โศกนาฏกรรมที่เดปายิน กับการลอบสังหารออง ซาน ซูจี : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวลือหนาหูในพม่าว่า ออง ซาน ซูจี ประธานที่ปรึกษารัฐ กำลังตกเป็นเป้าหมายการลอบสังหาร ภายหลังตำรวจยึดอาวุธสงครามและยาเสพติดจำนวนหนึ่งได้จาก อู เพียว โก โก ติน ซาน
(U Phyo Ko Ko Tin San) อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค USDP (พรรคนอมินีของกองทัพ) ในการเลือกตั้งซ่อมปี 2012 แต่สอบตก อู เพียว โก โก ติน ซาน ยังเป็นบุตรชายของ อู ติน ซาน (U Tint San) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาในรัฐบาลของ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และเจ้าของบริษัท ACE บริษัทก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในพม่า ภายหลังการจับกุม อู เพียว โก โก ติน ซาน ที่สนามบินกรุงเนปิดอว์ ตำรวจยังบุกยึดของกลางเป็นอาวุธสงครามจำนวนมาก มีทั้งปืนพก 9 กระบอก กระสุน 892 นัด ซองกระสุน 16 อัน และอุปกรณ์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ท่ามกลางพิรุธมากมายจากการจับกุมอู เพียว โก โก ติน ซาน ในครั้งนี้ สื่อพม่าพุ่งเป้าไปที่ออง ซาน ซูจี ทันที และมองว่าเธอคือเป้าหมายของการลอบสังหาร ในอันที่จริงผู้ที่ออกมาเตือนให้ซูจีระมัดระวังตัวเป็นพิเศษและเพิ่มการรักษาความปลอดภัยไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนในกองทัพพม่าเอง แม้จะไม่สามารถเชื่อมโยงได้แน่ชัดว่าอู เพียว โก โก ติน ซาน และพวกมีแผนลอบสังหารออง ซาน ซูจี หรือบุคคลสำคัญในรัฐบาลจริง แต่สังคมพม่ามองว่าครอบครัวของอู เพียว โก โก ติน ซาน มีความสัมพันธ์กับกองทัพพม่าเป็นพิเศษ และอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เขามีอาวุธปืนราคาแพง ทั้งปืนกล็อก รูเกอร์ และบาเร็ตต้า ไว้ในครอบครองหลายชิ้น สายสัมพันธ์กับกองทัพและพรรคนอมินีของกองทัพอย่าง USDP ยังทำให้บริษัทในเครือของ ACE ได้รับสิทธิก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หลายหลังในเนปิดอว์ โดยเฉพาะอาคารรัฐสภาที่หรูหราอลังการ

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ออง ซาน ซูจี เป็นเป้าของการโจมตีหรือถึงขั้นลอบสังหาร เธอเคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 2 ครั้ง และเหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้งนั้นยังติดค้างอยู่ในใจ
ผู้สนับสนุน NLD และออง ซาน ซูจี ทำให้การปรองดองและหันหน้าเข้าหากองทัพเป็นสิ่งที่ทำได้ยากลำบากยิ่งสำหรับซูจีและคนในพรรค NLD ในปี 1988 (พ.ศ.2531) พรรค NLD ถือกำเนิดขึ้น ผู้คนในพรรคยกให้ซูจีเป็นหัวหน้าพรรค ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 10 พฤศจิกายน 1988 ซูจีและทีมหาเสียงเดินสายหาเสียงทั่วพม่า และได้แวะตามเมืองต่างๆ หลายสิบเมือง ผู้คนในแต่ละเมืองแห่มาชมเธออย่างล้นหลาม

เมื่อชื่อของ NLD เริ่มเป็นที่รู้จัก รัฐบาล SLORC เริ่มมองว่าซูจีและ NLD กำลังยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในพม่า เพราะในแต่ละที่ที่ซูจีเดินทางไป จะมีประชาชนเฝ้ารอคอยได้พบปะกับเธอมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบเป็นหลักร้อย และจากหลักร้อยเป็นหลักพัน

