ฉากบังเพลิง-พระที่นั่งทรงธรรม สุดยอด ‘จิตรกรรม’ พระเมรุมาศ ร.9

 

ภาพเขียน “จิตรกรรม” ที่ใช้ประกอบพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้ นับว่ามีความงดงาม และสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาพเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิงแต่ละภาพ ที่ผู้เขียนบรรจงถ่ายทอดเรื่องราว คติความเชื่อตามหลักเทวนิยม ว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ ซึ่งอวตารมาจากพระนารายณ์ รวมถึง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขณะที่ภาพเขียนจิตรกรรมในพระที่นั่งทรงธรรม ได้ถ่ายทอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่โดดเด่นของในหลวง รัชกาลที่ 9

“ฉากบังเพลิง” เครื่องกั้นทางขึ้นลงพระเมรุมาศ มักเขียนเป็นรูปเทวดา มีลักษณะเป็นฉากพับได้ ติดไว้กับเสาทั้ง 4 ด้าน บริเวณบันไดขึ้นลงพระเมรุมาศ เพื่อใช้บังลม และไม่ให้เห็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 ประกอบด้วยฉากบังเพลิง 4 ด้าน ล้อมรอบพระจิตกาธาน ด้านหน้า และด้านหลัง จะเขียนภาพจิตรกรรมที่แตกต่างกัน แนวคิดการออกแบบพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 ยึดคติความเชื่อตามหลักเทวนิยมที่ว่า “พระมหากษัตริย์” คือ “สมมุติเทพ” ซึ่งอวตารมาจากพระนารายณ์ ด้วยเหตุนี้ ภาพเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิงจึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับ “พระนารายณ์อวตาร 9 ปาง” โดยปางที่ 9 คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงประทับอยู่ในพระบรมโกศ

สำหรับพระนารายณ์อวตาร 8 ปาง ที่ปรากฏบนฉากบังเพลิง จะเป็นเรื่องราวพระนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 6 ดังนี้ ทิศเหนือ ปางที่ 1 มัสยาอวตาร (ปลากรายทอง) ปางที่ 2 กูรมาวตาร (เต่า) ทิศตะวันออก ปางที่ 3 วราหาวตาร (หมูป่า) ปางที่ 4 นรสิงหาวตาร (นรสิงห์) ทิศใต้ ปางที่ 6 ปรศุรามาวตาร (พราหมณ์ปรศุราม หรือผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ) ปางที่ 7 รามาวตาร (พระรามในรามเกียรติ์) ทิศตะวันตก ปางที่ 8 กฤษณาวตาร (พระกฤษณะ) ปางที่ 10 กัลกยาวตาร (มนุษย์ขี่ม้าขาว)

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนกลุ่ม “เทวดา” ที่สื่อความหมายว่าเหล่าเทวดามารับเสด็จในวาระเสด็จสู่สวรรคาลัย

ความพิเศษอีกประการคือ การอัญเชิญ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่คัดสรรโครงการเด่นๆ 24 โครงการ จากกว่า 4,000 โครงการ มาถ่ายทอดบนฉากบังเพลิง ตามหมวดดิน น้ำ ลม และไฟ โดยทิศเหนือ หมวดน้ำ ทิศตะวันออก หมวดดิน ทิศใต้ หมวดไฟ และทิศตะวันตก หมวดลม

Advertisement

ทิศเหนือ ประกอบด้วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดน้ำ 6 โครงการ ได้แก่ ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสาน เลือกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศ บำบัดน้ำเสีย

ทิศตะวันออก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดดิน 6 โครงการ ได้แก่ ดินกรวด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ดินเค็ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ดินทราย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และโครงการหุบกะพง-ดอนห้วยขุน ดินดานลูกรัง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ดินเปรี้ยว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

ทิศใต้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดไฟ 6 โครงการ ได้แก่ สบู่ดำ ปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน สามารถใช้แทนน้ำมันดีเซล ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โรงงานผลิตไบโอดีเซล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เชื้อเพลิงอัดแท่ง แกลบอัดแท่ง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ทิศตะวันตก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมวดลม 6 โครงการ ได้แก่ กังหันลม โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ บ้านหนองคอไก่ จ.เพชรบุรี เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน จ.เชียงใหม่ กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และบางกระเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ พระราชดำริพื้นที่บางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นปอดของกรุงเทพฯ เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์ที่ผลิตจากพื้นที่แห่งนี้เข้าฟอกอากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน

ส่วนด้านหลังของฉากบังเพลิงทั้ง 4 ด้าน มีลวดลายเหมือนกันทุกด้าน แบ่งเป็น ด้านบน มีพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” พร้อมดอกดาวเรืองสีเหลือง สีประจำวันพระราชสมภพ แทรกกลางพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” รอบข้างเป็นอุบะดอกมณฑาทิพย์ เชื่อกันว่าเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ ที่ร่วงหล่นเฉพาะเกิดเหตุการณ์สำคัญแก่ชาวโลก ขนาบด้านซ้าย และขวา พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ด้วยพุ่มต้นมณฑาทิพย์ทอง สื่อถึงการถวายสักการะแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านล่างประกอบด้วยดอกไม้มงคล

ความโดดเด่นของงานเขียนจิตรกรรมบนฉากบังเพลิง จะปิดด้วยทองคำเปลว โดยใช้วิธีโบราณที่ใช้ในการเขียนภาพฝาผนัง ใช้กาวจากยางไม้มะเดื่อ การปิดทองคำเปลวจะปิดเฉพาะส่วนที่ต้องการเน้น หรือส่วนที่โดดเด่น ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องทรง ชฎาของเทวดา และของพระนารายณ์ โดยตัดเส้นด้วยทองคำเปลว

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังใน “พระที่นั่งทรงธรรม” มีความพิเศษตรงที่สะท้อน “ศาสตร์พระราชา” ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จำนวน 46 โครงการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการจัดภูมิสถาปัตย์รอบนอก สะท้อนถึงความเป็นนักคิดนักพัฒนาของพระองค์ท่าน ทั้ง 3 ด้านของพระที่นั่งทรงธรรมแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ไม่ซ้ำกัน โดยเรียงร้อยเรื่องราวต่อเนื่องกันไปทั้งผนัง

ผนังที่ 1 ตำแหน่งกลางของพระที่นั่งทรงธรรม แสดงเรื่องราวโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 19 โครงการ ดังนี้ โรงสีข้าว โรงบดแกลบ โรงหล่อเทียนหลวง สาหร่ายเกลียวทอง ผลิตภัณฑ์จากโคนมสวนจิตรลดา ผลิตภัณฑ์จากผักและผลไม้ การเพาะเลี้ยงปลา นาข้าวทดลอง ป่าสาธิต กังหันลม มูลนิธิราชประชาสมาสัย การบริหารจัดการน้ำท่วม โครงการแก้มลิง ได้แก่ โครงการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ มูลนิธิพระดาบส โครงการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการบำบัดน้ำเสีย โครงการทางยกระดับลอยฟ้าบรมราชชนนีตามพระราชดำริ และโครงการสะพานพระราม 8 ตามพระราชดำริ

ผนังที่ 2 ตำแหน่งมุขด้านขวาของพระที่นั่งทรงธรรม แสดงเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 13 โครงการ ดังนี้ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ ศูนย์การพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ ต.ภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง จ.พะเยา มูลนิธิโครงการหลวง สถานีเกษตรหลวง การปลูกป่าอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร การส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์โครงการหลวง พืชเมืองหนาว การอนุรักษ์ดิน การปลูกหญ้าแฝก การแกล้งดิน การปลูกพืชหมุนเวียน พืชตระกูลถั่ว โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อ.เมือง จ.สกลนคร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร-นครพนม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว หลัก 22 เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์

ผนังที่ 3 ตำแหน่งมุขด้านซ้ายของพระที่นั่งทรงธรรม แสดงเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ รวม 14 โครงการ ดังนี้ โครงการศึกษาพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก สหกรณ์โคนมอ่าวลึก จำกัด ต.คีรีวง อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านเนินธัมมัง จ.นครศรีธรรมราช โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา โครงการฝนหลวง ปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โครงการขยายผลทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริบริเวณรอบพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรี โครงการชั่งหัวมัน โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

ภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิง และภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งทรงธรรม ของพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 นอกจากมีความวิจิตรงดงามแล้ว ยังถ่ายเรื่องราวตามคติความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย และสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image