‘พระเมรุมาศ’ ล่าสุด ก่อนพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตร

 

ในการก่อสร้าง พระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีการซ้อมพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตร ยอดพระเมรุมาศ ครั้งที่ 2 โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมเข้าร่วม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเข้าสู่พิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตร ยอดพระเมรุมาศ ในวันที่ 18 ตุลาคม การซ้อมทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น และล่าสุดได้มีการติดตั้งผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ ประดับสำซ่างและประดับหอเปลื้องเรียบร้อยแล้ว

นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ เล่าว่า ผ้าม่านดังกล่าวใช้สำหรับบังสายตาไม่ให้เห็นเวลาเปลื้องพระโกศ และประกอบพระโกศจันทน์ โดยผ้าม่านครั้งนี้มีความพิเศษกว่าทุกพระเมรุที่ผ่านมา ตรงที่เป็นผ้าไหมทอ มีความยาวถึง 15 เมตร ต่างจากอดีตที่ใช้การติดลายทองแผ่ลวดหรือไม่ก็ลายกระดาษทองย่น ไม่ได้ใช้ทอ

Advertisement

“ลายผ้าไหมทอ ผมออกแบบเป็นลายโคม และพุ่มข้าวบิณฑ์ ใจกลางลายพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเทพยดาทรงช้างไอยราพตหรืออีกนัยหนึ่งคือพระอินทร์นั่นเอง ส่วนลายโคม มีพระพรหมอยู่ในช่องของตัวห้ามลายของขาโคม ตัวโคมเป็นเทพดาพนมกร ดูรวมๆ คือผ้าม่านที่เป็นลายอินทร์ พรหม สอดคล้องตามคติความเชื่อแต่โบราณราชประเพณีที่ว่าพระอินทร์ และพระพรหมอยู่ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์” นายสมชาย กล่าว

นอกจากนี้ ด้านในของผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ มีพระนามาภิไธยย่อ “ภปร” ด้วย

Advertisement

ส่วนประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ขณะนี้ได้มีการนำมาประดับเกือบ 100% แล้วโดยล่าสุดได้มีการประดับท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ ได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก ความสูง 2 เมตร อยู่ชั้นที่ 1 ประจำทิศทั้งสี่ของพระเมรุมาศ ตลอดจนมีการประดับครุฑยืน เทวดานั่ง เทวดายืน คชสีห์ ราชสีห์ เทพนมประดับท้องไม้พระเมรุมาศ ครุฑยุดนาคประดับท้องไม้พระเมรุมาศ เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศชั้นล่าง นาคราวบันได สัตว์ประจำทิศทั้ง 4 ได้แก้ ช้าง ม้า โค สิงห์ สัตว์หิมพานต์ ครุฑโคมไฟหัวเสา รวมถึง พระพิฆเนศ 2 องค์ด้วย ได้แก่ พระพิเนก และพระพินาย ประจำทิศตะวันตก โดยพระพิฆเนศมีกายเป็นมนุษย์ เศียรเป็นช้าง มี 4 กร พระพิเนกมีงาขวา พระพินายมีงาซ้าย โดยประติมากรปั้นให้พระพิเนก และพระพินายมีกายสูงใหญ่ ประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน ทรงเทพศาสตราวุธแตกต่างกันเล็กน้อย โดยพระพิเนก ถือดอกบัวตูม ถือสังข์ อีกสองมืออยู่ในท่าวรมุทรา (ประทานพร) และท่าอภัยมุทรา (ประทานอภัย) ส่วนพระพินาย ถือขอช้างอังกุศ ถือบาศ (เชือกบาศ) และอีกสองมืออยู่ในท่าวรมุทราและและอภัยมุทรา ขณะนี้เหลือการประดับคุณทองแดงและคุณโจโฉคาบไปป์ ที่จะต้องนำมาติดตั้งด้านข้างพระจิตกาธาน ในชั้นชาลาที่ 4

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งฉากบังเพลิงเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับที่พระที่นั่งทรงธรรม ได้มีการผนึกภาพเขียนจิตรกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ผนังทั้ง 3 ด้านเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศ ในวันที่ 18 ตุลาคมแล้ว จากนั้นจะมีการรื้อนั่งร้านให้เสร็จในวันที่ 19 ตุลาคมซึ่งจะถือว่าพระเมรุมาศเสร็จสมบูรณ์ 100%

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image