ทปสท.จี้ปรับพนักงานมหา’ลัยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ –ดูแลสวัสดิการความมั่นคง

นายฉัตรชาย ศุภจารีรักษ์ ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เปิดเผยว่า จากงานสัมมนาตีแผ่ธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคณาจารย์ อธิการบดี ผู้แทนศาลปกครอง บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นระหว่างบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา กับมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอก ซึ่งภาพรวมเห็นได้ชัดเจนว่า การบริหารงานของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่มีธรรมาภิบาล ฝ่ายบริหารลุแก่อำนาจ มองบุคลากรและคณาจารย์เป็นฝ่ายตรงข้าม โดยทางผู้แทนศาลปกครองเองยอมรับว่า ปัจจุบันมีบุคคลากรฟ้องร้องอธิการบดีมากขึ้น ทั้งนี้ในวงเสวนา ทางศาลปกครองได้นำคดีที่เป็นที่สิ้นสุดแล้ว ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยฟ้องและถูกฟ้อง ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2555-30 มิถุนายน 2560 รวมทั้งสิ้น 221 คดี มาพูดคุย เป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับคำสั่งและกฎ 101 คดี แบ่งเป็น คดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับบุคลากร 81 คดี ดังนี้ การสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหาร 16 คดี การบริหารงานบุคคล 49 คดี ดังนี้ วินัย 17 คดี เลื่อนขั้นเงินเดือน 10 คดี การต่ออายุราชการ 11 คดี การเลื่อนตำแหน่ง 7 คดีและอื่น ๆ 4 คดี คำสั่งเรียกให้ชดใช้เงิน 10 คดี และคดีที่เกี่ยวกับสวัสดิการ 6 คดีการฟ้องร้องระหว่างมหาวิทยาลัยกับบุคลาภายนอก 20 คดี ดังนี้ นักศึกษา 9 คดี เช่น ออกเกรดไม่ถูกต้อง,ไม่อนุมัติปริญญา เป็นต้น บุคคลทั่วไป 11 คดี เช่น เปลี่ยนเกณฑ์การใช้คะแนนสอบเข้าศึกษาต่อ เป็นต้น

นายฉัตรชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิด รวม 45 คดี ดังนี้ คดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับบุคลากร 32 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล 27 คดี คดีอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ 4 คดี และคดีเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหม 1 คดี ขณะเดียวกันยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางการปกครอง 68 คดี ดังนี้ สัญญารับทุนการศึกษา 19 คดี สัญญาลาศึกษาต่อ 3 คดี สัญญาจ้างบุคลากรของมหาวิทยาลัย 11 คดี และสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง 35 คดี

“ผู้เข้าร่วมเสวนา ร่วมกันหาทางออกในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การทำงานในมหาวิทยาลัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุดมศึกษา ซึ่งทางศาลปกครองยอมรับว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น ทั้งเรื่องการสรรหาอธิการบดี การบริหารงานที่ขาดธรรมาภิบาล โดยเฉพาะพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษา มีพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 2 แสนคน ขณะที่มีข้าราชการไม่ถึง 3 หมื่นคน แต่พนักงานมหาวิทยาลัยกลับเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลจากมหาวิทยาลัยน้อยที่สุด บางคนถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ยกเลิกสัญญาจ้างโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ล่วงหน้า ดังนั้นผมจะเสนอ ให้คณะทำงานที่ยกร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษา เพิ่มมาตรการดูแลพนักงานมหาวิทยาลัย เข้าไปในร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาด้วย จากเดิม ที่ในพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กำหนดว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้ที่ถูกจ้างโดยเงินรายได้ ซึ่งเท่ากับว่า จะถูกยกเลิกสัญญาจ้างเมื่อไรก็ได้ มาเป็น พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้ได้รับการบรรจุให้ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน หรือเงินรายได้ ซึ่งเท่ากับว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีความมั่นคงมากขึ้น โดยจะขอให้บรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาด้วย หรือหากไม่สามารถใส่ไว้ในพ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาได้ ก็อยากขอให้กำหนดเป็นข้อบังคับกลาง ที่ออกโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีหลักประกันในชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไรก็ได้”นายฉัตรชายกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image