กรมอนามัย เปิดโครงการฟันเทียมพระราชทาน 4 หมื่นคนปี 61 ด้านสถาบันทันตกรรมบริการฟรี 300 ราย

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก” เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ  พ.ศ.2560   ว่า วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระมารดาแห่งวงการทันตแพทย์ไทย และเป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ  ปีนี้กรมอนามัยได้ร่วมกับมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) จัดโครงการรณรงค์คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทย กระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากตลอดชีวิตตั้งแต่เด็กไปจนสูงอายุ ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ครั้งที่ 7 ในปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 7.2 ยังคงต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากร้อยละ 2.5 หรือประมาณ 236,000 คน และพบว่าภาคใต้มีการสูญเสียฟันทั้งปากและความต้องการบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากสูงสุด ร้อยละ 11.2 และ 8.8 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นๆ ความต้องการบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากเป็นร้อยละ 2.0 – 4.6

“ที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมกับวิชาชีพทันตกรรมและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เพื่อสนองกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ ความว่า “เวลา ไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ทำให้ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากทั่วประเทศได้รับบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานเพื่อการเคี้ยวอาหารแล้วกว่า 390,000 คน ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างชัดเจนทั้งด้านกายภาพ อารมณ์ สังคม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ให้สิทธิ์ประชาชนได้ใส่ฟันเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมทั้งปากให้กับผู้สูงอายุที่มีต้นทุนประมาณ 6,000 บาทต่อคน โดยในปี 2561 ตั้งเป้าใส่ฟันเทียม 40,000 คน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุดถึงร้อยละ 88 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่ ร้อยละ 37 ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย 7 อันดับ ได้แก่ การสูญเสียฟัน ฟันผุและรากฟันผุ เหงือกอักเสบ ภาวะน้ำลายแห้ง แผลและมะเร็งช่องปาก ฟันสึก และโรคช่องปากที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โดยกรมอนามัยได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนดูแลทำความสะอาดช่องปากและฟันเป็นประจำวัน แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ด้วยสูตร 2 : 2 : 2 คือ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน แปรงฟันให้ทั่วทุกซี่ทุกด้านนาน 2 นาที และไม่รับประทานอาหารหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

วันเดียวกัน  ที่สถาบันทันตกรรม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน“วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2560” ว่า   เนื่องในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีพระเมตตาต่อประชาชน โดยวันที่ 20 ตุลาคม สถาบันทันตกรรม ได้ให้บริการทางทันตกรรมตรวจฟัน อุดฟัน ถอนฟันและขูดหินปูน ให้แก่ผู้ป่วยจำนวน 300 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน นอกจากนี้สถาบันทันตกรรม  ยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยควบคู่ไปในการรักษาจึงได้นำเทคโนโลยีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรมหรือเครื่องเดนตีสแกน 2.0 มาใช้เพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) เป็นผู้ผลิตเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าว และนำมาติดตั้งในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสถาบันทันตกรรมเป็นหน่วยงานนำร่องที่ได้นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image