานแสนนาน จนอาชีพทำนาได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ อันแปลความได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อชาติประเทศกันเลยทีเดียว

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 80 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปี 65 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 15 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวนาปี 28.5 ล้านตัน นาปรัง 10 ล้านตัน (ตัวเลขปี 2556-กรมการข้าว) การปลูกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2556 พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 12 สำหรับข้าวนาปี และร้อยละ 15 สำหรับข้าวนาปรัง ด้วยการคมนาคมที่ดีขึ้น การแทนที่โคและกระบือด้วยรถแทรกเตอร์เพื่อทำงานในนา ระบบชลประทานที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ตลอดจนข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวมากขึ้น การปลูกข้าวส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงร้อยละ 57 ภาคเหนือร้อยละ 22 ที่เหลือเป็นภาคกลางและภาคใต้

อย่างไรก็ตาม ข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้แม้จะถูกส่งออกเป็นข้าวที่สีแล้ว ในรูปของข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวเหนียว และข้าวนึ่ง ฯลฯ แต่ธรรมชาติของสินค้าก็ยังคงมีความเป็น “คอมมอดิตี้” ทำนองเดียวกับข้าวโพดหรือยางพารา กล่าวคือ ราคาจะขึ้น-ลงค่อนข้างผันผวนตามอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) ในแต่ละปี ถ้าปีไหนผลผลิตน้อย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ก็จะสูง ถ้าผลผลิตออกมามาก ราคาก็จะลดฮวบฮาบลง โดยที่ “ต้นทุน” อันเกิดจากค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ จะคงที่ อาจเปลี่ยนแปรบ้างเล็กน้อยตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตของแต่ละคน

Advertisement

ปัญหาทำนองนี้เกิดกับสินค้าเกษตรซึ่งถูกนับให้เป็นพืชเศรษฐกิจแทบทุกตัว นอกจากข้าวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ที่โด่งดังมากอีกตัวหนึ่งก็คือยางพารา เพราะมีผู้ยึดเป็นอาชีพจำนวนมาก พื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศมีประมาณ 22 ล้านไร่ กว่าครึ่งหนึ่งปลูกอยู่ในภาคใต้ เฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลามีพื้นที่ปลูกยางรวมกันมากกว่าที่ปลูกอยู่ในภาคอีสานทั้งหมด คือเกือบ 5 ล้านไร่ทีเดียว

การเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนคงที่ อันเกิดจากค่าจ้างกรีดยาง ค่าแปรสภาพเป็นยางแผ่นดิบ ค่าจัดเก็บ ฯลฯ เฉลี่ยตกกิโลกรัมละ 50 บาท ถ้าราคายางต่ำกว่านี้ เกษตรกรก็อยู่ไม่ได้แล้ว นี่จึงเป็นปัญหาอีหรอบเดียวกันกับกรณีของข้าวดังที่กล่าวมาข้างต้น

ปัญหาเช่นนี้เกิดมาชั่วนาตาปี และก็มีดราม่าให้พวกเราได้เห็นกันทุกปีถึงความลำบากของพี่น้องชาวนาและชาวสวนยางที่ต้องเผชิญกับการขายข้าวขาดทุน ขายยางไม่ได้ราคา มีหนี้สินพะรุงพะรัง ยังผลให้รัฐบาลยุคต่างๆ ต้องยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งกลไกก็แสนสลับซับซ้อน ใช่ว่าจะแก้ไขได้โดยง่าย

Advertisement

แอบมองประเทศที่ไม่มีที่ทางในการทำเกษตรอย่างเพื่อนบ้านสิงคโปร์ เขาก็เลยไม่มีปัญหานี้ ด้วยสภาพการณ์บังคับ ไม่มีพื้นที่ปลูกทุเรียน จึงสั่งทุเรียนจากประเทศไทยไปค้าขายเสียเลย จนกลายเป็นตลาดกลางในการค้าทุเรียนไปฉิบ

พูดง่ายๆ คือ ประเทศไทยเป็น “ผู้ผลิต” แต่สิงคโปร์เอาไป “ทำตลาด” และเขาก็ได้ส่วนต่างจากการคัดทุเรียนเกรดดี เสริมเติมด้วยบริการอื่นๆ (Value Added Services) ที่ลูกค้าต้องการ

ประเทศเราในอดีตจนถึงปัจจุบันยังเกาะเกี่ยวอยู่แต่กับภาคการผลิต เราจึงมีกรมวิชาการเกษตรที่เน้นงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิต ทั้งข้าว ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ มีกรมการข้าวที่ดูแล “การผลิตข้าว” เป็นหลัก ถ้าเข้าไปดูโครงสร้างของกรมก็จะเห็นชัดเจน เช่น กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กองวิจัยและพัฒนาข้าว สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ฯลฯ โดยเน้นด้านการตลาดไม่มาก หรืออาจไม่มีเลย กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวและกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ อาจมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์” อยู่ แต่ไม่ทราบว่ามีภารกิจมุ่งเน้นไปทางการตลาดมากน้อยเพียงใด

เมื่อให้ความสำคัญกับงานด้านการตลาดน้อย หรือแทบไม่มีเลยเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พืชเศรษฐกิจตัวนี้ช่วยแค่ให้ประเทศได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลก (เพราะผลิตได้เยอะ) แต่บรรทัดสุดท้ายขาดทุน เพราะขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน ผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) รายใหญ่สุด ซึ่งก็คือชาวนา จึงได้รับความเดือดร้อน

ในเชิงยุทธศาสตร์และโครงสร้าง ถ้าจะปฏิรูปให้ได้ผล ประเทศไทยต้องพาตัวเองก้าวให้พ้นกับดักด้านการผลิตโดยเร็ว หันมามองผลิตผลเชิงเศรษฐกิจทุกตัวอย่างครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม ดูให้ทะลุจากหัวถึงหาง และมุ่งเน้นงานด้านการตลาดมากขึ้น การจัดโครงสร้างในกรมกองต่างๆ ควรต้องปรับให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวนี้ มีกรมหรือกระทรวงเกี่ยวกับการตลาดมารับผิดชอบในการวางยุทธศาสตร์อย่างมีหลักการและเป็นมืออาชีพ เพื่อกำหนดตัวผลิตภัณฑ์ที่จะผลักดันอย่างสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ดูแล้ว ก.พ.คงต้องรีบให้ทุนข้าราชการไปเรียน MBA ที่ Harvard หรือ IMD เพื่อให้กลับมาช่วยกันกำหนดทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมในเชิงธุรกิจก็จะดีไม่น้อย

ปัญหาที่คาราคาซังมานาน อาจต้องคิดใหม่ทำใหม่ จึงจะแก้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าจะปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ผมขอเสนอเรื่องนี้ให้ท่านผู้มีอำนาจอยู่ในตอนนี้พิจารณาด้วย ไม่ทราบว่าจะช้าเกินไปไหม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image