‘เกาะลิบง’โต้เดือดอธิบดีกรมอุทยานฯ ท้าให้เปิดหลักฐานขบวนการล่าพะยูน

ชาวบ้านเกาะลิบงตรัง “โต้เดือด” อธิบดีกรมอุทยานฯ ท้าให้เปิดหลักฐานขบวนการล่าพะยูน เปิบเมนูพิสดาร “พะยูนผัดเผ็ด” หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบต้องจับกุมดำเนินคดี ขณะที่เครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านทั้ง 44 หมู่บ้านเตรียมเชิญอธิบดีกรมแจง

รายงานข่าวจากจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ถึงความคืบหน้ากรณีแหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันเรื่องการล่าพะยูนเพื่อเอาเนื้อและอวัยวะต่างๆไปขาย โดยให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบหาข้อมูลในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง และได้ข้อมูลว่ามีการล่าพะยูนจริง ด้วยการเอาซากพะยูนที่ติดเครื่องมือประมงเข้าฝั่งแล้วไม่แจ้งกับใคร จากนั้นแล่เนื้อแยกออกเป็นส่วนๆ กระดูกและเขี้ยวแยกไว้ส่วนหนึ่ง ซื้อขายในกิโลกรัมละ 1หมื่นบาท ส่วนเนื้อขายกันในกิโลกรัมละ 150 บาท

จนกลายเป็นข่าวสะเทือนวงการอนุรักษ์เป็นอย่างมาก โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ประชาชนให้ความสนใจและตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ทุกฝ่ายๆจะต้องร่วมมือกันทำความจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านมีการอนุรักษ์พะยูนกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พะยูนในพื้นที่

ล่าสุดเมื่อเวลา 10.30น.วันเดียวกัน ที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น ท้องที่ ข้าราชการและชาวบ้าน ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหากรณีที่ชาวบ้านตำบลเกาะลิบงตกเป็นจำเลยสังคมว่ากระทำต่อพะยูนด้วยการล่ามีการล่าพะยูนในทะเลตรังจากนั้นนำซากมาแล่เนื้อแยกออกเป็นส่วนๆ กระดูกและเขี้ยวแยกไว้ส่วนหนึ่ง ซื้อขายในกิโลกรัมละ 1หมื่นบาท ส่วนเนื้อขายกันในกิโลกรัมละ 150 บาท โดยมี นายเชิดศักดิ์ แดงสี รองประธานสภา ส.อบต.หมู่ 6 นายประชุม เจริญฤทธิ์ ผญบ.หมู่ 6 นายสุธรรม ศิลปะสมศักดิ์ ปลัด อบต.เกาะลิบง นายธีระยุทธ์ หลังหลำ ส.อบต. หมู่ 4 นายอุสิน โชคอำนวยลัด จนท.ร.พสต.เกาะลิบง และชาวบ้านร่วมประชุม

Advertisement

นายประชุม กล่าวว่า หลังจากที่ชาวบ้านเกาะลิบง ได้มีการร่วมกันอนุรักษ์พะยูนมานานกว่า 30 ปี จนทำให้เกาะลิบงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง ชาวบ้านเองก็รณรงค์ให้อนุรักษ์พะยูนเนื่องจากพะยูนเป็นจุดขายสำคัญของการท่องเที่ยว แม้กระทั้งเรือประมง และรถซาเล้ง ที่ชาวบ้านนำนักท่องเที่ยวไปชมพะยูน ขึ้นภูเขาบาตูปูเต๊ะชมพะยูน จึงช่วยกันดูแล โดยเฉพาะเวลาพะยูนเกยตื้นชาวบ้านเกาะลิบงก็ช่วยกันนำพะยูนลงไปในน้ำ ไม่ใช่ว่าทำกันเพียงคำพูดแต่เราทำกันจริงๆ เป็นรื่องของการอนุรักษ์พะยูนที่ฝังอยู่ในจิตใจ

นายประชุม กล่าวอีกว่า พะยูนจึงเปรียบเสมือนลูกๆของชาวบ้านเกาะลิบง วันนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเกาะลิบง อยากที่จะเห็นพะยูน เรื่องชายหาด นกไซบีเรีย เป็นผลพลอยได้เท่านั้น พะยูนจึงเป็นสัตว์ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างแท้จริง ถ้าชาวบ้านไล่ล่าทำให้พะยูนตายชาวบ้านจะมีรายได้จากไหน สมัยก่อนการอนุรักษ์พะยูนทำกันในกลุ่มเล็กๆ แต่ขณะนี้กระแสขยายวงกว้างทั้งจังหวัด การอนุรักษ์พะยูนจึงอยู่ในจิตใจเลือดเนื้อของชาวเกาะลิบง

