‘ป่าผืนใหญ่ภาคตะวันออก’ กับการดูแลของมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยหน่วยทหารเป็นหลัก เพื่อระบบนิเวศของไทย : โดย พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส

ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เดิมคือ ป่าพนมสารคาม เป็นพื้นที่ป่าที่ราบต่ำขนาดใหญ่ผืนเดียวที่ยังคงสภาพเหลืออยู่ บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกของประเทศ มีอาณาเขตครอบคลุมติดต่อกันถึง 5 จังหวัด ได้แก่

ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี พื้นที่ป่าผืนนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาพันธุ์ ถือได้ว่าเป็นป่าดิบลุ่มต่ำผืนสุดท้ายของประเทศ เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับป่าในประเทศกัมพูชา ต่อมาป่าไม้ตามชายแดนฝั่งประเทศไทยถูกบุกรุกทำลายแทบไม่เหลือสภาพป่า ป่าพนมสารคามที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ก็มีพื้นที่ลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมาจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านไร่ เนื่องจากได้ถูกราษฎรบุกรุกครอบครองพื้นที่โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มประชากร ความยากจนและเหตุผลทางการเมืองในขณะนั้น ทำให้ปัจจุบันเหลือพื้นที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยต่อสภาพป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) เพราะเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพและยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ป่าผืนนี้เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาถูกบุกรุกทำลายทำให้ผืนป่าลดลง ได้มีพระราชเสาวนีย์ ที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ให้มีความสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ให้ราษฎรที่บุกรุกป่านี้อาศัยอยู่ที่เดิม ไม่ต้องอพยพออกจากป่า แต่ต้องช่วยกันดูแลป่าและสัตว์ป่า การประกอบอาชีพของราษฎรที่ต้องแสวงประโยชน์จากป่านั้นจะต้องไม่ไปรบกวนป่า เช่น ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทำร้ายสัตว์ป่า คือสามารถอยู่กับป่าได้ แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านเทพประทาน ตำบลตะเกรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีพระราชเสาวนีย์ให้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาละลาก ตำบลคลองตะเกรา กิ่งอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมระบบส่งน้ำเพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

Advertisement

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ทหารช่วยดูแลเรื่องป่าไม้และน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และป่าเขาใหญ่ ได้มีพระราชดำริความว่า “ให้ทหารและกรมป่าไม้ รวมทั้งส่วนราชการอื่นๆ ปลูกฝังแนวคิดให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยไม่รบกวนป่า ตลอดจนพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”

เพื่อเป็นการสนองต่อพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จึงได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมูลนิธิจะสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าว ปัจจุบันพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้มีการกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายในความควบคุมดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติอีก 5 แห่ง รวมเนื้อที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่ ได้แก่

1.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เนื้อที่ 6.74 แสนไร่
2.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เนื้อที่ 4.65 แสนไร่
3.อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เนื้อที่ 3.64 หมื่นไร่
4.อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เนื้อที่ 5.23 หมื่นไร่
5.อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เนื้อที่ 5.70 หมื่นไร่

Advertisement

ตลอดระยะเวลา 10 ปีเศษที่ผ่านมา มูลนิธิได้ดำเนินการให้ไฟป่ายุติลง การบุกรุกทำลายป่าลดลงสัตว์ป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กลับมาเป็นป่าผืนใหญ่ภาคตะวันออกที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานมูลนิธิ พล.อ.สุรัตน์ วรรักษ์ เป็นเลขานุการมูลนิธิ พล.อ.อนันต์ กาญจนปาน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีคณะกรรมการจำนวน 24 ท่าน ที่ปรึกษา 10 ท่าน และคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรม คณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตราษฎร คณะอนุกรรมการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ คณะอนุกรรมการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืช คณะอนุกรรมการฝ่ายตรวจสอบและประเมินผล คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย และคณะอนุกรรมการฝ่ายงบประมาณ สำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ตั้งอยู่ที่ 872 พหลโยธิน 8 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 โทร 0-2616-9209 โทรสาร 0-2616-9328

ได้มีการประชุมสามัญคณะกรรมการประจำปี 2559 ของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กทม. เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560 เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมพอสังเขป ดังนี้

