ธรรมัสสวนะสามัคคี ธรรมะ ถวายพระราชา ประเพณีหนึ่งเดียวเมืองดอกบัว

บรรยากาศบนวิหารประดิษฐานพระบทม์ ที่วัดกลาง จังหวัดอุบลราชธานี คลาคล่ำไปด้วยอุบาสกอุบาสิกา

…มากมายหนาแน่นกว่าวันพระปกติ แม้จะเป็นวันแรม 5 ค่ำ (เดือน 10) ก็ตาม เพราะวันนี้คิวของวัดกลางเป็นเจ้าภาพ “เทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี” ประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานถึง 62 ปีแล้ว และมีเพียงที่นี่ที่เดียวเท่านั้น ที่ จังหวัดอุบลราชธานี

นอกเหนือจากการเทศน์ในทุกวันพระแล้ว ทุกปีในช่วงเข้าพรรษา วัดในจังหวัดอุบลราชธานีทั้ง 23 วัด ไม่ว่าจะเป็นมหานิกาย หรือธรรมยุต จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศน์สามัคคีตลอด 3 เดือน โดยเจ้าอาวาสของวัดนั้นๆ จะเป็นผู้ขึ้นแสดงธรรม เริ่มต้นที่วัดมณีวนาราม ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย และปิดท้ายการเทศน์วัดสุดท้ายที่วัดฝ่ายธรรมยุต คือสุปัฏนาราม

ที่น่าสนใจคือ อุบาสกอุบาสิกาลูกวัด จะเวียนกันตามไปฟังเทศน์ฟังธรรมกระทั่งครบวัดสุดท้าย เป็นการแสดงถึงพลังความสามัคคี พลังแห่งศรัทธาในธรรมะของพระพุทธองค์โดยแท้

Advertisement

 

หนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก

ที่มาของประเพณีดังกล่าว พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการจัดงานธรรมัสสวนะสามัคคี เล่าว่า ยุคนั้นพระเถระผู้ใหญ่มีความคิดร่วมกับญาติโยม ทายกตามคุ้มวัดต่างๆ เป็นหลัก ปรึกษาหารือกันว่า ในหลวงท่านโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเมืองอุบล น่าจะคิดอ่านหาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุบล

“พูดกันมาแต่ก่อนแล้วว่าคนเมืองอุบลเป็นเมืองปราชญ์ เป็นนักปราชญ์เพราะอะไร ก็เกิดจากการฟังธรรม ฟังเทศน์ จากพระพุทธศาสนา ท่านเหล่านั้นก็คิดรวบรวมกัน ได้ 4 วัดเป็นเริ่มต้น แล้วก็มีการขยายมาเรื่อยๆ นี่ก็คือจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จัก”

Advertisement

ประจวบกับในห้วงเวลานั้น พื้นที่แถบอีสานมีปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ “ธรรมะ” จึงเป็นอุบายที่จะน้อมนำจิตใจชาวบ้านกลับคืนมา และเป็นหลักใจให้กับประชาชนในพื้นที่

ในหนังสือ “ประวัติธรรมัสสวนะสามัคคี จังหวัดอุบลราชธานี” จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงานธรรมัสสวนะสามัคคี เมื่อปี 2540 บันทึกว่า…

ปี 2498 ทางจังหวัดอุบลราชธานี รับนโยบายมาจากส่วนกลาง หาวิธีการที่จะป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ โดยมอบหมายให้วัดในเมืองอุบลฯ เทศน์สั่งสอนประชาชน จึงเชิญมัคทายกจากวัดต่างๆ ไปประชุมร่วมกันที่วัดมณีวนาราม ซึ่งมีพระเมธีรัตโนบล (กิ่ง มหปฺผลเถระ-สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ พระธรรมเสนานี) เจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นประธาน แล้วที่ประชุมมีมติว่า ให้มีการเทศน์ระหว่างเข้าพรรษา รวมทั้งพระเทพบัณฑิต (ญาณชาโล ญาณคาโรจน์-สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ พระธรรมบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหารสมัยนั้น ก็เห็นชอบกับการจัดเทศน์ด้วย