“ส่วนกรณีที่ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมอุทยานฯออกมาบอกว่าชาวบ้านเกาะลิบงมีการไล่ล่าพะยูน และนำอวัยวะไปใช้ประโยชน์นั้น ผมขอยืนยันว่า การล่าเอาเนื้อมาชำแหละขายและปรุงเป็นอาหารไม่มีอย่างเด็ดขาด ผมเองก็ไม่เคยได้ข่าว แต่ยอมรับว่าในอดีตมีการกินพะยูน ถ้าตั้งใจล่าพะยูนจะหมดไปจากเกาะลิบง และทีมีการพูดว่ามีเจ้าหน้าที่มาล่อซื้อและมีการนำเนื้อไปขายนั้น ถ้ามีจริงก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นสมัยไหน ผมไม่เคยได้ยินข่าว และต้องขอสอบถามกลับไปว่า ได้ข้อมูลนี้มาจากไหน ต้นตอมาจากไหน เรื่องนี้ไม่ขอฟันธงแต่เพื่อความถูกต้อง ผู้ให้ข่าวจะต้องสามารถชี้แจงที่มาที่ไปของข้อมูลได้” นายประชุม กล่าว

Advertisement

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของตนของแสดงความเห็นว่า การให้ข่าวที่สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านเกาะลิบง ขาดความรับผิดชอบ และจะรับผิดชอบอย่างไร ขอเรียนให้ทราบว่าชาวบ้านเกาะลิบงทั้ง 8หมู่บ้าน จะร่วมมือกันดูแลพะยูนทั้งหมด ให้ข่าวได้อย่างไรว่าชาวบ้านเกาะลิบงฆ่าพะยูนขายเนื้อกิโลกรัมละ 150 บาท ตนอยากให้มีการแก้ข่าวเรื่องนี้ให้ด้วย และอยากรู้ว่าแหล่งข่าวที่ได้มานั้นได้มาจากไหน ตนเองเป็นคนในพื้นที่ยังไม่ทราบเลย ชาวบ้านเองคงไม่นิ่งเฉย ท้าให้คนให้ข่าวออกมาเปิดเผยหลักฐาน ข่าวที่ออกมาทำให้ชาวบ้านเกาะลิบงเกิดความเสียใจเป็นอย่างมาก

นายอุสิน กล่าวว่า ตนปฎิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลร้านอาหารในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง สำหรับเนื้อพะยูนที่มีข่าวว่ามีร้านอาหารนำมาปรุงนั้น ขอยืนยันว่าไม่มี เนื่องจากในเกาะลิบง ส่วนใหญ่ร้านอาหารจะเป็นร้านเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ตนคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อมูลเก่าที่นำมาพูดในขณะนี้ อย่างน้อยชาวบ้านเกาะลิบงอนุรักษ์และต่อต้านการฆ่าและไล่ล่าพะยูน จริงๆแล้วทางตนก็ไม่ทราบว่ามีการจำหน่ายเนื้อพะยูน และเพิ่งรับทราบจากข่าวเช่นกัน บอกตรงๆว่าไม่มี ในฐานะที่ตนเป็นชาวบ้านเกาะลิบง ก็คิดว่าคนให้ข่าวต้องรับผิดชอบและบอกมาเลยว่า มีการขายเนื้อพะยูนที่ไหน เกาะไหน ถามว่าขายที่ร้านไหน จุดไหน ต้องชี้แจงได้เพื่อไม่ทำให้ชาวบ้านเกาะลิบงเสียหาย

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง , อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดตรัง ออกมาปฎิเสธข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง ที่สำคัญในการให้ข่าวของอธิบดีกรมอุทยานฯต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ว่าสามารถล่อซื้อชิ้นเนื้อที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นชิ่นเนื้อพะยูนได้บนเกาะลิบง ทำให้ชาวบ้านเกาะลิบงเสื่อมเสีย ขอให้นำหลักฐานมาแสดง และต้องไปแจ้งความเอาผิดคนครอบครองชิ้นเนื้อดังกล่าวด้วย ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าข่ายละเว้น ผิดมาตรา 157

“ดังนั้น ในนามของเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ , เครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านทั้ง 44 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอของจังหวัดตรัง ขอเรียกร้องให้อธิบดีกรมอุทยานฯ แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเร็วๆนี้จะนัดประชุมด่วน เชิญกรรมการชมรม กลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้านในพื้นที่มาประชุมร่วมกัน และจะเชิญให้อธิบดีกรมอุทยานฯ เดินทางมาชี้แจงกรณีข่าวดังกล่าวที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง พร้อมให้นำหลักฐานมาแสดง เพราะเรื่องดังกล่าวสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ชาวจังหวัดตรัง อาจถูกมองว่าการทำงานด้านการอนุรักษ์ล้มเหลว ยังปล่อยขบวนการล่าพะยูนให้มีอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image