คอลัมน์ โลกสองวัย : ลองวีคเอนด์กับมหกรรมหนังสือ

เริ่มแล้วตั้งแต่วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560 มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 สองวันที่ผ่านมา วันนี้เป็นวันที่สาม พรุ่งนี้เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เรียกว่า “long weekend” เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ “วันปิยมหาราช” 23 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เสด็จสู่สวรรคาลัย

23 ตุลาคม พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าต่างนำพวงมาลาไปกราบถวายบังคมสมเด็จพระปิยมหาราช ณ ลานพระราชวังดุสิต ภาพที่ประทับใจคนไทยมานาน คือภาพนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับพันคนเรียงแถวตั้งแต่หน้าพระบรมรูปยาวไปทางถนนราชดำเนินนอก

หลังจากนำพวงมาลาไปถวายหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แล้ว นิสิตจุฬาฯ เหล่านั้น ต่างนั่งเข่ากราบถวายบังคม 3 ครั้งลงกับพื้นถนนเป็นที่ซาบซึ้งของผู้ที่ไปร่วมถวายบังคม ณ ที่นั้น และภาพถ่ายทอดผ่านข่าวโทรทัศน์ ภาพข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น

หลังครบกำหนดเปิดพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทให้พสกนิกรเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 5 ตุลาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน เพื่อให้ประชาชนร่วมถวายพวงมาลัยดอกไม้สดครบรอบ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมโดยเปิดให้สักการะตลอด 24 ชั่วโมง เว้นวันที่ 15, 21, 22 ตุลาคมด้วยมีการซ้อมริ้วขบวน

Advertisement

เส้นทางเข้าไปถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง 2 เส้นทาง คือเดินจากด้านหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปทางถนนอัษฎางค์ เลี้ยวขวาข้ามสะพานหลังศาลหลักเมือง ผ่านจุดคัดกรอง เดินต่อเข้าสู่ถนนหน้าพระลาน

อีกเส้นทางหนึ่ง ทางเรือที่ท่าโรงพยาบาลศิริราช ข้ามฟากขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง ผ่านจุดคัดกรองหน้าทางเข้าออกท่าเรือท่าช้าง เข้าถนนหน้าพระลาน ทั้งสองเส้นทางต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน

สองเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่จะเข้าสู่บริเวณพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ

Advertisement

วันที่ 21, 22 ตุลาคม มีการซ้อมใหญ่เริ่มขบวน ผู้ที่ต้องการไปจับจองที่นั่งชมริ้วขบวน เจ้าหน้าที่เปิดให้ผ่านเข้าไปตั้งแต่เวลา 05.00 น. รายละเอียดโปรดติดตามต่อไปวันต่อวัน

สุดสัปดาห์นี้ หยุดยาว 3 วัน น้องหนูควรหาเวลาไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ 10.00-21.00 น. แนวความคิดของมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งนี้ คือ “ความทรงจำ” น้องหนูจะได้พบกับหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำจำนวนมาก โดยเฉพาะหนังสือความทรงจำพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่พระราชนิพนธ์ “จากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์” และพระราชนิพนธ์เรื่องต่อมาของพระองค์

อาทิ นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก ทองแดง และอีกหลายเล่ม รวมถึงหนังสือของแต่ละสำนักพิมพ์นำเสนอเรื่องของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งหนังสือเก่า และหนังสือใหม่ หนังสือที่เกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพของสำนักพิมพ์มติชน

เล่มหนึ่งจากสำนักพิมพ์นาตาแฮก “งานศพยุคแรกอุษาคเนย์” สุจิตต์ วงษ์เทศ ปรับปรุงเพิ่มเติมจากหนังสือ “พระเมรุ ทำไม? มาจากไหน?” (กระทรวงวัฒนธรรมพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2551) บอกว่า

“งานศพ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ นับแต่มนุษย์รู้จักความตายหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว จึงพบหลักฐานหลากหลายในโลกที่เกี่ยวข้องความตาย”

หนังสือเล่มนี้ “งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์” ทำให้ทราบถึง ทุ่งพระเมรุ ก่อนเป็น “สนามหลวง” สร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระศพ มีความเป็นมาอย่างไร

สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าไว้ในปกหลัง “งานศพยุคดั้งเดิม เชื่อว่าคนตาย เพราะขวัญหาย ต้องแต่งตัวสีสันฉูดฉาด แล้วมีมหรสพอึกทึกครึกโครม เพื่อเรียกขวัญคืนร่างคนตายสู่ปกติ” – ราคา 220 บาท หาซื้อได้ในงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image