อาศรม มิวสิก โดย:สุกรี เจริญสุข โฟมและฟอน สองพี่น้องที่คลองเตย

โฟม-ธัญลักษณ์ ธงทวัฒน์ เล่นวิโอลา และฟอน-ธิติวุฒิ ธงทวัฒน์ เล่นไวโอลิน
การเล่นดนตรีร่วมกันของวงดนตรีเด็กเยาวชนจากยะลาและวงดนตรีจากชุมชนคลองเตย

ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2650 วงดนตรีเด็กเยาวชนจากยะลาและวงดนตรีจากชุมชนคลองเตยได้ไปเข้าค่ายเรียนดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านได้ให้ความอนุเคราะห์ ให้ค่าเดินทาง ค่าขนม ค่าอาหาร ทำให้วงดนตรีเด็กทั้ง 2 วงได้พบกัน แต่เดิมนั้นตั้งใจกันว่าจะเข้าค่ายแล้วเล่นให้ผู้ใหญ่ที่ใจดีทั้งหลายฟัง ผู้ใหญ่ก็คือผู้ใหญ่มีงานมากจึงเหลือแต่กำนันนั่งฟังกัน

ทั้งวงดนตรีเด็กเยาวชนจากยะลาและวงดนตรีจากชุมชนคลองเตยต่างก็มีกิจกรรมดนตรีเข้าค่าย ไปฟังดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กันมาก่อน เพียงแต่ไม่เคยเข้าค่ายร่วมกัน ทั้ง 2 วงต่างก็ใช้ดนตรีในการแก้ปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม ดนตรีเป็นตัวกลางที่เด็กทั้ง 2 วงต่างก็ใช้เป็นหุ้นส่วนของชีวิต เป็นมิตรได้ทุกเวลา และดนตรีก็เป็นสื่อที่จะชักจูงให้คนได้รู้จักพวกเขา

ในครอบครัวทั่วไป เด็กไทยมีโอกาสที่จะเล่นดนตรีได้น้อย ไม่มีเวลา พ่อแม่ไม่สนับสนุน หรือหากว่าพ่อแม่ให้การสนับสนุนแล้ว แม้ลูกมีฝีมือสักหน่อยก็มักจะไปได้ไม่ไกล เพราะว่าเก่งเกินความเป็นจริง เก่งเกินฝีมือ คนรอบข้างกองเชียร์ทั้งหลายก็ยกเด็กให้เก่งจนเลิศเลอ เมื่อความสามารถเข้าสู่ชีวิตปกติแล้ว ก็ไม่มีใครเอาด้วย เด็กก็เสียคนไปเพราะพ่อแม่เข้าใจว่าลูกเก่งมาก เก่งกว่าลูกของใคร ยกยอปอปั้นจนเสียคน เป็นชาล้นถ้วย

มีพี่น้อง 2 คนที่วงคลองเตย พ่อนั้นเสียชีวิตไปแล้วด้วยอุบัติเหตุ แม่ทำงานที่สถานเลี้ยงเด็กในคลองเตย ลูกสาวคนโตชื่อ ธัญลักษณ์ ธงทวัฒน์ (โฟม) เล่นวิโอลา โฟมเกิดวันที่ 29 ธันวาคม 2542 อายุ 17 ปี เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่อายุประมาณ 5 ขวบ เดิมนั้นเล่นไวโอลิน แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วเพิ่งเปลี่ยนมาเล่นวิโอลา เนื่องจากในวงขาดคนเล่นวิโอลา เพราะไม่มีใครสมัครใจอยากเล่น หัวหน้าวง อาจารย์วรินทร์ อาจวิไล (กล้วย) เห็นว่าโฟมมีฝีมือดีก็ขอให้เปลี่ยนไปช่วยเล่นวิโอลาแทน จึงได้ขอให้ย้ายเครื่องมือ ซึ่งโฟมเองก็ไม่ได้อยากเล่นวิโอลา แต่พอย้ายมาเล่นสักพักหนึ่งก็ชอบและสามารถเล่นได้ดี ปัจจุบันเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทคนิคบริหารธุรกิจกรุงเทพ

Advertisement

โฟมต้องฝึกการเล่นวิโอลามากขึ้น เนื่องจากวิโอลาโตกว่าไวโอลิน และยังไม่คุ้นนัก ตั้งแต่การสี การจับคันชัก เล่นวิโอลาหนักกว่าไวโอลินทำให้การจับไม่สบายเท่าไวโอลิน โฟมพยายามฝึกซ้อมเพื่อให้วิโอลาเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเครื่องมือคู่ชีวิตให้ได้

