อาชีวศึกษา : การปรับเปลี่ยนที่คาดหวัง : โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

บุคลากร คือองค์ประกอบที่มีส่วนอย่างสำคัญในความเจริญก้าวหน้าขององค์กร ประเทศที่พัฒนาแล้วประกอบไปด้วยประชาชนที่มีคุณภาพและการบริหารงานของผู้ปกครองประเทศที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม ประชาชนจะมีคุณภาพได้ก็ต่อเมื่อได้รับการศึกษาอย่างดีต่อเนื่องมาตามลำดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา หรืออาชีวศึกษาและควรให้การศึกษากับประชาชนไปจนตลอดชีวิต

การเปลี่ยนแปลงประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ผู้บริหารประเทศได้ตรวจสอบข้อมูลและพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ ประการหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือในช่วงเวลาที่ผ่านมานโยบายการศึกษาของประเทศในส่วนของประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความสำคัญกับการศึกษาสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ ทำให้นักเรียนสนใจศึกษาต่อด้านอุดมศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนสายอาชีวศึกษาทุกสาขาวิชา ทั้งเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอุตสาหกรรม ในขณะที่ผู้จบอุดมศึกษาหลายสาขาวิชาไม่มีงานทำ

รัฐบาลปัจจุบันมีความพยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการอาชีวศึกษา การส่งเสริมอาชีวศึกษาเฉพาะทาง การสร้างเสริมการศึกษาทวิภาคี การยกระดับการอาชีวศึกษาสู่สากล

โดยมีเป้าหมายและสนับสนุนให้มีผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของภาคแรงงานอันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ

Advertisement

คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในสายวิชาชีพ จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษาขึ้น โดยมีหน้าที่ศึกษา ติดตาม การจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในด้านต่างๆ วิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลตามลำดับ โดยได้เริ่มภารกิจตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2558 ในชื่อ “คณะทำงานศึกษาแนวทางการปฏิรูปการศึกษา” ต่อมายกฐานะเป็น “คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางปฏิรูปการอาชีวศึกษา” และเปลี่ยนแปลงเป็น “คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559

และได้เสนอรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งส่งต่อไปยังรัฐบาลแล้ว 7 เรื่อง ได้แก่

1.ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษา ในประเด็นการบริหารจัดการด้านต่างๆ ตั้งแต่ทรัพยากร หลักสูตร ตลอดจนการกระจายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

2.แนวทางในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ระบบทวิภาคีเป็นการศึกษาที่อาศัยความร่วมมือระหว่างสถาบันกับสถานประกอบการที่ทำให้เกิดผลดีในภาพรวม คือใช้งบประมาณแผ่นดินน้อยลง นักศึกษา (และครูในสถานศึกษา) มีโอกาสติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา มีคุณสมบัติตามความต้องการของสถานประกอบการ และที่สำคัญคือมีงานทำทันทีที่สำเร็จการศึกษา

3.ข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการศูนย์เครือข่ายกำลังคนอาชีวศึกษา ระบบศูนย์ข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษาเป็นช่องทางสำคัญในการสืบค้นข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้เรียนอาชีวศึกษา (และผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว) ภาคประกอบการ และสถานศึกษา โดยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เครือข่ายกำลังคนอาชีวศึกษา (www.vcop.go.th)” ขึ้น แต่ยังต้องมีการปรับปรุงทั้ง Software และ Hardware

4.แนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการสถาบันการอาชีวศึกษา สมควรดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็น

5.แนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) ทวิศึกษา เป็นรูปแบบการจัดการศึกษาร่วมระหว่างสายสามัญและสายวิชาชีพ เป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีทางเลือกมากขึ้น

6.ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการอาชีวศึกษา การปฏิรูปการศึกษา คือรากฐานของการปฏิรูปประเทศ สมควรประกาศเป็นวาระแห่งชาติและเน้นย้ำให้มีการบริหารจัดการอย่างเท่าเทียมกันในสองเส้นทางหลักคือเส้นทางสายสามัญและสายวิชาชีพ

7.เงื่อนไขหลักของความสำเร็จในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ปัจจุบันระบบทวิภาคีจำเป็นต้องนำพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 มาใช้โดยอนุโลม จึงสมควรดำเนินการให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเป็นการเฉพาะ

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากรายงานทั้ง 7 เรื่องมีจำนวนมาก โดยสาระคือ แนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการการอาชีวศึกษาในปัจจุบัน และข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมในส่วนของหลักสูตร ผู้สอน ผู้เรียน การบริหารจัดการรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการผลิตกำลังคนสายวิชาชีพยุคใหม่ ทันต่อการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทต่างๆ ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สมควรเร่งดำเนินการในประเด็นที่สำคัญดังนี้

-กำหนดให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นย้ำว่าการศึกษาของประเทศมีสองเส้นทางหลักคือ เส้นทางสายอุดมศึกษา และเส้นทางสายอาชีวศึกษา

-ปรับปรุงหลักสูตรอาชีวศึกษาทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปริญญาตรีสายปฏิบัติการและเทคโนโลยี บัณฑิตศึกษา และหลักสูตรการผลิตครูอาชีวศึกษาให้ทันสมัย รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ตลอดจนมาตรฐานเองโดยไม่ต้องอิงกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคุรุสภา และขอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกำหนดอัตราเงินเดือนเช่นเดียวกันกับสายอุดมศึกษา

-ปรับปรุงพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา 2551 ให้สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลในสถาบันตลอดจนเร่งรัดให้มีการดำเนินการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่สถาบันการอาชีวศึกษา (ตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา 2551)

-ให้มีกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพของผู้จบการศึกษาจากสถานศึกษาอาชีวศึกษา (เฉพาะอาชีพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อสาธารณชน) ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษาเอกชน ร่างพระราชบัญญัติช่างเทคนิคและร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี

ทั้งนี้ โดยมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ด้วย เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่อาชีวศึกษา 4.0

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา
คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image