ดับเบิลยูอีเอฟ จัดเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ในไทย 20 พ.ย.นี้ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถาบันเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ซึ่งเป็นเวทีประชุมที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลก โดยทุกปีจะจัดประชุมใหญ่ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจ นักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำทางความคิดได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์
นอกจากนั้นดับเบิลยูอีเอฟยังเป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ กว่า 140 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันมีความสำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ บรรยากาศการค้าและการลงทุน โดยล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาดับเบิลยูอีเอฟได้จัดลำดับให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในลำดับที่ 32 จาก 137 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากลำดับที่ 34 จากการจัดลำดับในครั้งก่อนหน้านี้

รัฐบาลไทยเล็งเห็นว่า แนวทางการดำเนินงานของดับเบิลยูอีเอฟ หลายอย่าง สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของไทย โดยเฉพาะเรื่องไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือการปรับตัวรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ดับเบิลยูอีเอฟผลักดันให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและหาทางปรับตัว กระทรวงพาณิชย์จึงได้ประสานกับดับเบิลยูอีเอฟเพื่อขยายความร่วมมือกันมากขึ้น โดยปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็น Board of Trustees ของดับเบิลยูอีเอฟอยู่ และตกลงที่จะจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Competitiveness and Inclusive Growth : Navigating towards Thailand 4.0 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ในไทย โดยดับเบิลยูอีเอฟจะมาวิเคราะห์ผลการจัดอันดับล่าสุดของไทยให้ผู้แทนระดับนโยบายด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งรัฐมนตรีจากกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงจุดอ่อนจุดแข็งและประเด็นที่ควรต้องเสริมสร้างหรือเร่งปรับปรุง เป็นต้น เพื่อให้ไทยนำไปพิจารณาประกอบการกำหนดนโยบายการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้แล้ว ในปี 2561 ดับเบิลยูอีเอฟมีแนวโน้มที่จะนำเกณฑ์ชี้วัดใหม่มาใช้ในการวัดและจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยจะให้ความสำคัญกับด้านนวัตกรรมมากขึ้น จึงจะมี workshop ระดับเจ้าหน้าที่หลังการประชุมเพื่ออธิบายการคำนวณดัชนีแบบใหม่ด้วย

“การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่สถาบันดับเบิลยูอีเอฟมาจัดงานในประเทศไทย นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ดับเบิลยูอีเอฟและประเทศไทยทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ประเด็นที่เขาเน้น คือ เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจของไทยสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ที่กำลังมุ่งไปสู่การรองรับความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายด้าน จึงเห็นว่าไทยเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังจะขยายความร่วมมือกับดับเบิลยูอีเอฟทางด้านเศรษฐกิจการค้าต่อไป โดยความชำนาญของดับเบิลยูอีเอฟ ด้านนโยบายและการปรับตัวด้านต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และช่วยให้ประเทศไทยมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์โลกยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยผ่านเวทีเศรษฐกิจระดับโลกอีกด้วย” นางอภิรดีกล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image