โรดแมป วิบาก จาก พฤศจิกายน 2561 สู่กุมภาพันธ์ 2562

พลันที่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อเส้นทางวิบากของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

อันอาจทำให้ “การเลือกตั้ง” มิได้เป็นไปตาม “โรดแมป”

พลันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมายืนยันว่าหากมี “อุปสรรค” เกิดขึ้นก็มิได้มาจาก “รัฐบาล” หากเป็นเรื่องตาม “กระบวนการ”

เท่ากับ “ยิ้มเห็นแก้ม” ก็เท่ากับ “แย้มเห็นไรฟัน”

Advertisement

แนวโน้มที่การเลือกตั้งอาจไม่ใช่ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 หากแต่อาจ “เลื่อน” ไปยังเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็มีความเป็นไปได้สูง

เข้าทำนอง คนหนึ่ง “ร้อง” อีกคน “รำ”

นั่นหมายความว่า ความคาดหมายจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มากด้วยความแม่นยำ ราวกับมี “ตาทิพย์” มองทะลุ

Advertisement

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มีความเชื่อมายาวนานพอสมควรแล้วว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้งภายในปี 2561 แต่จะเป็นในปี 2562

สมมุติฐานของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มาอย่างไร

1 เขามองและประเมินว่า กระบวนการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำกฎหมายลูกยึดตามกรอบ 240 วัน

นั่นก็คือ กุมเวลาที่ “ช้า” ที่สุด

การนำเอาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาอยู่หลังสุดสะท้อนเจตนาอย่างเด่นชัด

1 เจตนานี้เป็นไปตามบทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว”

คงจำกันได้ว่า หลังประสบวิกฤตศรัทธาจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญถูก “คว่ำ” ในที่ประชุม สปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปออกมาได้เช่นนี้

เมื่อเข้าใจ “เจตนา” ก็อ่าน “พฤติกรรม” ทะลุ

ไม่ว่าบทสรุปอันมาจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ว่าบทสรุปอันมาจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ มิได้มีรากฐานจากการไม่ยอมรับ คสช.

ตรงกันข้าม มากด้วยความเข้าใจและเห็นใจ

เห็นใจในความเสียสละของ คสช.ที่อาสาเข้ามาผ่านกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เข้าใจในความปรารถนา “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

คสช.จึงต้องเข้ามารับงานเองด้วยการทำหน้าที่ “บริหาร” ด้วยการทำหน้าที่ “นิติบัญญัติ” เพื่อวางรากฐานทางการเมืองไม่ให้ “เสียของ” เหมือนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

จึงไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้วจัดการเลือกตั้งแล้วก็อำลาจากไปทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

หากไม่แน่ใจจริงๆ ก็คงไม่จัดการเลือกตั้ง เวลาอยู่ในอำนาจจึงมิใช่ 1 ปีเหมือนยุค คมช. หากจากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งผ่านเดือนพฤษภาคม 2561

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

การแปรเปลี่ยนจาก “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” มาเป็น “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” อาจสร้างความโล่งใจให้กับทางสากล แต่กล่าวสำหรับ คสช.ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

เห็นได้จากท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

และเมื่อ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เสนอแนะและแสดงให้เห็นแนวโน้มอันอาจจะเป็น “อุปสรรค” จึงทำให้ถอนหายใจได้ด้วยความโล่งอก

ยืดไปได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image