จนท.ป.ป.ช.ลงชื่อใน จม.เปิดผนึก ค้านให้อำนาจผู้ว่าสตง.สอบจนท.ป.ป.ช.

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้ส่งต่อข้อความเป็นจดหมายเปิดผนึกเพื่อให้ร่วมกันลงชื่อเป็นการแสดงข้อคิดเห็นต่อกรณี ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ยกร่างพระราชบัญญัติ สตง.มาตรา 7 วรรค 3 ที่ระบุว่า หากตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯสตง.) มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น แล้วให้แจ้งผลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หากมีมูลความผิดก็ให้คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเกิดปัญหาความขัดแย้งขององค์กรบังคับใช้กฎหมายระหว่าง ป.ป.ช. และ สตง. อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงขั้นตอนการไต่สวนเบื้องต้น แต่อาจเป็นร่างที่มีเนื้อหาขยายขอบเขตหน้าที่อำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 242 และมาตรา 244 กำหนด อีกทั้งยังขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (2) ด้วย

ทั้งนี้ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ โดยเฉพาะในการดำเนินคดีอาญา บุคลากรที่จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดี จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินคดีอาญา ดังนั้น การกำหนดให้ผู้ว่าสตง.เป็นผู้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเฉพาะในหลักประกันในการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวข้องเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในด้านวินัยการเงินและการคลัง มิใช่องค์กรในการดำเนินคดีอาญา และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมิใช่เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีอาญา

ดังนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ปฏิบัติโดยตรง จึงเห็นพ้องกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าร่างพรป.สตง.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาประวิงเวลาซึ่งมีอยู่จำกัดโดยการกลั่นแกล้งกล่าวหาพนักงานไต่สวนไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเห็นควรตัดเนื้อหาของร่างมาตรา 7 วรรค 3 ออกทั้งวรรค

ตามปกติ มาตรการที่ใช้ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้น มีอยู่หลายประการ อาทิ มาตรการทางวัฒนธรรมองค์กร ก็มีบทห้ามไม่ให้เข้าไปมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ไต่สวน หรือสำนวนคดี ตามมาตรา 46 ของกฎหมายป.ป.ช.ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. จะถูกควบคุมด้วยวัฒนธรรมองค์กร เช่น การห้ามรับเลี้ยงหรือยุ่งเกี่ยวกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน

Advertisement

นอกจากนี้ยังมี มาตรการทางมาตรฐานทางจริยธรรม ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมที่ใช้บังคับสำหรับ กรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ลูกจ้างของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งหมด และมาตรการเกี่ยวกับโทษสองเท่า หากพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม ตามมาตรา 125 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ที่มาจากการสรรหา เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในความซื่อสัตย์ สุจริต และเป็นที่ยอมรับของสังคม หากต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน ป.ป.ช. ย่อมเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม และปราศจากอคติ หรือความลำเอียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image