ธิติวุฒิ ธงทวัฒน์ (ฟอน) เล่นไวโอลิน เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 อายุ 10 ขวบ เรียนที่โรงเรียนสายน้ำทิพย์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ฟอนเริ่มจากการติดตามพี่สาว (โฟม) มานั่งดูพี่เล่นดนตรี ครูกล้วยก็เลยจับให้เล่นไวโอลินเลยตั้งแต่แรก ตอนอนุบาล 2 “ตอนเริ่มมาเล่นก็ยาก แต่หลังๆ ไม่ยาก” เห็นพี่เล่นมาตลอด ก็เลยอยากเล่นด้วย คุณแม่ให้การสนับสนุนการเรียนดนตรีอย่างเต็มที่ เพราะที่โรงเรียนดนตรีนี้ก็เหมือนเป็นบ้านที่สองของพี่น้องทั้ง 2 คน หลังเลิกเรียนก็จะมาซ้อมดนตรี มาเล่นดนตรีอยู่ในวงกับเพื่อนๆ และพี่ๆ ใช้โรงเรียนอิมมานูเอล (โบสถ์) ที่คลองเตย เป็นบ้าน

ครูกล้วยให้ข้อมูลว่า ฟอนเป็นเด็กที่มีพัฒนาการมากขึ้นกว่าตอนแรกที่เรียน อยากพัฒนาตัวเองในด้านการอ่านโน้ต อยากอ่านโน้ตเร็วๆ คล่องๆ ตัวฟอนเองอ่านโน้ตได้ แต่ยังไม่คล่อง ยังไม่เร็ว เวลาเปลี่ยนตำแหน่งมือในการสีไวโอลินจะยังไม่คล่องว่าควรใช้นิ้วอะไร ก็จะกระโดดกลับไปใช้นิ้วที่เคยเล่น

Advertisement

สองพี่น้องใช้เวลาซ้อมหลังเลิกเรียน รวมทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วย ซ้อมดนตรีทุกวัน เด็กนักดนตรีในวงคลองเตยไม่ได้จำกัดอายุ ซึ่งตอนนี้วงมี 3 ระดับ คือ วงที่เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ วงที่อ่านโน้ตได้พอสมควร และวงระดับที่ออกไปเล่นในงานต่างๆ ได้ เด็กสามารถเล่นเพลงระดับทั่วๆ ไปได้ อ่านโน้ตได้ เล่นร่วมกับคนอื่นได้ ซึ่งการจัดนักดนตรีเข้ากลุ่มแต่ละกลุ่มนั้น ไม่ได้คำนึงถึงอายุ แต่จะคัดจากฝีมือว่าแต่ละคนเหมาะหรือพร้อมหรือยังที่จะเข้าวงนี้ เพราะแต่ละวงจะเป็นการพัฒนาตั้งแต่วงยังเล่นที่ไม่เป็นเพลง มาสู่วงใหญ่ที่เล่นออกงานได้

โฟมกับฟอนเล่นอยู่ในวงใหญ่ ฟอนคนน้องเพิ่งจะเริ่มเข้ามาในวง อายุน้อยที่สุดในวงใหญ่ เวลานั่งในวงก็จะให้นั่งกับรุ่นพี่ เพื่อเรียนรู้ทักษะการเล่นจากพี่ๆ แม้ว่าจะเล่นเพลงไม่ได้ทั้งหมด แต่การที่ได้มานั่งด้วยกันกับรุ่นพี่ ฟอนก็จะได้ซึมซับทักษะการเล่นต่างๆ ทำให้อ่านโน้ตได้คล่องขึ้นด้วย

จริงๆ แล้ว สำหรับวงใหญ่นั้น ครูกล้วยอยากให้เด็กได้เล่นเองทั้งหมด แต่เนื่องจากเด็กจะต้องค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอ จึงต้องชวนเพื่อนๆ ที่จบจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาช่วยด้วย หรือเพื่อนนักดนตรีข้างนอกมาช่วยกันเล่น ให้มานั่งข้างๆ เด็ก เด็กก็จะได้รู้ว่าพวกพี่ๆ ที่เป็นมืออาชีพเขาเล่นกันอย่างไร เป็นตัวอย่างให้เด็กได้เรียนรู้ด้วย

ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม- 3 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โฟมและฟอนทั้งสองคนได้รับการคัดเลือกให้ไปเล่นร่วมกับวงดนตรีเด็กที่ประเทศนอร์เวย์ (Kristiansand Symphony Orchestra) ในการคัดเลือกเด็กๆ ไปเล่นนั้น คณะครูทางนอร์เวย์เป็นคนเลือกเอง โดยมีนักดนตรี 5 คนจากนอร์เวย์เดินทางมาประเทศไทย ที่คลองเตย มาซ้อมมาเล่นดนตรีร่วมกับเด็กในวง นักดนตรีทั้ง 5 คนนี้ได้แยกเป็นตัวแทนไปอยู่ในแต่ละเครื่องดนตรี ซึ่งเขาจะได้สัมผัสเองว่าเด็กแต่ละคนเล่นเป็นอย่างไร เมื่อได้มาซ้อมกับวงแล้ว เขาก็เห็นศักยภาพของเด็กแต่ละคน ครูกล้วยเป็นคนเลือกโฟมให้ไปเล่น แต่สำหรับฟอนนั้น ทางนอร์เวย์เป็นคนเลือกเอง

ในการเดินทางไปนอร์เวย์ ได้เล่นหลายเพลง รวมทั้งเพลงไทยด้วย เพลงไทยนั้นก็เอาโน้ตไปให้ทางนอร์เวย์ ได้มีโอกาสซ้อมร่วมกัน 3 ครั้ง ความจริงก็ได้ซ้อมล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ได้แสดงในระยะเวลา 2 อาทิตย์ ทางวงที่นอร์เวย์ก็จะมีการกำหนดช่วงเวลาซ้อมเอาไว้ ได้ไปแสดงหลายสถานที่ ได้แสดงครั้งใหญ่ที่เดียวคือ ที่หอแสดงในเมืองคริสเตียนแซนด์ (Kristiansand)

โฟมได้เล่นวิโอลาร่วมอยู่ในวง (Kristiansand Symphony Orchestra) โดยมีฟอนได้เล่นหน้าวง เป็นหนึ่งในสี่คนที่ได้แสดงเดี่ยวไวโอลิน ซึ่งมีครูกล้วย คนนอร์เวย์ ฟอน และคนนอร์เวย์ ยืนสลับกัน เพลงที่ฟอนได้ร่วมแสดงเดี่ยว คือเพลงของวิวาลดี (Vivaldi: Concerto for 4 violins) ซึ่งฟอนก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นเลยกับการแสดงเดี่ยวต่อหน้าคนเกือบ 1,000 คน

ครูกล้วยเล่าว่า “เป็นภาพความทรงจำที่ดีมาก เพราะสำหรับผมเอง ผมเป็นนักดนตรี ก็จะมีความตื่นเต้น ประหม่ามาก มีความคิดหลายอย่างในหัว คิดเยอะ เราเห็นคนดูมากมาย แต่สำหรับเด็กอย่างฟอน ทุกอย่างออกมาเป็นธรรมชาติมากๆ ดูไม่ตื่นเต้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาได้เรียนมา เขาเอาออกมาใช้หมด ผมยังแปลกใจเลยว่า ฟอนไม่ตื่นเต้นเลยหรือ”

“จากการแสดงครั้งนั้น ผลตอบรับดีมาก คนนอร์เวย์เอง จากที่เคยมาโรงเรียนแค่ 2 อาทิตย์ แต่ตอนนี้อยากจะมาทั้งเดือนเลย เพื่อมาช่วยเหลือที่โรงเรียน มาช่วยให้น้องๆ ได้เล่นดีขึ้น เขาอยากจะมาแต่เขาก็ยังต้องหางบประมาณอยู่ เพราะสำหรับนักดนตรีที่เมืองนั้น เวลาจะมาแต่ละครั้งก็จะต้องลางาน และต้องจ่ายเงินมาเอง ผมก็เพิ่งรู้ว่า ตอนที่เราไป ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เขาออกให้เราทั้งหมด เป็นเงินเดือนของทุกคนในวงที่ร่วมกันแบ่ง หักมาเพื่อให้เรา”

โฟมบอกว่าดีใจที่ได้ไปนอร์เวย์ “ได้เล่นกับนักดนตรีระดับมืออาชีพค่ะ” ส่วนฟอนนั้น “ได้เพื่อนใหม่ครับ” ฟอนกล้าที่จะวิ่งเข้าไปคุยกับเพื่อนใหม่ กล้าคุยกับเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกนักดนตรีในวงนอร์เวย์โฟมกับฟอนไม่ต้องกลัวว่าใครจะว่าเก่งกว่าคนอื่น เพราะพ่อก็เสียไปแล้ว แม่ก็ต้องทำงานเลี้ยงลูก 2 คน ส่วนโฟมกับฟอนก็ต้องพัฒนาดนตรีให้เก่งเท่านั้น เพราะชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก แต่เมื่อเล่นดนตรีเก่งขึ้น ก็มีเพื่อน มีวงดนตรี มีขนม มีอาหารกิน และที่สำคัญก็คือ ดนตรีได้สร้างโอกาสให้มีโอกาสมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image