ในปีแรกที่จัดเทศน์ เมื่อปี 2498 นั้น มีเพียง 4 วัดในตัวเมืองอุบลราชธานี ที่เข้าร่วม คือ 1.วัดมณีวนาราม 2.วัดสุปัฏนารามวรวิหาร 3.วัดทุ่งศรีเมือง 4.วัดสุทัศนาราม ซึ่งในปีแรกๆ ที่จัดนั้น นอกจากคณะสงฆ์แล้ว ยังมีพ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี มัคทายกวัดทุ่งศรีเมือง และเทศบาลในขณะนั้นเข้ามาร่วมจัดการด้วย

จนปี 2499 มีวัดต่างๆ ขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จากเดิม 4 วัด เป็น 18 วัด จนถึงปี 2500 เป็นปีที่ฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ทางคณะธรรมสวนะสามัคคี จึงเสนอแนวทางในการจัดงานนี้อย่างเป็นระบบมากขึ้นโดยเพิ่มเป็น 21 วัด และปัจจุบันเพิ่มเป็นทั้งสิ้น 23 วัด

สามัคคี 2 นิกาย

ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า เทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี เมื่อแรกเริ่มเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ 4 วัด โดย 2 วัดเป็นวัดมหานิกาย และอีก 2 วัดเป็นวัดธรรมยุต ที่มาของประเด็นนี้เกิดจากความคิดของ พ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี มัคทายกวัดทุ่งศรีเมือง ที่เห็นการไม่ลงรอยกันระหว่างสองนิกายในช่วงนั้น จึงวิ่งเต้นประสานงานพระผู้ใหญ่ทั้งสองนิกาย แล้วมาร่วมจัดโครงการนี้ขึ้น

พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ย้อนความหลังว่า…

พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี

“แต่ยุคเดิมที่เกี่ยวกับเรื่องการพระศาสนาก็เป็นเรื่องเก่า ไม่อยากจะกล่าวถึงว่าความขัดแย้งมันก็เคยเกิด เคยมี ความขัดแย้งระหว่างนิกายก็ได้มีการบันทึกไว้ เช่น เรื่องการเดินสวนกันระหว่างทางบิณฑบาตรของ 2 นิกาย วัดแต่ละคุ้มไม่พอใจกันก็โยนบาตรใส่กันก็มี

จากนั้นตั้งแต่มีสิ่งเหล่านี้ได้มาเชื่อม สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ขาดหายไป กลับกลายเป็นความสมานสามัคคีเกิดขึ้นมาแทน แต่ลึกๆ จะยังมีอยู่หรือไม่เราไม่รู้ สิ่งที่แสดงออกมาภายนอกนั้นมันงดงาม แต่ว่ากิเลสในจิตใจของใครก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง น้ำขุ่นเอาไว้ข้างใน น้ำใสเอาออกมาข้างนอก ไม่นำมาแสดงออก นี่คือเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี”

ขณะที่ ผศ.สุระ อุณวงศ์ อดีตอาจารย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติธรรมัสสวนะสามัคคีอุบลราชธานี พิมพ์เมื่อปี 2554 ไว้ว่า

“อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น คือ พ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี ท่านได้เห็นความแตกแยกระหว่าง 2 พระนิกาย ถึงขั้นรุนแรงท่านจึงได้วิ่งเต้นประสานระหว่างพระผู้ใหญ่ 2 นิกาย ให้เข้าใจกันแล้วมาร่วมกันจัดโครงการนี้ขึ้น จึงเห็นว่า พ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี ได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไว้ด้วย ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้อีกท่านหนึ่ง”

สัมพันธ์แนบแน่น วัด-บ้าน

แน่นอน สิ่งแรกที่เห็นๆ คือ ได้ฟังธรรมะ ที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ที่ร้อนรุ่มก็เย็นลง มีสติ และสามารถเห็นปัญหาแก้สิ่งที่คั่งค้างในใจได้เป็นเปลาะๆ

เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า การที่เจ้าอาวาสของแต่ละวัดได้ขึ้นเทศน์นั้น การเทศน์ดีหรือไม่ดีไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ต้องขึ้นเทศน์ เพราะนี่เป็นโอกาสที่อุบาสกอุบาสิกาจะได้ใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่ ผ่านการฟังเทศน์ฟังธรรม

“สิ่งที่เราจะทำในเทศน์ธรรมัสวนะสามัคคีนี้ได้คืออะไร มันเป็นการเผยแผ่ ปลุกกระแส แถมยังได้เป็นการดำเนินรอยตามมันสมองของพระบูรพาจารย์ทั้งหลายของเรา” และว่า

