ชาวตรังจวกยับปมล่า’พะยูน’ผัดเผ็ดจนเกือบสูญพันธุ์ ยันช่วยอนุรักษ์จนยอดพุ่ง

รายงานข่าวจากจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ถึงความคืบหน้ากรณี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลในการอนุรักษ์พะยูนและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศ ถึงสถานการณ์พะยูนในประเทศไทยจัดอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนัก ในเรื่องที่อยู่อาศัยและการทำลายแหล่งหญ้าทะเล ยืนยันเรื่องการล่าพะยูนมีอยู่จริง ด้วยการเอาซากพะยูนที่ติดเครื่องมือประมงเข้าฝั่งแล้วไม่แจ้งกับใคร จากนั้นแล่เนื้อแยกออกเป็นส่วนๆ กระดูกและเขี้ยวแยกไว้ส่วนหนึ่ง ซื้อขายในกิโลกรัมละ 1 หมื่นบาท ส่วนเนื้อขายกันในกิโลกรัมละ 150 บาท และนำเนื้อไปปรุงอาหารจานเด็ด “พะยูนผัดเผ็ด” จนกลายเป็นข่าวสะเทือนวงการอนุรักษ์เป็นอย่างมาก

ล่าสุดชาวชาวบ้านตำบลเกาะลิบง ซึ่งตกเป็นจำเลยของนายธัญญา ได้ออกมาแถลงโต้ว่าไม่เป็นความจริงตามที่ นายธัญญา ออกมาให้ข่าวพร้อมทั้งเรียกร้องให้ นายธัญญา ให้ฐานะอธิบดีที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางทะเลออกมารับผิดชอบต่อคำพูดดังกล่าว ข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก เป็นความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในเรื่องอนุรักษ์ โดยเฉพาะพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง แม้แต่การแข่งขันกีฬาในระดับจังหวัด ภาค หรือประเทศ ก็มีการนำ “พะยูน” มาเป็นมาสค็อตสัตว์นำโชค
หลังจากที่ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจต่อคนตรังเป็นอย่างมาก โดยมีการเปิดประเด็นรับฟังความคิดเห็นใน เพจ “คนตรัง” ที่มีสมาชิกมากกว่า 8 หมื่นคน ปรากฏว่ามีสมาชิกเข้ามาคอมเมนต์โจมตีการออกมาให้ข่าวของอธิบดีกรมอุทยานฯ อาทิ Prapom Rimdusid โฟสต์ว่า เมื่อตะกี้มีคนไข้จากเกาะลิบงมายืนยันว่า ไม่มีการล่าพะยูนจากชาวเกาะลิบง มีแต่จะช่วยเหลือเวลาพะยูนเกยตื้น เขาฝากมาช่วยให้แก้ข่าวด้วย ,คุณ นิ เทเรซา โฟสว่า “มีคนปล่อยข่าวคะ เมื่อเช้าท่านผู้ว่าออกมาให้สัมภาษณ์แก้ข่าวแล้วจร้า ไม่มีการล่ามีแต่จะช่วยกันเป็นหูเป็นตา หรือ คุณ Prapon Chotikamas โฟสว่า “ถ้ามีจริง จนท. ที่ดำเนินการล่อซื้อกรุณาดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย อย่าทำเฉย “คนตรังตามืดบอด ไม่เห็นหรือ ช่วยกันปิดข่าว…ช่วยกันตามนะครับ… เขากำลังดูถูกคนตรัง ฯลฯ

ขณะที่องค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ประกอบด้วยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง , อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดตรังออกมาเคลื่อนไหว พร้อมเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานฯออกมาแสดงความรับผิดชอบกับการให้ข่าวที่ผ่านมา

นายแสวง ขุนอาจ ผู้ทรงคุณวุฒิการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตาม ม.12(กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง /ทช.), กรรมการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2535 มีการล่าพะยูน ตามความเชื่อที่ว่าถ้าพะยูนตายเกินปีละ 5 ตัวภายใน 20 ตัวจะสูญพันธุ์ โดยในปี 2555 เกิดวิกฤตพะยูนตายถึง 11 ตัว จึงเกิดเครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐได้มีการรณรงค์การอนุรักษ์พะยูนอย่างจริงจัง จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก โดยในปี พ.ศ.2555 ทะเลตรังมีพะยูน 120 ตัว หลังจากที่มีการรณรงค์กันอย่างจริงจังโดยมีชุดเฉพาะกิจ ประกอบกันมีข่าวเรื่องพะยูนตายกระแสการอนุรักษ์พะยูนจุดติด กระทั้งในปี พ.ศ.2560 พบว่าพะยูนที่มีอยู่ 120 ตัว เพิ่มเป็น 200 ตัว จาก 200 ตัว ยังพบว่ามีพะยูนแม่ลูกอ่อนประมาณ 10 คู่ แสดงว่าประชากรพะยูนมีความสมบูรณ์ขึ้น เพราะฉะนั้นการออกมาให้ข้อมูลเรื่องการล่าพะยูนมีมาเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

