‘สามารถ’ข้องใจกทม.ท่วม โชว์สถิติฝนรายชั่วโมง ชี้ กทม.อาจไม่เดินเครื่องสูบ-ไม่พร่องน้ำ

วันนี้ (19 ต.ค.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามกรณีน้ำท่วม กทม. ถ้าเป็นแบบนี้…ยังไงก็ท่วม! จากเหตุการณ์ฝนกระหน่ำกรุงเมื่อเช้ามืดของวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560 ทำให้น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง บางพื้นที่กว่าน้ำจะลดเป็นระดับปกติก็ต้องรอจนถึงตอนเย็นของวันเสาร์ ผมเห็นใจคนกรุงเทพฯ ที่ต้องประสบความเดือดร้อนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก และเข้าใจถึงความยากลำบากในการป้องกันน้ำท่วมของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) และรู้สึกเห็นใจ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องออกมาขอโทษพี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ขอโทษครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

หากฟังคำชี้แจงของ กทม. ที่บอกว่าฝนตกหนักมากโดยมีปริมาณฝนในบางพื้นที่สูงกว่า 200 มม. ผมก็คล้อยตามคำชี้แจงนั้นไปเหมือนกัน เพราะคิดว่าเป็นปริมาณฝนที่ตกในช่วงระยะเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูง เนื่องจากมีปริมาณเกินความจุของท่อระบายน้ำ และคู คลอง เพราะฉะนั้น การมีน้ำท่วมขังคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พอเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึก กลับพบว่าไม่ใช่ปริมาณฝนใน 1 ชั่วโมง อย่างเช่น ที่เขตพระนครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากที่สุดคือมีถึง 203 มม.ในช่วงเวลาฝนตกตั้งแต่ 00.10-05.00 น. ของวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560 หรือระยะเวลาเกือบ 5 ชั่วโมง (ส่วนที่ท่านผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ว่าที่เขตพระนครมีปริมาณฝน 214.5 มม. นั้น เป็นการรวมปริมาณฝนในช่วงเวลาอื่นเข้าไว้ด้วย) หรือที่บริเวณดินแดงซึ่งมีน้ำท่วมสูงและขังเป็นเวลานาน พบว่ามีปริมาณฝน 174 มม. ในช่วงเวลาฝนตกตั้งแต่ 01.00-05.00 น. หรือระยะเวลา 4 ชั่วโมง ผมก็เกิดความสงสัยว่าทำไมที่ดินแดงซึ่งมีปริมาณฝนน้อยกว่าที่พระนคร แต่กลับมีน้ำท่วมถึงขั้นวิกฤต ผมจึงดูข้อมูลปริมาณฝนอย่างละเอียดเป็นรายชั่วโมง พบปริมาณฝนดังนี้

เวลา 01.00 น. ปริมาณฝน 17 มม.
เวลา 02.00 น. ปริมาณฝน 25 มม.
เวลา 03.00 น. ปริมาณฝน 93 มม.
เวลา 04.00 น. ปริมาณฝน 37.5 มม.
เวลา 05.00 น. ปริมาณฝน 1.5 มม.

จะเห็นได้ชัดว่าปริมาณฝนต่อชั่วโมงไม่สูง ยกเว้นเวลา 03.00 น. ซึ่งมีปริมาณฝน 93 มม. เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้นที่มีปริมาณฝนค่อนข้างสูง ผมจึงขอตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณดินแดงเป็นช่วงเวลานาน ดังนี้

Advertisement

1. ในขณะที่ฝนตกไม่มีการเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำดินแดง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ด่านเก็บค่าทางด่วนบนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ หรือเป็นเพราะเครื่องเสีย เพราะหากมีการเดินเครื่องสูบน้ำ น้ำจะไม่ท่วมสูงและขังอยู่เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ สามารถรับน้ำได้ 60 มม.ต่อชั่วโมง แต่ตามข้อมูลข้างต้น พบว่ามีฝนตกลงมาในแต่ละชั่วโมงน้อยกว่า 60 มม. ยกเว้นในเวลา 03.00 น. เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้นที่มีฝนตกลงมา 93 มม. ซึ่งเกินความจุของท่อ แต่ถ้ามีการเดินเครื่องสูบน้ำตั้งแต่ฝนเริ่มตกอย่างต่อเนื่อง น้ำก็จะไม่ท่วมขังเป็นเวลานานแน่นอน เนื่องจากสถานีสูบน้ำดินแดงจะสูบน้ำจากคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตไปที่บึงมักกะสัน เพื่อส่งต่อไปที่อุโมงค์มักกะสันต่อไป อีกทั้ง จะสูบน้ำเพื่อระบายไปสู่คลองสามเสนด้วย

2.ก่อนฝนตกไม่มีการพร่องน้ำ การพร่องน้ำเป็นการสูบน้ำออกจากท่อ และคู คลอง ซึ่งจะทำให้ท่อ และคู คลองมีพื้นที่รับน้ำฝนที่จะตกลงมา น้ำก็จะไม่ท่วมขังเป็นเวลานาน กทม.สามารถพร่องน้ำก่อนฝนตกได้ล่วงหน้านับชั่วโมง เพราะ กทม.มีเรดาร์ถึง 3 เครื่อง เรดาร์เหล่านี้ทำหน้าที่ตรวจจับกลุ่มฝน ทำให้รู้ว่ากลุ่มฝนจะมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ เมื่อรู้แล้ว กทม.สามารถพร่องน้ำในท่อ และคู คลองได้ล่วงหน้าก่อนฝนตก อนึ่ง ที่ผ่านมา กทม.มักจะอ้างว่าไม่สามารถพร่องน้ำในคลองแสนแสบได้ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้ แต่ในกรณีนี้เป็นช่วงเวลาที่เรือในคลองแสนแสบได้หยุดให้บริการแล้ว ดังนั้น กทม.จะใช้ข้ออ้างนี้ไม่ได้

หาก กทม.ชี้แจงว่า ได้ทำการพร่องน้ำแล้ว ถามว่า กทม.กล้าเปิดเผยข้อมูลระดับน้ำในคลองต่างๆ ในช่วงเวลาก่อนฝนตก ระหว่างฝนตก และหลังฝนตกหรือไม่ ข้อมูลระดับน้ำเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่ามีการพร่องน้ำจริงหรือไม่

Advertisement

ถ้าข้อสังเกตของผมถูกต้อง กทม.ก็ไม่สามารถจะโยนความผิดไปที่ปริมาณฝน หรือขยะได้อีกต่อไป แต่ กทม.จะต้องหันมามองที่การบริหารจัดการน้ำของตนเอง มิฉะนั้น คนกรุงเทพฯ จะต้องเตรียมลุยน้ำในหน้าฝนต่อไปอีกเช่นเคย

ทั้งหมดนี้ ผมไม่อยากเห็นท่านผู้ว่าฯ กทม. ต้องออกมาขอโทษพี่น้องประชนคนกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 3 ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image