1.การรายงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิประจำปี 2559 ด้วยการฉายภาพวีดิทัศน์

2.การชี้แจงผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ รวม 10 คณะ

3.เรื่องเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีมูลนิธิ การมอบทุนการศึกษาให้กับบุตร-ธิดา และเงินประกันชีวิตกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

4.การรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนยุทธศาสตร์มูลนิธิ ประจำปี 2559 และการพิจารณาความต้องการงบประมาณประจำปี 2560 ประกอบด้วย ผู้บังคับหน่วยหรือผู้แทนดังต่อไปนี้

4.1 กองทัพภาคที่ 1 (โดยกองกำลังบูรพา) 4.2 กรมทหารพรานที่ 13 4.3 กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด 4.4 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 4.5 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) 4.6 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) 4.7 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (ชลบุรี)
4.8 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี

สําหรับการมอบทุนการศึกษาบุตร-ธิดาของผู้ปฏิบัติงาน ประจำปี 2559 ที่ผ่านมาได้มอบ 404 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,714,000 บาท ดังนี้ ชั้นประถมศึกษา 183 ทุน ทุนละ 3,000 บาท เป็นเงิน 549,000 บาท ชั้นมัธยมศึกษา/ปวช. 209 ทุน ทุนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 1,045,000 บาท และระดับอุดมศึกษา 12 ทุน ทุนละ 10,000 บาท เป็นเงิน 120,000 บาท สำหรับในปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะมอบทุนการศึกษา 413 ทุน เป็นเงินประมาณ 1,755,000 บาท

สำหรับการทำประกันชีวิตกลุ่มของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในปี 2559 อัตราทำประกันคนละ 780 บาท โดยมูลนิธิจ่ายให้คนละ 680 บาท และผู้ทำประกันจ่ายเองคนละ 100 บาท รวม 780 บาท โดยมีผู้ขอทำประกันจำนวน 785 คน

มีกิจกรรมการตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญและมอบของขวัญและอวยพรปีใหม่ 2560 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานมูลนิธิ ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2560 ณ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน ค่ายเทวาพิทักษ์ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยการบอกถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ ประธานเปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะและร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

หลังจากนั้น ประธานมอบเงินค่าสินไหมทดแทน มอบเงินสงเคราะห์ มอบของขวัญให้ผู้แทนหน่วย 16 หน่วย ได้แก่ กองบัญชาการป้องกันชายแดน จันทบุรีและตราด กองกำลังบูรพา กรมทหารพรานที่ 13 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า หน่วยจัดการต้นน้ำ ศูนย์ปฏิบัติการและสถานีควบคุมไฟป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา สถานีเพาะเลี้ยง ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 (ชลบุรี) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) จำนวน 1,538 คน และอวยพรปีใหม่โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด ผู้บังคับหน่วยทหาร ตำรวจในพื้นที่ ผู้แทนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมูลนิธิ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ เข้าร่วมในพิธี

นอกจากนั้น ในวันที่ 12 สิงหาคม ท่านประธานมูลนิธิได้จัดพิธีเทิดเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ที่ทำการมูลนิธิ พญาไท ทุกปีด้วย

มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมจำนวนมากทุกปี ส่วนหนึ่งที่ได้จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา โดยสามารถติดต่อบริจาคได้ที่คณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้และฝ่ายเลขานุการเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบด้วยหลายหน่วยงานตามที่กล่าวมาแล้ว โดยมีหน่วยทหารรับผิดชอบในพื้นที่เป็นแกนนำ ทำให้ป่าผืนใหญ่ภาคตะวันออกเป็นสมญานามว่า มณีบูรพา ยังคงเป็นป่าที่สมบูรณ์ เพื่อระบบนิเวศของประเทศไทย

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าในพื้นที่อื่นๆ จะได้มีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่ออนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้นอีก เหมือนกับมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดนี้ ก็จะทำให้ป่าทุกป่ากลับมาคงสภาพเดิมตลอดไปไม่มีไฟป่า ไม่มีการบุกรุกทำลายป่า และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้กับระบบนิเวศครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพื่อลูกหลานของเราในอนาคตตลอดไป

พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image