ความเหลื่อมล้ำ : มี Big Data คนจน ถึงเวลาแล้วต้องมีของคนรวย : โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์

รมต.คลัง คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์รายวันเรื่อง การช่วยเหลือคนจน ว่า “เราไม่เคยมีข้อมูลเลยว่า คนจนในประเทศไทยมีเท่าไรแน่ มีการดำรงชีวิตอย่างไร…..การเก็บข้อมูลเชิงสถิติจึงมีความจำเป็นที่จะนำ Big Data มาจัดทำเป็นนโยบาย” ในความเห็นของผู้เขียน การให้ความสำคัญกับปัญหาคนจนเป็นเรื่องที่ดี แต่การแก้ปัญหาประเทศและความยากจนมีอะไรที่
ต้องทำมากกว่าการแจกบัตรคนจนแบบที่รัฐบาลกำลังทำอยู่

โลกในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะตั้งแต่ครึ่งหลังเป็นต้นมา ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักมาจากการลดลงของจำนวนประชากรที่เป็นคนจนตามมาตรวัดของสหประชาชาติ โลกในศตวรรษที่ 21 ก็จะเป็นศตวรรษที่คนจนเกือบจะหมดไปแน่ๆ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน คนจนที่อดอยากแร้นแค้นของโลกและในบ้านเราได้ลดลงไปมากก็จริง แล้วแต่คำจำกัดความของ “ความยากจน” ประเทศที่ร่ำรวยก็ยังมีจำนวนประชากรที่ยากจนอยู่จำนวนหนึ่งเสมอ เช่น เมื่อวัดจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ไม่ว่าประเทศจะเจริญมีรายได้สูงแค่ไหน ความยากจนอีกประเภทหนึ่งคือความรู้สึกจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือ “ความจนสัมพัทธ์” นั้นมีอยู่เสมอไม่เคยหมดไป คนจนที่มาลงทะเบียนกับกระทรวงการคลังจำนวนประมาณ 11 ถึง 14 ล้านคนคงไม่ใช่คนจนที่อดอยากแร้นแค้นในความหมายที่เข้าใจกัน ผู้เขียนเชื่อว่า คนที่คิดว่าตัวเองจนกว่าผู้อื่นในสังคมน่าจะมีสัดส่วนที่สูงทีเดียว

ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโตไม่ได้มาก รัฐบาลได้พยายามทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการบัตรคนจนเพื่อให้คนถือบัตรมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นเดือนละไม่กี่ร้อยบาทก็อาจเป็นเป้าหมายหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผู้เขียนคิดว่า แม้ว่าเรายังเป็นประเทศที่มีรายได้อยู่ระดับปานกลาง แต่ปัญหาหลักของประเทศไทยรวมทั้งปัญหาของประเทศอื่นๆ ในโลกเกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ปัญหาเรื่องความเจริญเติบโตที่ไม่สูงพอที่จะลดจำนวนประชากรที่ยากจน ไม่ได้อยู่ที่เราต้องเติบโตให้ได้ในอัตราที่สูงกว่านี้มากๆ เพื่อไม่ให้มีคนยากจน แต่ปัญหาอยู่ที่แหล่งที่มาและคุณภาพของความเจริญเติบโตมากกว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ และรัฐมนตรีคลังอภิศักดิ์ต้องตระหนักว่า การเติบโตที่มีคุณภาพนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลยเหมือนที่เราพบในหลายประเทศในโลกถ้าผลของความเจริญเติบโตนั้นกระจุกอยู่ที่คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศ พูดอีกอย่างคือความเจริญเติบโตในรายได้ของประเทศไทยที่สูงขึ้นนั้นมากับความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น

ทำไม คสช.ต้องทำให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็นวาระหลักของชาติสำหรับการปฏิรูปประเทศใน 20 ปีข้างหน้า

Advertisement

รัฐบาล คสช.อยากเห็นประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้เร็วที่สุด ควรเรียนรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จก่อนเรา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันทะยานสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูงขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำลง ขณะที่หลายประเทศไปไม่ถึงดวงดาวหรือร่ำรวยแล้วแต่สังคมมีปัญหามาจากความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นทั้งนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าประเทศไทยสามารถเติบโตได้ในอัตรา 3 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสังคมที่ความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่สูง ประเทศไทยจะเป็นสังคมที่มีคุณภาพ คนมีความสุข ดีกว่าการที่ประเทศโตได้ในอัตรา 5 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ แต่รายได้และความมั่งคั่งกระจุกตัว

