ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก’เบญจา’อดีตรมช.คลัง ปฎิบัติหน้าที่มิชอบ ช่วย’โอ๊ค-เอม’เลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ

ภาพจากแฟ้มข่าว

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบ ถนน สีคาม ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดของเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องแผนกคดีทุจริตฯ ในศาลอาญา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม58 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่28กรกฎาคม2559 โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการตอบข้อหารือที่ขัดไปก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรมสรรพากร ซึ่งความผิดสำเร็จตั้งแต่การตอบข้อหารือ โดยจำเลยที่ 5 ซึ่งหารือมายังสำนักกฎหมาย แล้วนำคำหารือไปใช้ประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ต่อมาจำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ3เเสนบาท

Advertisement

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้วเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดฟังไม่ขึ้นส่วนที่อุทธรณ์ขอให้มีการลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่าสภาพความผิดของจำเลยทั้ง5มิได้คำนึงถึงความเสียหายความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีของประเทศ พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายเเรง ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษศาลทุจริตเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อทั้งสองศาลคือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนคดีซึ่งในอัตราโทษจำคุกเท่ากันเดียวกันคดีนั้นไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามฎีกาในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหากจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จะต้องให้ผู้พิพากษาที่ได้ร่วมทำสำนวนหรืออัยการสูงสุดเซ็นรับรอง ซึ่งคล้ายกับกรณีของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง

อย่างไรก็ดีขณะนี้มีรายงานแจ้งว่าทางจำเลยก็กำลังเตรียมที่จะยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นฎีกาด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image