ที่สำคัญ “เป็นโอกาสในการบอกถึงทิศทางของการพัฒนาวัดแต่ละวัด ตัวอย่าง ท่านเจ้าอาวาสวัดเลียบ ท่านเจ้าคุณพระครูอุบลคุณาภรณ์ ท่านจะทำอะไร จะเล่าให้โยมฟังก่อน นี่ล่ะคือสิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายในการเชื่อมโยงระหว่าง วัด กับชาวบ้าน

“เป็นการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ต่อกันและกัน ซึ่งตามปกติเรามีฮีตกันอยู่แล้ว ฮีต 12 ทุกทีเราจะมีประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานบุญ แต่ว่าท่านเสริมตรงนี้ ให้โยมคุ้มวัดนี้ได้ไปคุ้มวัดนั้นให้วัดนั้นได้มาวัดนี้ จะได้เป็นการสานสัมพันธ์สานสามัคคีกัน”

คือวัคซีนการครองชีวิต

ทางด้าน พระครูอุบลคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่า หลังจากที่ชาวบ้านมาฟังเทศน์ ได้นำเรื่องราวที่ได้รับฟังไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

พระครูอุบลคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

“คนที่เข้ามาฟังเทศน์ มีหลายรูปแบบ บางคนเข้ามาฟังเพื่อนำไปปฏิบัติก็มี บางคนเข้ามาฟังเพื่อให้รู้ว่ามาครบทั้ง 23 วัด ก็มีอีกจำพวกนึง มาเพื่อรับรู้ยอดเงินบริจาคของแต่ละวัดก็มี แม้กระทั่งการเข้ามาเพื่อรับอาหารจากโรงทานเพียงอย่างเดียวก็มี แต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนที่อายุน้อยๆ เข้ามาฟังมากขึ้น เช่น วัยรุ่นหลายๆ คน ที่มีปัญหาก็เข้ามาฟังเทศน์เพื่อหาปัญญาไปแก้ปัญหา มาปรับใจจากร้อนให้เป็นเย็น

ในการเทศน์แต่ละครั้ง ก็มีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย คนสมัยนี้หาที่พึ่งทางใจไม่ค่อยได้ ในการเทศน์โครงการนี้ช่วยคนเหล่านี้ได้เยอะขึ้น บางคนคิดว่าการเข้าวัด ไหว้พระ สวดมนต์ ก็ได้บุญแล้ว”

และว่า ปัจจุบันชาวบ้านให้ความสนใจกันมากขึ้น ทุกวันพระวัดต่างๆ ก็มีกิจทำบุญเป็นปกติอยู่แล้ว ตามพิธีต่างๆ ใครอยู่คุ้มวัดไหนก็จะไปคุ้มวัดนั้น แต่การเทศน์สามัคคีชาวบ้านก็ไม่เลือกวัด จะไปฟังให้ครบทุกวัด รวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่นพอสมควร ซึ่งทุกวันนี้ตามหัวเมืองรอบนอกของจังหวัดอุบลก็เริ่มมีการจัดเทศน์เช่นกัน แต่จะพยายามไม่ให้วันและเวลาตรงกันกับรอบใน หากครั้งใดเกิดเหตุหรือภัยธรรมชาติจนชาวบ้านไม่สามารถมาร่วมฟังเทศน์และร่วมทำบุญได้ จะไม่มีการยกเลิกการเทศน์ใดๆ ทั้งสิ้น

“อยากให้วัดต่างๆ จังหวัดอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติ เพราะเป็นเรื่องที่ดี เรื่องที่น่าส่งเสริม หากไม่สามารถทำได้ตลอดพรรษา ก็ทำเพียง 7 วัน ก็ได้ ทุกครั้งที่ชาวบ้านมาวัดเลียบ อาตมาจะสอนให้รู้จักในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ให้มีสติครองตน จะไม่สอนให้ไปนิพพาน อยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด

ดังนั้น การเทศน์สามัคคี ก็ถือได้ว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหันหน้าเข้าวัดฟังธรรม นุ่งขาว ห่มขาว เมื่อเทศน์จบ คนแยกย้ายกันกลับบ้าน ก็มีความรู้สึกสบายกลับไป”

อุบาสิการุ่นใหญ่จัดดอกไม้ถวาย
ชาวบ้านที่มาร่วมจัดดอกไม้ถวายพระ ที่งานเทศน์สามัคคี วัดกลาง จ.อุบลราชธานี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image