ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง’มหิดล’เลิก’รักษาโรคบวมน้ำเหลือง’

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้องคดีที่นางสมจิต วัชราเกียรติ กับพวกรวม 28 คน ผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองที่เข้ารักษาตามโครงการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองด้วยวิธีภูษาบำบัดและขันชะเนาะ ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ยื่นฟ้องคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีมีประกาศยกเลิกโครงการรักษาดังกล่าว โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ป่วยโรคบวมน้ำเหลืองอีกกว่า 2,000 คนไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้นั้น

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นเคยมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลปกครองสูงสุดก็มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศยกเลิกโครงการดังกล่าว เป็นกรณีที่มีอำนาจกระทำได้ตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล 2550 ประกอบข้อบังคับมหาวิทยาลัยฯว่าด้วยการบริหารงบประมาณและการเงิน 2551

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้คำนึงถึงหลักการจัดทำบริการสาธารณะด้านการรักษาพยาบาลที่รัฐต้องจัดทำให้แก่ประชาชนและไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยที่เป็นผู้ฟ้องคดีที่ไปใช้วิธีการรักษาพยาบาลโดยวิธีอื่นอันเป็นการจำกัดตัดสิทธิของผู้ป่วยนั้น เห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นการบริการทางวิชาการมีวัตถุประสงค์เป็นการวิจัย และการให้บริการตรวจวินิจฉัยและบำบัดโรคบวมน้ำเหลือง จึงไม่ใช่โครงการลักษณะถาวรหรือต่อเนื่องผูกพันการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทราบว่าการรักษาโรคบวมน้ำเหลืองตามวิธีการที่โครงการได้เปิดให้บริการนั้นเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ประกอบกับการคำนึงถึงวิธีการรักษาตามโครงการไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานทางการแพทย์จากแพทย์สภา และในขณะที่พิจารณาออกประกาศยุบเลิกโครงการเป็นช่วงเวลาที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราวของผู้รับผิดชอบโครงการที่เป็นแพทย์ที่ทำการรักษาเพียงคนเดียวจะหมดอายุลง จึงเห็นได้ว่าการออกประกาศยุบเลิกโครงการของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นการใช้ดุลยพินิจตัดสินใจบนพื้นฐานของการจัดทำบริการสาธารณะที่ต้องจัดทำให้เกิดประโยชน์ และผลดีกับประชาชนผู้รับบริการสาธารณะ

นอกจากนี้การรักษาโรคบวมน้ำเหลืองยังมีวิธีอื่นอีกหลายวิธี รวมถึงวิธีการผ่าตัด ซึ่งมีมาตรฐานผ่านการรับรองอย่างถูกต้อง และปลอดภัยจากสถานพยาบาล กรณีจึงไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการรักษา หรือขัดแย้งต่อหลักการจัดทำบริการสาธารณะแต่อย่างใด

Advertisement

นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ให้แก้ในส่วนที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีข้อสังเกตให้คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล แก้ไขประกาศคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลดังกล่าวนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีสามารถพิจารณาดำเนินการเมื่อได้พิจารณารายละเอียดการวินิจฉัยที่ปรากฎในคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นได้อยู่แล้ว จึงมิใช่กรณีที่ศาลจำต้องมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image