วันตำรวจ 17 ต.ค. โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

ด้วยความรักอาลัยและจงรักภักดีที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของประชาชนคนไทยไปอีกยาวนาน จากนี้ไปในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกๆ ปี ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของชาติ โดยถือเป็นวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เราคงจะได้เห็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังเช่นที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้

ความที่เดิมที วันที่ 13 ตุลาคมนั้นเป็นวันตำรวจไทย

เพื่อร่วมแสดงความเคารพเทิดทูนต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. จึงมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงวันตำรวจไทย ไปเป็นวันที่ 17 ตุลาคม นับจากนี้ไป

โดยถือเอาฤกษ์วันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2541 มากำหนดเป็นวันตำรวจแทน

Advertisement

กว่าร้อยปีมาแล้วที่กรมตำรวจกำเนิดขึ้น โดยตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม

พร้อมกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่มีมาเรื่อยๆ

สมัยก่อนมีตำแหน่ง “สารวัตรใหญ่” เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโรงพัก มีระดับ “ผู้กำกับฯ” คุมตำรวจทั้งจังหวัด มีระดับ “ผู้การ” คุมตำรวจหลายๆ จังหวัด เรียกว่ากองบังคับการเขตต่างๆ

Advertisement

แต่มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย จนไปๆ มาๆ หมดสิ้นตำแหน่งสารวัตรใหญ่ ในแต่ละสถานีตำรวจมีระดับผู้กำกับฯเป็นหัวหน้าแทน และใน 1 จังหวัด มีระดับผู้การเป็นผู้บังคับบัญชาแทน

โดยการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เป็นที่วิจารณ์กันเฮฮาว่า ยิ่งพัฒนา ตำรวจยิ่งอำนาจหด

ผู้กำกับฯเคยคุมทั้งจังหวัดเหลือแค่โรงพักเดียว ส่วนผู้การเคยคุมทีละ 6-7 จังหวัด กลับเหลือคุมแค่จังหวัดเดียวเท่านั้น

แต่การเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่สุดคือ การยกฐานะจากที่เป็น “กรมตำรวจ” สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เสมือนหน่วยงานอิสระ และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีไปเลย

ทำให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ จาก “อธิบดีกรมตำรวจ” หรือ อ.ตร. กลายเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ ผบ.ตร. 

จากระดับอธิบดี กลายเป็นระดับปลัดกระทรวง

การยกฐานะครั้งนี้เกิดขึ้นสมัย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็น อ.ตร. ทำให้ พล.ต.อ.ประชา เป็นทั้ง อ.ตร.คนสุดท้าย และ ผบ.ตร.คนแรกในประวัติศาสตร์สีกากี

ตอนนั้น พล.ต.อ.ประชาก็ตั้งใจว่าจะให้เสร็จสิ้นมีผลบังคับใช้ให้ตรงกับวันสถาปนากรมตำรวจ 13 ตุลาคมพอดิบพอดี แต่ด้วยขั้นตอนต่างๆ ทำให้ “พระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2541” มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 ตุลาคม 2541

ฤกษ์วันเกิดเคลื่อนไป 4 วัน

แต่ก็ได้เป็นฤกษ์ดีงามที่นำมาใช้รองรับการเปลี่ยนแปลงวันตำรวจไทยในยุค พล.ต.อ.จักรทิพย์พอดี

นอกจากตำรวจไทยจะเปลี่ยนวันตำรวจเป็น 17 ตุลาคมแล้ว ยังอยู่ในช่วงที่กำลังมีการลงมือปฏิรูปอีกด้วย ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปแบบไหนอีกหรือไม่

โดยกระแสการปฏิรูปตำรวจนั้น ต่อเนื่องมาจากกระบวนการล้มรัฐบาลประชาธิปไตย พร้อมกับจุดกระแสปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติ เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลจากการเลือกตั้งปกติได้อยู่ในอำนาจไปยาวนาน เพื่อเหตุผลปฏิรูปบ้านเมืองในด้านต่างๆ แล้วจึงค่อยมีเลือกตั้ง

แล้วตำรวจก็เป็นองค์กรหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่ตกเป็นเป้าจะต้องปฏิรูป เพื่อทำให้เห็นว่าผลการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้สูญเปล่า

ทั้งๆ ที่ตำรวจก็เป็นหน่วยงานที่มีลักษณะประชาธิปไตยสูง ผู้คนในสังคมภายนอกตรวจสอบได้ไม่ยาก มีคลิปแพร่ในออนไลน์คลิปเดียวก็ทำให้ตำรวจถูกสอบสวนกันระนาวแล้ว

แต่ในองค์กรราชการที่มีเกราะป้องกันตัวเองแข็งแกร่ง สังคมไม่เคยแตะต้องได้ กลับไม่เคยมีความพยายามจะเข้าไปปฏิรูปแต่อย่างใด เป็นที่น่าตลกขบขัน จนทำให้กระบวนการปฏิรูปดูไม่น่าจะฝากความหวังอะไรได้

ทั้งลงเอยยังไม่รู้ว่า ปฏิรูปแล้วจะทำให้เดินหน้าหรือยิ่งถดถอยล้าหลัง ในด้านการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ดูแลทุกข์สุขประชาชน

……………..

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image