ยุทธศาสตร์ คสช. พลิกอ่อน เป็นแข็ง พลิก”โลกล้อมไทย”

จุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของ คสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบัน

คือปฏิกิริยาการตอบรับจากต่างประเทศ

ยังจำได้หรือไม่ว่า ท่าที “เฉยชา” จากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ภายหลังการรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อปี 2557 เป็นอย่างไร

และทำไมนโยบายต่างประเทศของไทยถึงเอนเอียงเข้าไปหา “จีน” มากเป็นพิเศษในระยะหลัง

Advertisement

แต่ “เวลา” นั้นเป็นยาวิเศษเสมอ

ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับ “ผลประโยชน์” ด้วยแล้ว

ยิ่งเป็นยาวิเศษอันเอกอุ

Advertisement

 

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ

ว่าเหตุไฉนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงเปิดประตูต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อย่างอบอุ่น

หากไม่มีการสั่งซื้อถ่านหินคุณภาพดีจำนวน 155,000 ตันของเครือซิเมนต์ไทยเป็นแรงหนุน

หากไม่มีการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านบาท และสร้างงานในรัฐโอไฮโอกว่า 8,000 ตำแหน่งของ ปตท.โกลบัล เคมิคัลเป็นอีกแรงผลักดัน

หากไม่มีการลงทุนข้ามชาติเพื่อผลิตชิ้นส่วนให้รถยนต์ไฟฟ้าเทสลาโดยกลุ่มไทยซัมมิตเพิ่มเข้าไปอีกแรง

รวมทั้งหากไม่มีแรงกดดันให้เปิดตลาดเนื้อ และเครื่องในหมูจากสหรัฐเข้ามาด้วยแล้ว

มิตรไมตรีที่หยิบยื่นให้จะซาบซึ้งซาบซ่าเช่นนี้ละหรือ

 

จากคิวของสหรัฐอเมริกา

ต้นปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ยังมีแนวโน้มจะเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ

จะมีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมไปกว่านี้อีกเล่า

อังกฤษเพิ่งลงมติแยกตัวจากสหภาพยุโรป

กระบวนการในการโดดเดี่ยวตนเองนั้นยุ่งยากมากมาย และมีแรงบีบคั้นจากรอบด้าน

ความต้องการมิตรย่อมมากกว่าปกติ

และในขณะที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป

สกอตแลนด์ก็ตั้งท่าว่าจะขอแยกตัวจากอังกฤษ เพื่อกลับเข้าไปรวมกับสหภาพยุโรปแทน

ความยุ่งยากใจและยุ่งยากในการทำงานยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ช่วงเวลาไหนเล่าที่ต้องการมิตร

และเป็นเวลาอันควรถกถึงประโยชน์ร่วมไปมากกว่านี้

 

กระนั้น แนวทาง “โลกล้อมไทย” ที่ คสช.พยายามเปลี่ยนจุดอ่อนให้กลับมาเป็นจุดแข็ง

อาศัยแรงจากภายนอก เข้ามาสร้างเสถียรภาพและค่านิยมภายใน มิได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะภาครัฐ

17 ตุลาคม

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊ก จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย

และเข้าพบหารือในวันที่ 30 ตุลาคมว่า

การเดินทางมาเยือนและพบกับตนเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นการเดินทางมาดำเนินการในส่วนของเขา

เป็นการขอเข้าพบและหารือร่วมกันในการแสวงหาความร่วมมือ เรื่องป้องกันแก้ไขปัญหาผลกระทบของอาชญากรรมข้ามชาติ

ว่าจะมีมาตรการและแผนการป้องกันอย่างไร ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดปัญหา

“ขอร้องว่าการพบกันครั้งนี้อย่าไปยึดโยงกับเรื่องนั้นเรื่องนี้เลย ถือเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

“ก็ดีกว่าไม่ได้พูดกันเลย”

 

แน่นอนว่าหลังการมาเยือนของนายซักเคอร์เบิร์ก

รัฐบาลไทย และ คสช.กวาดคะแนนจากคนไทยและต่างประเทศอีกส่วนหนึ่งไปแล้ว

หากพิจารณาว่านายซักเคอร์เบิร์กคือหนึ่งใน “ผู้นำโลกยุคใหม่”

หากพิจารณาว่านายทรัมป์ยังเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งสองของโลก

คำถามคือรัฐบาล และ คสช.มีความสามารถในการแปลงภาพพจน์ที่เป็นบวกนี้ให้เป็น “รูปธรรม” ที่จับต้องได้อย่างไร

การซื้อสินค้าจากสหรัฐ หรือการส่งออกเงินลงทุนไปยังสหรัฐอเมริกา

ยังไม่ใช่ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ของสังคมไทย

เช่นเดียวกับการพบปะหารือกับเจ้าของเฟซบุ๊ก ผ่านแล้วก็จบเลย

จะติดตามมาด้วยการลงทุนสร้าง “ดาต้า เซนเตอร์” หรือศูนย์รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของเฟซบุ๊กขึ้นในเมืองไทยหรือไม่

การลงทุนที่ไม่ใช่แต่ได้รับเงินทุน หรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้เป็นกระดานหก หรือแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากกิจการชั้นนำอื่นๆ ของโลก

ทั้งหมดนี้ยังรอการ ซ.ต.พ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image