“แสดงให้เห็นว่าท่านอธิบดีกรมอุทยานฯ รับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่ไม่ได้ลงพื้นที่ดูการปฏิบัติอย่างแท้จริง ถ้าหากท่านอธิบดีทราบว่าคนล่าพะยูนจังหวัดตรังมีจริง ท่านมีทั้งอำนาจ เจ้าหน้าที่ และเขตห้ามล่าฯท่านต้องเอาคนกระทำความผิดมารับโทษให้ได้ เพราะฉะนั้นการล่าพะยูนเอาไปปรุงอาหารผัดเผ็ดบ้าง ขายเนื้อพะยูนกิโลกรัมละ 150 บาทบ้าง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์การจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะทะเลตรัง คนจังหวัดตรังจึงรับไม่ได้รับเรื่องนี้ เพราะเมื่อท่านในฐานะแม่ทัพระดับกรมให้ข่าวออกไปต้องรับผิดชอบ จะปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ท่านอธิบดีจะพูดแบบสนุกปากไม่ได้ ทางชมรมฯยืนยันว่าให้ท่านใช้กฎหมายตามที่ท่านพูดว่ามีคนล่าพะยูนเอาไม่ปรุงอาหารผัดเผ็ด ท่านต้องล่าคนที่นำพะยูนไปผัดเผ็ดมาดำเนินคดีให้ได้” นายแสวง กล่าว

นายตะวัน ทุ่ยอ้น เลขานุการชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง , อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดตรัง กล่าวว่า ชมรมประมงพื้นบ้าน ชาวบ้าน ร่วมมือกับส่วนราชการในการกอบกู้วิกฤติพะยูนอย่างจริงจัง จึงเกิดกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , เกิดชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังการกระทำผิดทางทะเล ,เกิดกฎหมายท้องถิ่นกำหนดพื้นที่คุ้มครอง สามารถลดอัตราการตายของพะยูน เต่าทะเล และโลมา ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก ด้วยเครื่องมือประมง สร้างความเข้มแข็งมั่นคงด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้
นายตะวัน กล่าวว่า จากการติดตามผลการบินสำรวจพะยูน พบพะยูนเพิ่มมากขึ้น และในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีการบินสำรวจพบว่ามีประมาณ 200 ตัว พบคู่แม่ลูกประมาณ 10 คู่ ที่สำคัญพะยูนเป็นสัตว์ทะเลที่มีขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่า 300 กก. ว่ายน้ำเก่ง ปราดเปรียว ข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง ที่สำคัญในการให้ข่าวของอธิบดีกรมอุทยานฯต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ว่าสามารถล่อซื้อชิ้นเนื้อที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นชิ้นเนื้อพะยูนได้บนเกาะลิบง ทำให้คนตรังได้รับความเสียหาย

“ผมขอเรียนว่าการที่จะให้ข่าวท่านก็ควรคำนึงถึงผลกระทบผลเสียที่ตามมาของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจังหวัดตรังมีคณะทำงานบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่ง มีหน่วยงานภาคีมากมาย แต่เหตุการณ์ที่ท่านอธิบดีพูดเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตามและให้อธิบดีออกมารับผิดชอบต่อคำพูดด้วย” นายตะวัน กล่าว

Advertisement

นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเรียนว่าโดยนิสัยของพะยูนจะว่ายน้ำช้าและที่ทะเลตรังมีไม่เกิน 200ตัว เพราะถ้าพูดตามความจริงแล้วพะยูนจะอาศัยบริเวณน้ำตื้นน้ำใส และว่ายน้ำช้า ถ้าล่ากันจริงๆ 200ตัวเดือนเดียวก็หมด คำว่าล่าจึงไม่ใช่ ตนเชื่อว่าข่าวออกมานั้นเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องของข่าวเก่า การล่าอาจจะมีจริงแต่นานมาแล้ว โดยมีการนำพะยูนที่ตายแล้ว ไม่รู้จะเอาเนื้อไปไหน จึงมีการตัดเขี้ยว ประการสำคัญชาวบ้านในเกาะลิบง เป็นชาวมุสลิมจะไม่เชื่อโชคลางของขลังและไม่ทานเนื้อพะยูน ดังนั้นถ้าพูดในแง่การตลาดคงไปไม่ได้

“อีกทั้งถ้ามีการตั้งข้อสังเกตว่าคนนอกพื้นที่เข้ามาล่านั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นแกะดำทันที บริเวณเกาะลิบงมีเรือเข้าออกที่ชาวบ้านสามารถนับลำได้เลย ไม่รอดสายตาเจ้าหน้าที่และชาวบ้านไปได้ เป็นการช่วยกันสังเกตการณ์ อธิบดีก็เป็นเพื่อนกับตนมีการพูดคุยกัน ช่วยกันทำ ไม่มีชาวบ้านคนไหนตั้งใจที่จะล่าพะยูน กลับกับ จะหันมาช่วยเหลือพะยูน เช่นพะยูนติดเครื่องมือประมง หรือเกยตื้น ชาวบ้านจะแห่กันมาช่วยทั้งหมู่บ้านไม่เว้นเด็ก หรือคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน” นายศิริพัฒ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image