ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้การเมืองนิ่งมีเลือกตั้งดันศก.ไทยคึกคัก ปีหน้าโต 4.3%

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานแถลงข่าว H2 Global Research Briefing 2017 ว่า ธนาคารได้ทำรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้า ในหัวข้อ “Thailand-Promising outlook after a lost decade” พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหวี่ยงมาก ขึ้นกับความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ จากปี 2559 ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นถึงปัจจุบัน และน่าสนใจที่สุดเทียบหลายปีที่ผ่านมา และจากนี้มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาเริ่มเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 เห็นสัญญาณเศรษฐกิจตอบรับดี

“ปีไหนมีการเลือกตั้ง จะเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคัก โดยเฉพาะช่วงหนึ่งปีก่อนเลือกตั้ง เห็นได้จากอดีตที่ผ่านมาจะเป็นเช่นนี้เสมอ ตลาดหุ้นขึ้น พรรคการเมืองเริ่มเตรียมตัวและในช่วงที่หาเสียงได้ ก็จะเห็นนโยบายพรรคออกมา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่บอกว่าประเทศจะไปทางไหน ส่งผลให้เอกชนเดินหน้าลงทุนไปก่อนบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งต่อเศรษฐกิจประเทศ ที่สำคัญคือความต่อเนื่องและเสถียรภาพการเมือง ซึ่งมีผลต่อการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่และเบิกจ่ายของภาครัฐด้วย”

นายทิม กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ดีขึ้นแทบทุกด้าน ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ประเทศปฏิทินเวลาเลือกตั้งชัดเจน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐมีความต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ปีนี้ ขยายตัว 3.6% และปีหน้า 4.3% ส่วนส่งออกคาดว่าปีนี้ขยายตัว 7% ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ส่วนปีหน้าขยายตัว 5% เพราะฐานปีนี้สูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากนี้น่าจะทยอยสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้คาดว่าคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.)จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่กลางปีหน้า และจะปรับขึ้นอีก 2-3 ครั้ง ขณะที่ค่าเงินบาทประเมินว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สิ้นปีหน้า 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

นายทิม กล่าวว่า แม้ประเมินว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเกิน 4% แต่ถือว่ายังต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรจะเป็นที่ 5% ส่วนหนึ่งจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ไม่ขยายตัว และไม่ได้ลงทุนเพิ่มมานาน ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การลงทุนภาครัฐชะงักเช่นกัน แต่เชื่อว่าจากนี้การลงทุนของไทยจะเพิ่มขึ้นทั้งรัฐและเอกชน และเศรษฐกิจจะไปถึงศักยภาพที่ควรเป็น จาก 4 ปัจจัยหลักสำคัญ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2558 ถึงกลางปีนี้ รัฐเบิกจ่ายได้เพียง 5 หมื่นล้านบาท จากงบรวม 1.79 ล้านล้านบาท แต่ปีหน้าคาดจะเบิกจ่ายได้ถึง 2 แสนล้านบาท, ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่จะเกิดการลงทุนร่วมทั้งรัฐและเอกชน, ไทยอยู่ศูนย์กลางประเทศในอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงต่อเนื่อง และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เหล่านี้จะช่วยดึงต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทยระยะยาวด้วย ต่อจากนี้อีกเป็น 10 ปี

Advertisement

นายเอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าทีมวิจัย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตสูงที่สุดที่ 3.6% นับตั้งแต่ปีวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2551 และในปีนี้ความเสี่ยงต่างๆ ที่หวาดระแวงกันในอดีตยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ก็ต้องติดตามดู เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องนโยบายการกีดกันทางการค้า นโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สถานการณ์หนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังสูงอยู่ถึงแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี

นายดิฟยา ดาเวช นักกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ประจำทวีปเอเชีย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า ด้วยเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน ซึ่งสนับสนุนให้การค้าโลกดีขึ้นตามมา ส่งผลให้ตลาดของประเทศเกิดใหม่ มีมูลค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น ทั้งหุ้น พันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้าดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่า เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะพิจารณาทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าๆ ปรับขึ้น 1 ครั้งปลายปีนี้ และธนาคารคาดว่าในปีหน้าเฟดจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง สวนทางตลาดที่คาดว่า 1 ครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image