”แม่น้ำเจ้าพระยา’ ติดโผสถานที่สำคัญของโลกที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

เวิลด์ โมนูเมนท์ ฟันด์ (ดับเบิลยูเอ็มเอฟ) องค์การเอกชนไม่แสวงผลกำไรเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมทั่วโลก เผยแพร่รายชื่อปูชนียสถานที่ต้องเฝ้าระวัง หรือ เวิลด์ โมนูเมนท์ วอทช์ ลิสต์ (ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล) ประจำปี 2018 ออกมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา รายชื่อสถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังดังกล่าวจัดทำเผยแพร่เป็นประจำทุกๆ 2 ปี เพื่อวัตถุประสงค์ในการเตือนให้ตระหนัก และทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสิ่งที่เชื่อว่าจะเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อ ปูชนียสถาน อนุสรณ์สถาน โบราณสถาน หรือสถานที่สำคัญๆอื่นที่มีนัยเชิงวัฒนธรรมในประเทศต่างๆทั่วโลก โดยบรรจุ แม่น้ำเจ้าพระยาของไทยไว้เป็น 1 ใน 25 รายชื่อสถานที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2561 นี้

ดับเบิลยูเอ็มเอฟ เผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ของโครงการ ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล ไว้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลผ่านใจกลางเมืองโบราณที่เคยเป็นหัวใจของประเทศไทยในอดีต ถือได้ว่าเป็นลำน้ำแห่งประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อเมืองหลวงสมัยปัจจุบันของไทย แต่กำลังถูกคุกคามจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับแม่น้ำไปโดยไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้อีกต่อไป

โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองด้านในบริเวณที่ไหลผ่านใจกลางกรุงเทพมหานครซึ่งมีการประกาศโครงการเป็นครั้งแรกในปี 2558 หากมีการก่อสร้างจริงจำเป็นต้องมีตอม่อรองรับอยู่กับพื้นท้องน้ำ และแม้ว่าโครงการมูลค่าหลายพันล้านบาทนี้ จะช่วยให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงริมแม่น้ำได้ง่ายขึ้นอย่างมาก แต่ความเสียหายทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นต้นทุนก็จะมีมูลค่ามหาศาลมากพอๆกัน ทางเดินคอนกรีตยกระดับดังกล่าวจะบดบังทัศนียภาพของลำน้ำตลอดระยะทางที่แม่น้ำไหลผ่านตัวเมือง นอกเหนือจากการสูญเสียภูมิทัศน์ของตัวเมืองดังกล่าวแล้ว ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล ชี้ว่า โครงการก่อสร้างนี้ทำให้เกิดความจำเป็นต้องโยกย้ายชุมชนริมแม่น้ำจำนวนมากออกไปจากพื้นที่ ซึ่งกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างช่วยไม่ได้ ในเวลาเดียวกับที่นักอุทกศาสตร์ ได้เตือนถึงผลกระทบเชิงนิเวศที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างนี้ อาทิ ภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดถี่ขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล ระบุว่า นับตั้งแต่มีการนำเสนอโครงการนี้ก็เกิดเสียงคัดค้านในวงกว้างจากทั้งกลุ่มวิชาชีพท้องถิ่น ผู้อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำ เช่นเดียวกับแวดวงธุรกิจของกรุงเทพฯ ซึ่งรวมถึงเจ้าของโรงแรม, ภัตตาคารซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และผู้ประกอบการเดินเรือ เสียงเรียกร้องของสังคมดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยมากหรือไม่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากแผนก่อสร้างเดิมแต่อย่างใดทั้งสิ้น ดับเบิลยูเอ็มเอฟ เรียกร้องผ่านดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล 2018 ให้เปลี่ยนแนวคิดของโครงการดังกล่าวโดยสิ้นเชิง โดยขอให้ยึดเอาไต่สวนสาธารณะ ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นซึ่งแสดงความไม่พอใจต่อแผนการก่อสร้างนี้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการต่อไปในอนาคต และไม่ควรมีการก่อสร้างใดๆเกิดขึ้น โดยไม่มีผลการประเมินผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมอย่างรอบคอบทั่วถึง หรือ โดยปราศจากการอออกแบบอย่างระมัดระวังที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบเหล่านั้นลงให้เหลือน้อยที่สุด

Advertisement

ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูแอล ระบุว่า การออกแบบโครงการเพื่อเป็นทางเลือกนั้นมีความเป็นไปได้ โดยจำเป็นต้องทำให้สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพริมแม่น้ำให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยอาจจำเป็นต้องมีสวนสาธารณะลอยน้ำและทางเดินลอยน้ำ ในเวลาเดียวกันต้องสามารถอำนวยให้ชุมชนริมแม่น้ำที่ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ยาวนานมีสิทธิอ้างความชอบธรรมตามกฎหมายที่จะใช้ชีวิตเหนือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปได้ โครงการนี้จำเป็นต้องหยุดและเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ ก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมหน้า “แม่น้ำแห่งมวลกษัตริย์” ไปชั่วกาลนาน
อนึ่ง ดับเบิลยูเอ็มเอฟ ก่อตั้งเมื่อ 51 ปีก่อน โดยนายทหารยศพันเอก ชื่อ เจมส์ เกรย์ ทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อใช้จ่ายในการทำนุบำรุงปูชนียสถานสำคัญๆ ต่างๆเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี และได้เริ่มจัดทำ ดับเบิลยูเอ็มดับเบิลยูเอฟ ขึ้นเมื่อปี 2539 และมีส่วนในการช่วยอนุรักษ์สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ มากกว่า 800 แห่งใน 135 ประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image