Advertisement

ถึงกระนั้น รัฐบาล SLORC ยังปล่อยให้ออง ซาน ซูจี เดินทางไปหาเสียงทั่วประเทศ แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าจะจับกุมนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มผู้ชุมนุมไปบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่เหมือนเมื่อปี 1988 อีก ในเดือนเมษายน 1989 ในขณะที่คณะของซูจีกำลังหาเสียงอยู่ที่เมืองดะนุผิ่ว ในพม่าตอนล่าง เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารออง ซาน ซูจี ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทหารในกองทัพพม่า 6 นาย (หรืออาจจะตีความว่าเป็นเพียงการทำให้เธอกลัวมากกว่าเป็นการลอบสังหาร) แม้ในภายหลัง กองทัพจะออกมาขอโทษและประณามการกระทำดังกล่าว แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากองทัพต้องการขู่เธอและผู้สนับสนุน NLD หลังเหตุการณ์ที่ดะนุผิ่วไม่กี่เดือน ซูจีถูกควบคุมตัวในบ้านพักเป็นครั้งแรก และจะถูกปล่อยตัวออกมาแบบมีเงื่อนไขในปี 1995 (พ.ศ.2538) ก่อนที่จะถูกควบคุมตัวอีกครั้งระหว่างปี 2000 (พ.ศ.2543) ถึง 2002 (พ.ศ.2545) เมื่อได้รับการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี และคนในพรรค NLD ออกเดินสายไปทั่วพม่าอีกครั้งพร้อมกับกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมาก ที่เมืองเดปายิน (Depayin) ไม่ไกลจากเมือง มัณฑะเลย์ เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค NLD กับกลุ่มอันธพาลที่มีจำนวนมากถึง 4,000 คน อันธพาลบางส่วนพยายามพุ่งเข้ามาโจมตีรถของซูจี แต่คนขับรถพาเธอขับหลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด

กลุ่มอันธพาลที่มีไม้หน้าสามเป็นอาวุธหลักจู่โจมกลุ่มผู้สนับสนุน NLD เข้าทำร้ายร่างกายผู้สนับสนุน NLD จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน หลังเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เดปายิน เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักหนังสือพิมพ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ารวบรวมหลักฐานและสรุปว่ากลุ่มอันธพาลที่โจมตีผู้สนับสนุน NLD เป็นม็อบที่จัดตั้งขึ้นโดย USDA (Union Solidarity Association) หรือสมาคมเพื่อการพัฒนาและความเป็นปึกแผ่นแห่งสหภาพ อันเป็นหน่วยงานของ SLORC ที่ตั้งขึ้นเพื่อ “ช่วงชิงมวลชนจาก NLD” ภายใต้การนำของนายพลตาน ฉ่วย จนถึงขณะนี้ การสืบสวนสอบสวนหาความจริงในเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เดปายินยังเป็นปริศนา ครอบครัวผู้เสียชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่มีใครรู้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอน เพราะในคืนที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่รัฐรีบเร่งกำจัดศพ และปกปิดหลักฐาน ในวันต่อมา รัฐบาล SLORC ออกมากล่าวโทษ NLD ว่าเป็นสาเหตุของการนองเลือดที่เดปายิน ออง ซาน ซูจี ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง และเธอจะถูกควบคุมตัวอยู่อย่างนั้นจนถึงปลายปี 2010 (พ.ศ.2553) เมื่อเธอถูกปล่อยตัวออกมาถาวร

การลอบสังหารออง ซาน ซูจี หรืออย่างน้อยคือการขู่ให้เธอและผู้สนับสนุน NLD กลัว เคยเกิดขึ้นมาก่อนถึง 2 ครั้ง ชี้ให้เห็นว่ากองทัพพม่าเห็นว่าทั้งซูจี NLD และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งปวงเป็นภัยต่อความมั่นคงในพม่า แม้ซูจีจะอยู่รอดปลอดภัย แต่ก็มีผู้ใกล้ชิดของเธอที่ต้องสังเวยชีวิตไปไม่นานมานี้ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของ อู โก นี อดีตนักกฎหมายคนสำคัญของ NLD และที่ปรึกษาด้านกฎหมายคู่กายของออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกลอบสังหารไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

Advertisement

ความตายของอู โก นี และสัญญาณเตือนที่ซูจีได้รับในขณะนี้แสดงให้เห็นว่ามี “พี่เบิ้ม” (Big Brother) ที่กำลังสอดส่องและควบคุมกระบวนการ “ทำให้เป็นประชาธิปไตย” ในพม่าอยู่อย่างใกล้ชิด และตราบใดที่
ซูจีไม่ข้ามเส้นและดำเนินตามนโยบายปรองดองแห่งชาติ เธอก็จะอยู่รอดปลอดภัย เพียงแต่ประชาธิปไตยในพม่าก็จะอยู่ในสภาวะ “อึน ๆ” อย่างนี้ไปอีกนานแสนนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image