แต่ไหนแต่ไรมาสังคมไทยให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยเกินไป คนจนคิดว่าเป็นเรื่องบุญกรรม ปัญญาชน นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเมืองมักเชื่อว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่มีทางทำได้ โดยไม่รู้ว่าประเทศที่เจริญแล้ว เคยทำสำเร็จมาแล้ว และไม่ได้ทำลายเศรษฐกิจแต่อย่างใด ความคิดเดิมๆ เชื่อว่า การทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นทางเศรษฐกิจและสังคมมีแต่จะบั่นทอนสังคมไม่ให้มีความก้าวหน้าเจริญเติบโตเพราะมันไปทำลายแรงจูงใจในการทำงานและการลงทุน เรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับผลของโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำในความมั่งคั่ง รายได้ที่มีต่ออัตราความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค รวมทั้งการที่เศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพเพราะเรายังมีกรอบคิดแบบเดิมๆ ที่ว่าเศรษฐกิจโตไม่ได้มากเพราะการลงทุนมีน้อยไป ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

วันนี้องค์ความรู้ใหม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกก็คือ ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องสำคัญ มันพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ไปทั่วโลก มันน่าสยดสยองเมื่อเราพบจาก World Wealth Report 2015 ว่าคนที่รวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกเป็นเจ้าของสินทรัพย์กว่าร้อยละ 50 อีกด้านหนึ่งเราน่าจะดีใจที่พบว่าสังคมที่มีความเสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หลายประเทศอยู่ในยุโรปแถบสแกนดิเนเวียและที่อื่นๆ เป็นทุนนิยมรัฐสวัสดิการ คนมีความสุขมาก เราพบว่าสังคมที่มีความเสมอภาค ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพและคุณภาพ ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรม จำนวนคนติดคุกมีน้อย คนป่วยโรคจิตมีอัตราที่ต่ำ คนมีความไว้วางใจให้แก่กันสูง ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

Advertisement

ความคิดเดิมๆ เช่น ของ Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่เคยเชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของการพัฒนาประเทศ แต่จะลดลงภายหลังเมื่อรายได้ต่อหัวสูงขึ้นนั้นมันพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง นี่เป็นข่าวร้าย Piketty ในหนังสือ Capital ที่ขายไปได้กว่าสองล้านเล่ม แปลเป็นภาษาต่างๆ ใน 40 ประเทศ ได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ความเหลื่อมล้ำได้สูงขึ้น (เป็นการย้อนกลับไปสู่ปรากฏการณ์เดิมช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20) อย่างน่าใจหายโดยเฉพาะในประเทศอย่างสหรัฐที่ให้ตลาดเป็นพระเจ้าครอบงำสังคมและรัฐ

ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรอให้เราเป็นประเทศที่รายได้สูงแล้วถึงลดความเหลื่อมล้ำ เพราะถ้าเราคิดเช่นนั้น เราอาจจะไปได้ถึงช้ามากหรือไม่ถึงเลย ข้อมูลของ Piketty ทำให้เราเรียนรู้จากพัฒนาการของระบบทุนนิยมจากประเทศที่เจริญมาก่อนหน้าว่า โดยตัวมันเองกลไกภายในของระบบจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นมันตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่รัฐไม่ทำอะไร เช่น ไม่เก็บภาษีในอัตรที่ก้าวหน้าและสูงเพื่อกระจายรายได้ และเพิ่มสวัสดิการให้แก่คนที่มีรายได้ต่ำหรือชนชั้นกลาง กระบวนการประชาธิปไตยบ่อยครั้งก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาในการลดความเหลื่อมล้ำเพราะคนจนไม่มีพลังในการรวมตัว หลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างน้อยประมาณ 40 ปี Piketty พบว่าสงครามและเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงทศวรรษ 30 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงในยุโรป สหรัฐอเมริกา (Piketty ลืมญี่ปุ่นไป) สงครามทำลายความมั่งคั่งของคนรวยในยุโรป เศรษฐกิจที่ตกต่ำทำลายศรัทธา ความเชื่อของระบบตลาดเสรี นำมาซึ่งการเติบโตของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย รวมทั้ง Social Market Economy วันนี้อัตราภาษีเงินได้บุคคลสูงสุดของอเมริกาเก็บไม่ถึงร้อยละ 40 อังกฤษยังอยู่ที่ร้อยละ 60 แต่ในทศวรรษ 30 ใครจะไปเชื่อว่าอเมริกาเคยเก็บภาษีเงินได้สูงถึงร้อยละ 80 ถึง 90 ตั้งแต่กลางทศวรรษ 80 เป็นต้นมา ความเหลื่อมล้ำวกกลับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและกระบวนการโลกานุวัตร แต่ที่สำคัญส่วนหนึ่งคือรัฐเก็บภาษีในราคาที่ต่ำลง

