“บีทีเอส”-“รฟม.”-“บีอีเอ็ม” ร่วมลงนามเอ็มโอยู นับหนึ่งเดินหน้าตั๋วร่วมแมงมุม ใช้รถไฟฟ้าต่างระบบต้องจ่ายค่าแรกเข้า

แฟ้มภาพ

วันที่ 18 ตุลาคม มีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อดำเนินการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วม ระหว่างการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม และเอ็มโอยู เข้าดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (ซีซีเอช) ระหว่าง รฟม. และ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามดังกล่าวที่กระทรวงคมนาคม

นายอาคมกล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของการพัฒนาระบบตั๋วร่วม หรือ บัตรแมงมุม ให้เกิดขึ้นจริง โดยหลังจากนี้จะสามารถทำการเชื่อมระบบตั๋วร่วมในส่วนระบบขนส่งที่เป็นของหน่วยงานภาครัฐก่อน คือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนยาน 2561 ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2561 หรือเร็วกว่ากำหนด เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนในการเชื่อมต่อตั๋วร่วมในส่วนของภาคเอกชนประมาณ 300 ล้านบาท

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงยังเล็งที่จะผลักดันเรือด่วนเจ้าพระยาให้เข้ามาอยู่ในระบบตั๋วร่วมด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ตั้งเป้าให้ทำการเชื่อมต่อระบบให้แล้วเสร็จพร้อมกับของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ทั้งนี้หากรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อาทิ สายสีส้ม สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีแดง ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างแล้วเสร็จก็สามารถใช้ระบบตั๋วร่วมได้ทันที ส่วนการดำเนินการจัดตั้งซีซีเอช ที่รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางจัดเก็บรายได้ในระบบตั๋วร่วมนั้น ได้สั่งการให้รฟม.ศึกษารูปแบบธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ก่อนที่จะเปิดรับพันธมิตรเพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาดำเนินการ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่บริษัทคาดว่าจะใช้ในการลงทุนติดตั้งระบบตั๋วร่วมครั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากการติดตั้งระบบตั๋วร่วมแล้วเสร็จ บริษัทคาดว่าในระยะแรกจะไม่ส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารมากนัก เนื่องจากผู้โดยสารยังไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง ส่วนใหญ่น่าจะยังเดินทางในเส้นทางเดิมอยู่ แต่คาดว่าในระยะยาวอาจส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้โดยสารเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้เดินทางโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ทั้งนี้จากการเจรจาระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนผู้เดินรถไฟฟ้าด้วยกัน ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงการลด หรือยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อใช้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าของผู้บริการรายอื่น แต่ในส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่บีทีเอส เป็นให้บริการจะยังมีการยกเว้นค่าแรกเข้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image