ชาวตรังโวยรัฐเกาไม่ถูกที่คัน ปมแก้ทะเลกัดเซาะ เชื่อที่พักนักท่องเที่ยวใกล้ถูกกลืนหายทั้งหลัง ส้วมหายไปแล้ว 1

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน มีความคิดเห็นสวนทาง และเสียงสะท้อนจากชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ไม่เห็นด้วยกับ 2 วิธีแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจังหวัดตรัง ในการใช้วิธีสร้างพนังแบบอ่อน ให้คล้ายธรรมชาติ เพราะเชื่อแบบนี้จะไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นที่รุนแรงขึ้นทุกปีได้อย่างยั่งยืน จึงเรียกร้องแก้วิธีการแบบสร้างพนังเขื่อนถาวร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ที่บริเวณหาดหัวหิน หมู่ 6 ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง หลังจากนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจอมรวย เกลี้ยงช่วย นายก อบต.บ่อหิน ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งริมหาดหัวหิน ต.บ่อหิน อ.สิเกา ยังสรุปไม่ได้ว่าจะใช้วิธีใดในการเข้าไปแก้ไปปัญหาให้ถูกจุด แต่มีการพิจารณาแล้ว 2 แนวทางคือ การก่อสร้างโครงสร้างแข็งในการป้องกัน กับอีกวิธีคือ แนวทางการกำหนดระยะถอยร่น คือ ปล่อยให้คลื่นกัดเซาะ ซึ่งมีชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว อยากจะให้ทางจังหวัดช่วยจัดงบประมาณเร่งด่วนแก้ไขปัญหาน้ำน้ำทะเลกัดเซาะคือถมหินในลักษณะลาดลงไปในทะเล สามารถทนแรงเสียดทานของกระแสคลื่นและยังสามารถรักษาพื้นที่ชายฝั่ง หรือ อาคารที่พักนักท่องเที่ยวให้คงอยู่ได้ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ เพราะถ้าให้รอนานไปกว่านี้น้ำจะกัดเซาะทรัพย์สินเสียหายไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลืออะไร ส่วนตัวอาคารที่น้ำกำลังกัดเซาะเข้าไปใกล้เต็มที หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีไม่นานอาคารหลังดังกล่าวก็จะกลืนหายไปกับทะเล

ส่วนทางด้าน นายจอมรวย เกลี้ยงช่วย นายก อบต.บ่อหิน กล่าวว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาตรวจสอบที่หาดหัวหินโดนน้ำทะเลกัดเซาะนั้นความคิดเห็นค่อนข้างสวนกระแสกับความต้องการของชาวบ้านและชุมชน เพราะธรรมชาติที่นี่ และบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สูง ทางชาวบ้านต้องการให้สร้างพนังแข็งโดยใช้หินทิ้งให้สโลปลาดเอียงไปลงยังชายหาด ใช้เฉพาะที่จำเป็นเร่งด่วนไปก่อนทั้งหมดระยะ 3 กิโลเมตร แต่แก้ไขเร่งด่วนเพียง 250 – 300 เมตร เพราะถ้าไม่รักษาด้วยหินทิ้งที่เขียนแบบไปแล้วมันก็ยับยั้งไม่ได้

Advertisement

สิ่งที่สำคัญที่สุดคืองบประมาณที่ได้ลงไปแล้ว คือ ลานกีฬาประจำหมู่บ้าน ศาลาประจำตำบลบ่อหินที่ชาวบ้านนำไปใช้ งบประมาณหลายบาทอยู่ ถ้าไม่ทำเขื่อนกันคลื่นอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในแต่ละปีมีน้ำกัดเซาะเข้ามาบริเวณกว้าง แต่ปีนี้น้ำกัดเซาะเข้ามา 7-8 เมตร อย่างห้องน้ำ ที่พักของนักท่องเที่ยว ห้องน้ำได้หายไปกับทะเล 1 หลังแล้ว ตอนนี้ที่พักนักท่องเที่ยวกำลังเอนอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นลานกีฬาประจำหมู่บ้าน ตอนนี้เข้ามาใต้ลานกีฬา 3 เมตรแล้ว มองว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีความรุนแรงมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะปีนี้ที่ไปสังเกตดูบ่อย ๆ สิ่งที่ลงทุนไปแล้วไม่ว่าจะเป็น ทางเท้า ตัวหนอนเป็นปูน ลงในทะเลหมดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image