เครือข่ายกู้ชีพร้อง ‘ปิยะสกล’ ชะลอประกาศคุมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สพฉ.ย้ำเพิ่มมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) 10 องค์กรเครือข่ายกู้ชีพ กู้ภัยแห่งประเทศไทย ประมาณ 10 คน นำโดยนายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิฮุก 31 นครราชสีมา นายชวลิต รัตนสุทธิกุล ประธานกูภัยเขต 4 เครือสว่าง เดินทางมายื่นหนังสือถึงนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (บอร์ด สพฉ.) เพื่อขอให้พิจารณาชะลอการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ. 2560

นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายไม่ได้มีปัญหาที่จะออกประกาศกำหนดให้ผู้ปฏิบัติการกู้ชีพที่ผ่านการอบรมอย่างน้อย 120 ชั่วโมงขึ้นไปเท่านั้นที่จะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ ยินดีที่จะทำตามด้วยซ้ำ เพราะเป็นการยกระดับความสามารถของหน่วยกู้ชีพให้มีศักยภาพในการช่วยเหลือชีวิตประชาชนได้ แต่คิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะออกประกาศดังกล่าว เพราะกู้ชีพที่มีความสามารถอย่างที่บอกนั้นมีจำนวนไม่มาก ในขณะที่หน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐาน มูลนิธิต่างๆ ที่เป็นจิตอาสานั้นแม้จะผ่านการอบรมเพียง 24 ชั่วโมง แต่ก็มีความสามารถในการช่วยชีวิตประชาชนเหมือนกัน ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 แสนคน เราต้องการพัฒนาศักยภาพเช่นกัน แต่หน่วยที่พัฒนาศักยภาพยังไม่เพียงพอดังนั้นหากสพฉ.แก้ปัญหานี้ รวมทั้งเพิ่มอัตราผู้ปฏิบัติงานกู้ชีพขั้นสูงกว่าได้แล้วค่อยออกประกาศก็ได้ ทั้งนี้ออกประกาศมาเราไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน คนที่รอรับการรักษาตอนแรกอาการยังธรรมดาอยู่ แต่ถ้าไม่ได้รับการส่งต่อที่เร็วอาจะกลายเป็นผู้ป่วยวิกฤตได้

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุม บอร์ดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า ตามที่หน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่ผ่านการอบรม 40 ชั่วโมง เกิดความวิตกกังวล จะสามารถส่งต่อและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้นั้น ขอยืนยันว่า การปฏิบัติงานกู้ชีพของหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม สามารถให้การช่วยเหลือพื้นฐาน และส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมายังสถานพยาบาลได้ตามปกติ โดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ พ.ศ.2560 ยังไม่ได้ประกาศใช้ทันที แต่จะมีการหารือใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน นี้

Advertisement

นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวว่า ประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกีดกั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือส่งผลกระทบต่อประชาชน ตรงกันข้าม จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัย ให้เพิ่มชั่วโมง การอบรมมากขึ้น เพื่อการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน รถกู้ชีพฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และมีการประสานกับทีมแพทย์ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วย และรับบริการได้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสรอดชีวิต พร้อมแก้ปัญหากู้ชีพแย่งรับผู้ป่วยและรับเงิน เบื้องต้นอาจ มีการนำร่องในบางพื้นที่ก่อน จากนั้นก็ปรับเป็นมาตรฐานเดียวกัน เหมือนกันมาตราฐานเอชเอในรพ.

“ประกาศดังกล่าว จะมีผลให้รถกู้ชีพฉุกเฉิน มีมาตรฐานมากขึ้น เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน แยกและสังเกตง่าย ด้วยตัวรถ จะมีสีเขียวมะนาว ในกรณีเป็นรถใหม่ ส่วนรถเก่าจะใช้สติ๊กเกอร์ที่มีคิวอาร์โค๊ต ของสพฉ.บ่งบอก พร้อมกันประกาศฉบับยังเอื้อให้คนทำงาน ที่มีจิตอาสา หากประสบอุบัติเหตุ ยังสามารถได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา จากกองทุน การแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย “ นพ.อัจฉริยะ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image