ที่สำคัญกว่านั้นประเทศไทยก็จะไม่มีข้อยกเว้น เรากำลังเดินสู่เส้นทางของการเติบโตในระบบทุนนิยมที่ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น ถ้าเราไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ถูกต้อง ไม่มีการให้ความสำคัญที่รัฐจะต้องเป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเป็นรัฐที่จะกระจายรายได้ (Effective Redistributive State) จากคนรวยไปสู่คนระดับล่าง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ทุกวันนี้เราเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3% เศษๆ แต่เราจะตกใจไหม ถ้ารู้ว่าผลตอบแทนของทุนเฉพาะที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในรูปของราคาหุ้น ของกำไร ของเงินปันผล ของค่าเช่า โดยรวมให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าเรารู้จักโลกและมองดูประเทศไทยก็จะเห็นภาพของอนาคตได้ไม่ยาก โลกแห่งอนาคตในระยะยาวเศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราที่ต่ำลง (g) แต่ทุนไม่ว่าจะมองจากด้านใด ทุนทางวัตถุเช่น Property หลายอย่างเคลื่อนย้ายไม่ได้แต่ดีมานมาจากทั่วโลก ทุนทางการเงิน ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญาลื่นไหลหาผลตอบแทนที่สูง ไม่มีขอบเขตจำกัด ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งจะทำให้ผลลัพธ์ทางด้านการลงทุนในการศึกษากระจุกอยู่ที่คนรวยหรือผู้มีฐานะ อัตราผลตอบแทนตามหลักการมีแนวโน้มสูงขึ้นไม่ใช่ลดลง (r) การกระจุกตัวมีพลังต่างๆ หนุนให้มันเพิ่มมากขึ้นๆ ทุนของอาณาจักรวงศ์ตระกูลต่างๆ ก็ส่งต่อเป็นมรดกตกทอดกันไปหลายช่วงอายุ คนและตระกูลที่รวยก็จะแต่งงานกับคนรวยด้วยกัน เพราะฉะนั้นทุนกระจุกตัวจากมรดกที่เรียกว่า Patrimonial capitalism ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ จะเป็นมะเร็งร้ายในอนาคต ถ้าสังคมเพิกเฉยไม่ทำอะไรกับมัน สังคมใดก็ตาม ถ้าอัตราส่วนระหว่างความมั่งคั่งหรือทุนต่อรายได้สูงขึ้น แต่เราเก็บภาษีต่ำ การกระจุกตัวของความมั่งคั่งจะต้องตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ r สูงกว่า g

ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง big data ด้านความมั่งคั่ง หรือของคนรวยสำหรับประเทศไทย

การมี big data และ การทำ data analytics ด้านความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งและรายได้ จะเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของประเทศไทย ประการแรก มันจะเป็นการจุดประกายให้สังคมได้เห็นและตระหนักถึงผลร้ายของมัน ที่ผ่านมาหน่วยงานสำคัญของรัฐโดยเฉพาะสภาพัฒน์ไม่เคยให้ความสำคัญอย่างจริงจังเรื่องความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับสถาบันวิชาการเช่นมหาวิทยาลัย นานๆ จะจับเรื่องนี้ทีมาแล้วก็หายไปเหมือนสายลม การวัดความเหลื่อมล้ำเช่นดูจากค่า GINI สังคมไม่เห็นภาพจะสู้ข้อมูลแบบที่ Piketty นำเสนอไม่ได้ คือเป็นการเสนอข้อมูลการกระจุกตัวของรายได้และความมั่งคั่งจากข้อมูลทางภาษีอากร และการกระจายของความมั่งคั่งและรายได้เป็นเปอร์เซ็นไทล์ เช่น 1% 10% ของรายได้หรือความมั่งคั่งสูงสุดมีส่วนแบ่งเท่าไหร่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงต่างๆ จะต้องมี Big data การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำจากทุนและจากแรงงาน ในกรณีของแรงงาน ต้องลงลึกความเหลื่อมล้ำของค่าจ้าง โดยเฉพาะความแตกต่างรายได้ของระดับผู้บริหารสูงสุดของเอกชนและของรัฐกับรายได้ระดับต่ำสุดและระดับเฉลี่ย เป็นต้น ประการที่สอง Big data ที่ได้จากความเหลื่อมล้ำและความมั่งคั่ง จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้สังคมไทยยอมรับและให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่รัฐจะต้องออกแบบนโยบายใหม่ และต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีที่ให้ความสำคัญกับฐานภาษีที่มาจากรายได้ ความมั่งคั่ง ทรัพย์สิน ทุน ในรูปแบบต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่สองในสามของรายได้มาจากฐานการบริโภคสินค้า นอกจากเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังสามารถทำให้รัฐไทยมีรายได้ภาษีต่อจีดีพี ที่สูงขึ้น เพื่อการใช้จ่ายทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข

ถ้าทำได้เราจะได้เห็นสังคมไทยที่มีความเท่าเทียมกันสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะเดียวกัน คุณภาพชีวิตและสังคมมีคุณภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image